รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตือนเกษตรกร ลุยน้ำ ย่ำโคลน ให้ระวัง “ติดเชื้อโรคฉี่หนู”ควรสวมรองเท้าบู๊ทป้องกัน โรคนี้พบผู้ป่วยได้ตลอดปี แต่จะระบาดมากช่วงฤดูฝนจนถึงต้นฤดูหนาว กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. ทั่วประเทศเฝ้าระวังโรคฉี่หนูอย่างใกล้ชิด เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้วิธีการป้องกันตัวแก่ประชาชน ปีนี้พบทั่วประเทศป่วยแล้ว772 ราย มากที่สุดภาคอีสานร้อยละ 59 รองลงมาภาคใต้ร้อยละ28 เสียชีวิต 17ราย แนะหากมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่น่อง อย่าซื้อยากินเอง เพราะแม้ไข้จะลด แต่เชื้อยังอยู่ เสี่ยงเสียชีวิต
วันนี้ (26 พฤษภาคม 2555) ที่ จ.อุดรธานี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ เยี่ยมชมระบบการให้คำปรึกษาการรักษาด้วยภาพและเสียง ผ่านโปรแกรมสไกป์ ของ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลดงหวาย อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี พร้อมมอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
นายวิทยา กล่าวว่า เรื่องที่น่าห่วงในช่วงฤดูฝนนี้ ประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร ผู้ที่มีอาชีพทำไร่ทำนาจะมีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) สูงกว่าฤดูอื่นเนื่องจากมีแหล่งน้ำขังจำนวนมาก โดยเชื้อโรคจะอยู่ในฉี่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่น หนู วัว ควายจะพบมากที่สุดในฉี่ของหนูทุกชนิด และเชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามแอ่งน้ำขังต่างๆดินโคลนที่เฉอะแฉะ และเข้าสู่ร่างกายคนเราได้ 2 ทางคือจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อฉี่หนูเข้าไป และเชื้อไชเข้าทางแผล ตามเยื่อบุในปากหรือตาหรือเข้าที่รอยผิวหนังถลอก รวมทั้งผิวหนังปกติที่แช่น้ำนานๆ ก็สามารถไชผ่านไปได้ หลังได้รับเชื้อประมาณ 7-10 วัน จะเริ่มมีอาการที่มีลักษณะเฉพาะได้แก่ มีไข้สูงทันทีทันใดปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่น่องขาทั้ง 2 ข้าง
สถานการณ์โรคในปี 2555 ตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคมสำนักระบาดวิทยา รายงานพบผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั่วประเทศ722รายเสียชีวิต 17 ราย พบผู้ป่วยกระจายอยู่ทุกภาค มากที่สุดในภาคอีสาน พบร้อยละ 59 รองลงมาภาคใต้ร้อยละ 28 จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดได้แก่ สุรินทร์ 78 ราย ศรีสะเกษ 71ราย และบุรีรัมย์ 57 ราย อาชีพที่ป่วยสูงสุดได้แก่ เกษตรกรร้อยละ 59 รองลงมาอาชีพรับจ้างร้อยละ 19 และนักเรียนร้อยละ 9 ได้มอบนโยบายกำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. ทั่วประเทศเฝ้าระวังโรคฉี่หนูอย่างใกล้ชิด ในช่วงฤดูฝนต่อเนื่องจนถึงต้นฤดูหนาว เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้วิธีการป้องกันตัวแก่ประชาชนขอให้หลีกเลี่ยงการเดินย่ำน้ำหรือการแช่น้ำนานๆ เพื่อลดการป่วยและการเสียชีวิต
- 3 views