สธ.เตรียมประชาพิจารณ์ สภาวิชาชีพฯ เรื่องร่างรูปแบบการจ้างงานบุคลากรสาธารณสุข เล็งยกระดับจากลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักกระทรวงฯ แย้มเงื่อนไขดีกว่าช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต

นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางด้านสาธารณสุขว่า จากปัญหาดังกล่าว สธ.ได้แก้ไขโดยเสนอเสนอปัญหาไปยังสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อขอให้เปิดบรรจุเพิ่มเติมในตำแหน่งข้าราชการนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ก.พ.อนุมัติแล้วประมาณ 2,400 ตำแหน่ง แต่อนุมัติในส่วนของแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกรเท่านั้น ขณะที่ในส่วนของลูกจ้างชั่วคราว ยังเป็นปัญหาที่ต้องดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันมีลูกจ้างที่ยังไม่ได้รับตำแหน่งอีกกว่า 31,000 คน จึงจำเป็นต้องมีการยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้างกลุ่มนี้ให้ดีขึ้นเทียบเท่าข้าราชการ ซึ่งก่อนหน้านี้ สธ.ได้กำหนดแผนไว้ว่า จะจ้างงานในรูปแบบของพนักงาน สธ. แต่หลังจากการรับฟังปัญหาเพิ่มเติมจากภาคท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ ทราบว่ายังมีบุคลากรหลายคนมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีพอ และมีสวัสดิการยังไม่ดีเมื่อเทียบกับภาระงาน จึงต้องปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างงานอีกครั้ง ก่อนจะมีการพิจารณายกระดับจากลูกจ้างเป็นพนักงานของกระทรวง

นพ.โสภณกล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ สธ.ได้หารือกับทางสภาวิชาชีพต่างๆ ในเรื่องของการจ้างงานลักษณะดังกล่าวในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2560 ว่า เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของสภาวิชาชีพต่างๆ หรือไม่ ยกตัวอย่าง บุคลากรทางการแพทย์ทั่วไปในอัตราแพทย์ 1 คนต่อประชากร 3,000 คน พยาบาล 1 คนต่อประชากร 550 คน และเภสัชกร 1 คนต่อ ประชากร 8,000 คน ซึ่งขณะนี้ สธ.ร่างรูปแบบการจ้างงานเสร็จแล้ว แต่จำเป็นต้องมีการทำประชาพิจารณ์กับทุกสภา เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2555

"หากทุกสภาวิชาชีพยอมรับในตำแหน่งพนักงาน สธ.จะเป็นการดีต่อบุคลากรสาธารณสุขทุกคน ซึ่งนอกจากได้รับค่าตอบแทนที่ดีและมั่นคงแล้ว สิ่งที่จะได้รับเพิ่มเติมและต่างจากตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว อาทิ เรื่องสิทธิในการโยกย้ายสถานที่ปฏิบัติงาน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การส่งเสริมการศึกษาต่อ เป็นต้น แต่ในส่วนของสิทธิการรักษาพยาบาลนั้นจะเป็นการใช้สิทธิประกันสังคม ไม่ใช่สิทธิข้าราชการ" รองปลัด สธ.กล่าว

 

--มติชน ฉบับวันที่ 4 มิ.ย. 2555