กรุงเทพธุรกิจ 31 พ.ค. 55-เหตุการณ์โรงงานบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด (BST) ในเครือบริษัทกรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ระเบิดและเกิดไฟไหม้จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บอีก 129 รายนั้น ทำให้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ถูกจับตามองถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย และความพร้อมในการเตรียมรับมือ
กรุงเทพธุรกิจ ได้ตรวจสอบความพร้อมรับมืออุบัติเหตุของโรงพยาบาลมาบตาพุด จ.ระยอง ในการรับมืออุบัติเหตุจากโรงงาน นพ.สุรพล มาลีหวล ผอ.รพ.มาบตาพุด บอกถึงความพร้อมว่าโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง มีแผนอยู่แล้วในการรับมือกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น จากโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เรียกว่า แผนพิทักษ์ระยอง ซึ่งมีระดับการเตรียมความพร้อมไว้ 3 ระดับด้วยกัน
แบ่งเป็นแผนพิทักษ์ระยอง 1 หมายถึง อุบัติเหตุที่มีผู้ป่วย 20 คน และระดมหน่วยแพทย์จากโรงพยาบาลใกล้เคียง แผนพิทักษ์ระยอง 2 หมายถึง อุบัติเหตุที่มีผู้ป่วยเกิน 20 คน และระดมหน่วยแพทย์ทั้งจังหวัด และแผนพิทักษ์ระยอง 3 หมายถึง อุบัติเหตุที่มีผู้ป่วยจำนวนมากและระดมหน่วยแพทย์จากทั่วประเทศ สำหรับอุบัติเหตุที่โรงงานของบริษัทกรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัดในวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นอุบัติเหตุระดับสอง ที่สามารถช่วยกันในระดับจังหวัดได้ไม่ต้องถึงการสั่งการในระดับชาติ
เวลาเกิดเหตุจะมีการส่งคนไข้มาที่โรงพยาบาลเป็นจุดแรก หลังจากนั้น จะมีการประเมินว่าจะส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาที่ต่อที่ไหนบ้าง โดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจะเป็นผู้มีอำนาจในการประกาศแผนพิทักษ์ระยอง ส่วนใหญ่อุบัติเหตุที่นี้จะอยู่ 2 ยังไม่ถึงระดับ 3 ที่ต้องระดมข้ามจังหวัด ผอ.รพ.มาบตาพุดกล่าว
นพ.สุรพล กล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์โรงงานบีเอสทีระเบิดถือว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมรุนแรงที่สุดตั้งแต่มีการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา จะมีอุบัติเหตุที่รุนแรงในนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แต่เหตุการณ์ครั้งนี้มีความรุนแรงมาก จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
ผลจากการตรวจสอบผู้ป่วยในครั้งนั้น นพ.สุรพล กล่าวว่า มีอาการหนักไปเลย และมีอาการก้ำกึ่งประมาณ 9 ราย ที่เหลืออาการบาดเจ็บเล็กน้อยมีเศษกระจกบาด และพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเยอะ 15 ชุมชน
รายงานของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้จำนวน 11 รายและบาดเจ็บอีก 129 ราย ผอ.รพ.มาบตาพุด ระบุว่า ลักษณะบาดแผลของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่โดนแรงอัดแล้วโดนไฟไหม้หมด ที่เห็นชัดว่าได้ร่างกายได้รับแรงกระแทกนั้นมี 2 ราย สองคนที่เหลือโดนไฟไหม้หมด
ส่วนการตรวจสารเคมีในร่างกายของผู้เสียชีวิตนั้น นพ.สุรพล กล่าวว่า ไม่สามารถบอกได้ว่ามีหรือไม่มี แต่ในขณะที่เกิดเหตุนั้นผู้เสียชีวิตแทบไม่มีโอกาสที่จะได้สัมผัสกับสารเคมี เพราะเสียชีวิตทันทีหลังเกิดเหตุไฟไหม้และระเบิดที่โรงงาน
ผลจากแผนปฏิบัติการในช่วงที่ผ่านมา นพ.สุรพล บอกว่า บางครั้งการทำงานก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้ อีกทั้งต้องประเมินความเสี่ยงต่อบุคลากรทางการแพทย์ หากพบว่ามีความเสี่ยง ทางโรงพยาบาลก็ไม่สามารถส่งคณะแพทย์ให้ความช่วยเหลือได้
การเข้าไปช่วยเหลือหากประเมินว่าอันตรายทางโรงพยาบาลก็ไม่ส่งทีมแพทย์เข้าไปช่วย แต่จะให้ไปรอที่หน้าโรงงาน และให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยนำผู้ป่วยออกมาข้างหน้า ซึ่งพวกเขาผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี แต่ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็กลับเป็นผู้ได้รับผลกระทบสูงเสียเองเพราะไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตนเองที่เพียงพอ นพ.สุรพลกล่าว
