ศิริราชเผยความคืบหน้า “สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช” มั่นใจเสร็จสมบูรณ์ปลายปี นี้ พร้อมชู “ศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช” หนึ่งในโครงการหลักของสถาบันฯ เป็นปัจจัยหลักในการสร้างความเป็นเลิศทางการแพทย์ในระดับสากล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยและมวลมนุษยชาติ และสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า โครงการ “สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช” เกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่จะส่งเสริมการพัฒนาความเป็นเลิศทางการแพทย์ในระดับสากล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยและมวลมนุษยชาติ และสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว อีกทั้งยังช่วยสร้างรายได้ที่จะสนับสนุนการดำเนินการของคณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราชจึงเกิดขึ้นโดยมีองค์ประกอบสำคัญ 5 โครงการ คือ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โครงการศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช การแพทย์แผนไทยประยุกต์ศิริราช สวนเฉลิมพระเกียรติ และพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน
ในจำนวนโครงการทั้งหมด โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์หรือ SiPH เป็นโครงการแรกที่เปิดดำเนินการในส่วนแรกแล้วเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา และจะค่อยๆ ทยอยเปิดส่วนที่ 2 และ 3 ต่อไปใน 2 ปีข้างหน้านี้ ส่วนโครงการที่เหลือจะก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปีนี้ ได้แก่ ศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว 70% การแพทย์แผนไทยประยุกต์ศิริราชซึ่งอยู่ในอาคารเดียวกับโรงพยาบาล SiPH ก่อสร้างเสร็จ และเปิดให้บริการได้แล้วบางส่วน สวนเฉลิมพระเกียรติ และพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้
“สถาบันสยามินทราธิราช ถือได้ว่าเป็นแหล่งรวมความเป็นสุดยอดทางการแพทย์ ทั้งการรักษาพยาบาล การวิจัย และการให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปไม่เฉพาะแต่นักเรียนแพทย์เท่านั้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีความสำคัญมากที่จะพัฒนาความเป็นเลิศทางการแพทย์ของประเทศไทย และในฐานะที่ศิริราชเป็นเสาหลักทางการแพทย์ของไทยมานานถึง 123 ปี เราพร้อมที่จะก้าวไปอีกขั้นกับการเป็นผู้นำในการพัฒนาการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับในระดับโลกมากขึ้นกว่านี้” ศ.คลินิก นพ. อุดมกล่าว
ศ. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า โครงการหนึ่งที่สำคัญและมีศักยภาพสูงภายใต้ “สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช” ได้แก่ “ศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช” ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์และเทคโนโลยีอันทันสมัยพร้อมจะสนับสนุการวิจัยระดับโลกและระดับประเทศ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น ห้องประชุมทางไกล ห้องประชุมที่มีบรรยากาศเอื้อต่อการสร้างสรรค์และการคิดอย่างอิสระ
ที่ผ่านมาศิริราชมีผลงานวิจัยที่โดดเด่น โดยมีผลงานวิจัยทางการแพทย์ปีละประมาณ 800 ชิ้น เช่น งานวิจัยเรื่องสาเหตุและการรักษาโรคไข้เลือดออก ซึ่งความรู้จากการวิจัยทำให้ประเทศไทยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจาก 20% เมื่อ 50 ปีที่แล้วลงเหลือ 0.12% ในปีนี้ หรือการรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นต้น
“แต่งานที่เราทำมานับว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 66 ล้านคน ยังมีอีกหลายโรคที่ต้องอาศัยการวิจัยเพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษาใหม่ๆ แต่การวิจัยต้องอาศัยทุนมาก โดยรัฐบาลมีภาระหลากหลายด้านจึงสามารถจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัยเพียงปีละ 100 ล้านบาท หรือเพียง 0.2% ของ GDP ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องหาแหล่งเงินทุนเอง” ศ. นพ.ประสิทธิ์กล่าว
“ศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราชจะช่วยให้เราสามารถทำงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์อันทันสมัย ทำให้สามารถรองรับงานวิจัยระดับโลก และการร่วมวิจัยระดับนานาชาติ โดยเราตั้งเป้าว่าจะสามารถทำงานวิจัยร่วมกับเครือข่ายนานาชาติของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ได้ถึง 30 โครงการในปี พศ. 2556” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
ศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช มีภารกิจหลักใน 2 ด้าน คือ การวิจัยเชิงลึก ซึ่งต้องอาศัยเครือข่ายการวิจัยระดับโลก เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ และการวิจัยแบบ Routine to Research (โครงการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย) ซึ่งแพทย์และพยาบาลจะเก็บข้อมูลและศึกษาปัญหาต่างๆ จากการดูแลรักษาคนไข้ เพื่อนำมาวิเคราะห์และสรุปผลเป็นแนวทางในการพัฒนาการบริการคนไข้ให้ดีขึ้น เช่น งานวิจัยเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการให้นมบุตรในแม่ที่หัวนมบอด เป็นต้น
“ศูนย์วิจัยแห่งนี้จะช่วยต่อยอดงานวิจัยได้มาก เช่น โครงการวิจัยเรื่อง Cancer Nano Medicine ที่ใช้เทคโนโลยีนาโนในการฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะสามารถดำเนินการวิจัยได้สะดวกขึ้น เพราะมีอุปกรณ์ใหม่ที่ช่วยให้เราศึกษาความผิดปกติของเซลล์มะเร็งได้ถึงระดับอนุภาค” ศ. นพ.ประสิทธิ์กล่าว
ศ. คลินิก นพ.อุดมกล่าวเสริมว่า “การก่อสร้างอาคารทั้งหมดในสถาบันสยามินทราธิราชนั้น นอกจากงบอันจำกัดของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเองแล้ว เราได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน และจากสำนักสลากกินแบ่งรัฐบาล กระทรวงการคลัง แต่ในเรื่องทุนสำหรับการดำเนินงานนั้น เราได้จากการบริจาคจากประชาชนทั่วไปผู้มีจิตศรัทธา รวมถึงองค์กรและหน่วยงานต่างๆ หลังจากที่การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดดำเนินการแล้ว คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาลจะเริ่มนำเงินบริจาคมาใช้ในการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการภายใต้สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราชต่อไป
ซึ่งเรายังขาดงบประมาณจำนวนมากในการสนับสนุนงานวิจัยต่างๆ ทั้งระดับโลกและระดับประเทศ ผมอยากให้พวกเราช่วยกันรณรงค์ให้คนไทยเห็นคุณประโยชน์ในการบริจาคเพื่องานวิจัย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือองค์กรภาคเอกชน ก็สามารถบริจาคภายใต้โครงการสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช โดยเราจะนำเงินจากการบริจาคเข้าโครงการนี้มาสนับสนุนงานวิจัยเป็นหลักและอย่างต่อเนื่อง ถือได้ว่าเป็นการได้กุศลอย่างมาก เพราะผลจากการวิจัยสามารถพลิกชีวิตของคนไทยและมนุษยชาติอย่างยั่งยืน และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศด้วย
ส่วนในอนาคต หากโครงการต่างๆ สามารถสร้างรายได้พอเลี้ยงตัวแล้ว สถาบันฯ ก็จะสามารถสนับสนุนการทำงานของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลซึ่งเป็นต้นสังกัดได้มากขึ้นทั้งในด้านตัวเงินและการบริการทางวิชาการและอื่นๆ อันจะนำมาซึ่งการพัฒนามาตรฐานการแพทย์ได้อย่างมั่นคง”
- 94 views