เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 หน้า A6
ความทุกข์ของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมฉายภาพผ่านข้อร้องเรียนที่หลั่งไหลเข้าสู่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนาประธานเครือข่ายฯ สรุปความว่าปัญหาใหญ่ที่สุดคือระบบการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลต้นสังกัดไปยังโรงพยาบาลที่รับส่งต่อ และมาตรฐานการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีสิทธิรักษาในระบบประกันสังคมได้รับความเหลื่อมล้ำและความเสียหายอย่างรุนแรง
นายประธาน สายธานแสงทองผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการรักษา เล่าว่า มีอาการปวดเอวและร้าวขึ้นถึงหลังจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้จึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นนิ่วในไตและต้องรักษาด้วยเครื่องสลายนิ่ว มีค่าใช้จ่ายประมาณ 6 หมื่นบาท เมื่อสอบถามไปยังสำนักงานประกันสังคมได้รับคำยืนยันว่าสามารถเบิกค่ารักษาได้ แต่เมื่อถึงเวลาจริงกลับเบิกไม่ได้ เนื่องจากไม่มีเงินจ่าย จึงขอให้ส่งตัวไปยังโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 2 หมื่นบาท กว่าจะได้รับการส่งตัวก็ช้า ที่สำคัญไม่สามารถเบิกค่ารักษาได้เช่นกัน ถามว่าเช่นนั้นแล้วจะจ่ายเบี้ยประกันทุกเดือนไปทำไม
นายกำธร กิตติพุฒิผู้ประกันตนสะท้อนประสบการณ์ตรงว่า มีอาการท้องผูกและท้องเสียสลับกัน ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์โรงพยาบาลเอกชนที่เลือกว่าป่วยเป็นโรคริดสีดวง บิด ลำไส้อักเสบ จนกระทั่งมะเร็งลำไส้ ขณะรักษาตัวมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงเนื่องจากได้รับข้าวสวยและน้ำตกตะกอน ที่มีการกำกับไว้ว่าเป็น "อาหารประกันสังคม"
จนทางครอบครัวตัดสินใจว่าจะย้ายไปรักษาโรงพยาบาลเฉพาะทาง แต่โรงพยาบาลแรกไม่ยินยอมจนกว่าจะลงชื่อในเอกสารที่ระบุว่ายินยอมที่จะไม่เรียกร้องค่าใช้จ่ายจากโรงพยาบาลเดิมและอ้างว่าโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้เป็นธุรกิจการส่งตัวทำให้เสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วก็ตัดสินใจย้ายโรงพยาบาลและยอมจ่ายค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด เนื่องจากไม่ไว้ใจมาตรฐานการรักษา
ขณะที่น.ส.แคทลียา พลีขันธ์ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมอีกรายเล่าว่า ตนเองมีอาการผื่นคันขณะตั้งครรภ์จึงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนในสังกัด เบื้องต้นแพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากภูมิแพ้ แต่เมื่อให้ยาแล้วอาการก็ไม่ดีขึ้น แพทย์วินิจฉัยใหม่ว่าเป็นไข้เลือดออก แต่ร่างกายก็ยังทรุดลงทำให้ต้องเข้าออกโรงพยาบาล 3-4 ครั้ง
ล่าสุด แพทย์วินิจฉัยอีกครั้งว่าเป็นโรครูมาตอยด์ เมื่อญาติเห็นว่าการรักษาไม่มีประสิทธิภาพจึงขอให้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลรัฐ ทว่ากลับถูกยื้อเรื่องเป็นเวลานานจนมีอาการช็อก
ท้ายที่สุดแล้วได้รับการส่งต่อไปยังศิริราชพยาบาลขณะมีอาการโคม่าแพทย์วินิจฉัยว่าติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง ต้องรักษาตัวในห้องไอซียู10 วัน และรักษาต่ออีก 20 วัน จนรอดตายมาได้
จึงสงสัยว่าเหตุใดที่โรงพยาบาลในสังกัดไม่ยอมส่งต่อผู้ป่วย...เป็นเพราะใช้สิทธิประกันสังคมหรือไม่
- 750 views