มะเร็งหนึ่งในสองอันดับแรกที่ผู้หญิงเป็นมากที่สุด และคร่าชีวิตหญิงไทยในอัตราที่สูงเฉลี่ยอยู่ประมาณ 14 คนต่อวันในแต่ละปีคือ "มะเร็งปากมดลูก" นอกจากเป็นสาเหตุให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิต ยังเป็นโรคที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตทั้งทางกายทางใจของผู้ป่วย และครอบครัวเป็นอย่างมากแม้รอดชีวิตมาได้ก็ตาม ในวันนี้ความหวังของผู้หญิงที่จะหายจากโรคมะเร็งปากมดลูกมีมากขึ้น เพราะ "ศูนย์วิจัยทางการแพทย์ศิริราช" ภายใต้สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช รพ.ศิริราช กำลังวิจัยการใช้เทคโนโลยีนาโนในการรักษามะเร็งปากมดลูก
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เผยว่า การวิจัยเรื่องการรักษามะเร็งปากมดลูกเป็นหนึ่งในงานวิจัยเชิงลึกที่ศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราชกำลังทำอยู่ มะเร็งเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่คร่าชีวิตคนไทย ดังนั้นการวิจัยในเรื่องนี้แม้มีต้นทุนที่สูงมากแต่สิ่งที่ได้กลับมาเรียกว่าเกินคุ้ม การใช้เทคโนโลยีนาโนเป็นหนึ่งในการรักษาแบบทาร์เกท เธอราพี (Target Therapy) หรือการรักษาแบบพุ่งเป้า สำหรับการวิจัยเรื่องการรักษามะเร็งปากมดลูกโดยใช้เทคโนโลยีนาโน จะใช้อนุภาคนาโนเข้าไปจับเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะทำให้สามารถฆ่าเฉพาะ เซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำคีโมหรือการผ่าตัดนั้นเป็นการทำลายเนื้อเยื่อทั้งดีและไม่ดีไปพร้อมกัน แม้ให้ผลดีแต่ร่างกายผู้ป่วยจะอ่อนแอลง ถ้าใช้เทคโนโลยีสามารถเลือกทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งเฉพาะจุดได้ ผู้ป่วยก็จะได้ประโยชน์ โอกาสที่จะหาย ฟื้นตัวได้เร็วมีมากกว่า
"ที่ผ่านมาศิริราชดำเนินการวิจัยเรื่องเกี่ยวกับมะเร็งมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นโรคที่มีความรุนแรงการหาทางรักษาที่มีประสิทธิภาพจะให้ความคุ้มค่าและช่วยรักษาชีวิตคนได้เป็นจำนวนมาก สำหรับมะเร็งปากมดลูกทีมวิจัยศิริราชได้พัฒนาน้ำยาที่ใช้ในการคัดกรองหาเซลล์มะเร็งปากมดลูก ที่บริเวณปากมดลูกได้อย่างแม่นยำ ต้นทุนต่ำ ทุกคนสามารถใช้ได้ นอกจากนี้ทีมวิจัยศิริราชยังได้รับความไว้วางใจจากดับบลิวเอชโอในการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในคนไทย ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ของโลกที่ได้รับการป้องกันด้วยวัคซีน อย่างไรก็ดีแม้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่มีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่สูงอยู่ถึงปีละประมาณ 10,000 รายทั่วประเทศ"
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ล่าสุดทีมวิจัยศิริราชประสบความสำเร็จในการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกโดยสามารถรักษามดลูกเอาไว้ได้ ไม่ต้องตัดทิ้งทั้งหมดแบบเดิม ทำให้ผู้หญิงส่วนหนึ่งยังมีความรู้สึกในความเป็นผู้หญิง และบางคนยังสามารถมีลูกได้ ซึ่งนอกจากช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตและชีวิตครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง พบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้รับผลกระทบมากในเรื่องชีวิตครอบครัว และการรักษาแบบมาตรฐานต้องตัดมดลูกทิ้ง ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความเป็นเพศหญิง ไม่มีประจำเดือน ไม่สามารถมีบุตรได้ หลายรายประสบปัญหาหย่าร้างในภายหลัง ศิริราชจึงได้คิดค้นพัฒนาการรักษาแบบใหม่ที่ใช้กล้องช่วยผ่าตัด ซึ่งนอกจากทำให้มีแผลเล็ก เจ็บน้อยและฟื้นตัวได้เร็วแล้ว ผู้ป่วยยังมีโอกาสหายขาดได้ถึงร้อยละ 90-95 รวมทั้งกลับมามีบุตร มีชีวิตครอบครัวได้ตามปกติอีกด้วย
ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ 6 มิถุนายน 2555
- 73 views