นอกจากนี้ การประเมินความเสี่ยงในการทำงานแล้ว ทางคณะแพทย์ของโรงพยาบาลยังต้องประเมินทิศทางของลมและต้องมั่นใจว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากกระแสลมแรงที่พัดสารเคมีมาด้วย
เราต้องมั่นใจว่าทิศทางลมต้องอยู่เหนือลม และจะไปรับในจุดที่ไม่ฝ่าเข้าไป เราจะไปอยู่เหนือลม หรือข้างลมก็แล้วแต่ ถ้าเราต้องฝ่าลมเข้าไปเราไม่เข้า ปกติหน่วยกู้ภัยจะประเมินให้ แต่เขาก็ยุ่งมาก เราก็ต้องประเมินเอง เพราะเราอยู่ในพื้นที่จนรู้ว่าทิศทางลมจะไปทางไหน ผอ.รพ.มาบตาพุดกล่าว
เขายกตัวอย่างว่าในช่วงฤดูฝนลมก็จะพัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนฤดูหนาวลมก็จะพัดไปทางตะวันตกเฉียงใต้ และในฤดูร้อนลมก็จะหมุนไปหมุนมา ส่วนใหญ่แล้วลมก็จะพัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 8 เดือน
ผมไม่แน่ใจว่าคนที่นี้รู้ทิศทางลมหรือเปล่า แต่คนอยู่ใกล้โรงงานจะรู้ อย่างเช่น ในฤดูนี้ชาวบ้านแถวมาบชลูด ท่ากลาง ตลาดมาบตาพุดและโรงพยาบาลมาบตาพุดก็จะได้กลิ่น แต่พอฤดูหนาวชาวบ้านแถวหนองแฟบก็จะได้กลิ่นแล้ว ฤดูหนาวก็จะนานหน่อย เหตุร้องเรียนก็จะเกิดที่หนองแฟบและตากวนอ่าวประดู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะตาอวนอ่าวประดู่ ไม่ว่าจะฤดูไหนก็ได้รับผลกระทบเพราะติดอยู่ข้างนิคมอุตสาหกรรม ดังนั้น เวลาวางแผนเราต้องรู้ภูมิศาสตร์ทิศทางลม เราจะให้คนไปหรือไม่ไปเราก็ต้องรู้ นพ.สุรพลกล่าว
ส่วนการป้องกันและลดผลกระทบจากอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ผอ.รพ.มาบตาพุด กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลได้ประสานเป็นการภายในกับทางนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานในเรื่องการควบคุมสารเคมีตลอดเวลา เพราะว่าทางการนิคมฯ และเจ้าหน้าที่นิคมฯ เอง ก็ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาทำงาน
ขณะที่สารเคมีที่เป็นอันตรายซึ่งถือเป็นสารตั้งต้นในกระบวนการผลิตนั้น นพ.สุรพล กล่าวว่า การนิคมอุตสาหกรรมไม่ได้แจ้งมาทั้งหมด ทำให้เราต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเข้าไปขอข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้จากทางการนิคมฯ เอง เพื่อนำมาวางแผนในการรับมือและให้การรักษากับผู้ป่วย
เขาคิดว่าสารเคมีที่ต้องระวังในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดน่าจะมากกว่า 200 ชนิด แต่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษมีสารก่อมะเร็ง 20 ชนิด ซึ่งเห็นว่าโรงงานควรจะต้องแจ้งให้กับชุมชนและโรงพยาบาลทราบถึงชนิดของสารเคมี เพื่อให้สามารถวางแผนป้องกันได้
เมื่อถามว่าทางโรงงานได้มาแจ้งกับโรงพยาบาลถึงประเภทสารเคมีที่ใช้ในโรงงานอย่างไรบ้าง ด้าน ผอ.บอกว่าอย่าไปคาดหวัง โรงพยาบาลก็ต้องช่วยตัวเอง และก็ต้องแจ้งชาวบ้านเอง
ส่วนในการซ้อมแผนรับมือกับอุบัติเหตุจากโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ทางส่วนราชการจังหวัดระยองและโรงพยาบาลมาบตาพุด ได้มีการซ้อมใหญ่เพื่อรับมือปีละ 1 ครั้ง และซ้อมเล็กอีกปีละ 10 ครั้ง
แต่เมื่อเกิดสถานการณ์จริง ผอ.รพ.มาบตาพุดยอมรับว่า การปฏิบัติงานก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อย่างเช่น การเตือนภัยก็มีความล่าช้า ไม่มีการแจ้งประชาชนให้ทราบถึงประเภทและอันตรายของสารเคมี โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์อุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากเฉลี่ยแล้วปีละ 1-2 ครั้ง
ส่วนแนวโน้มอุบัติเหตุอาจจะแย่ลงและมีมากขึ้น เพราะเครื่องมือเก่า แม้ว่ามีการปิดซ่อมบำรุงโรงงานอยู่เป็นระยะ แต่เจ้าหน้าที่ของบริษัทรับเหมาที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่มีความเชี่ยวชาญในการซ่อมบำรุง หรือมีความรู้เรื่องสารเคมี จนทำให้เกิดอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรม
'แนวโน้มอุบัติเหตุอาจจะแย่ลงเพราะมีมากขึ้น เพราะเครื่องมือเก่าแม้ว่ามีการปิดซ่อมบำรุงโรงงานอยู่เป็นระยะ'
- 150 views