กระทรวงสาธารณสุข จัดทำโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส พร้อมสร้างวัตถุมงคลระดมทุนซื้อรถเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ 5 คันพร้อมอุปกรณ์ รวมมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ใช้สอนสุขศึกษา ประชาสัมพันธ์ และตรวจหามะเร็งเต้านมอย่างละเอียดตั้งแต่ยังไม่ลุกลาม และรักษาทันที เพิ่มโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น เป็นครั้งแรกในไทยและหนึ่งเดียวในโลก เริ่มปี 2556-2560 ตั้งเป้าตรวจคัดกรองหญิงไทยในกลุ่มเสี่ยง ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลให้ได้ 250,000 คน สถานการณ์ล่าสุด พบหญิงไทยป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มปีละ 13,000 กว่าราย เสียชีวิต 4,665 รายต่อปี เฉลี่ย 1 รายในทุก ๆ 2 ชั่วโมง
วันนี้ (25 พฤษภาคม 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย และนายพิศาล เตชะวิภาค อุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องและพระบูชา ร่วมกันแถลงข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิกาญจนบารมี จัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่หรือแมมโมกราฟฟี่ (Mammography) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร เจริญพระชนมายุครบ 5 รอบในวันที่ 28 กรกฎาคม 2555 นี้ เพื่อลดอัตราป่วยและเสียชีวิตของหญิงไทยจากโรคมะเร็งเต้านมลง โครงการดังกล่าวนี้จะใช้วิธีการระดมทุนจากภาคเอกชน และภาคประชาชน ไม่ใช้งบประมาณภาครัฐ โดยจัดสร้างวัตถุมงคล หลวงพ่อโสธร รุ่น “เบญจนวมงคล” ๕๕๕๕๕๕๕๕๕ เพื่อหารายได้และร่วมบริจาคสมทบทุนการจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าว
นายวิทยา กล่าวว่า ปัจจุบันมะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในสตรีไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของสตรีไทยรองจากโรคมะเร็งตับ ซึ่งในปี 2553 ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่จำนวน 13,184 ราย เสียชีวิต 4,665 ราย เฉลี่ยตาย 1คน ในทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยพบหญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมในระยะลุกลามปีละประมาณ 5,600 ราย หรือประมาณร้อยละ 56 ของผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์ ทำให้โอกาสมีชีวิตรอดเป็นศูนย์ เนื่องจากเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปแล้ว และการเอกซเรย์เต้านมขณะนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพง ครั้งละ 2,000 กว่าบาท ผู้หญิงที่มีฐานะยากจนไม่สามารถเข้าถึงการตรวจได้ โดยค่าตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ ยังไม่ได้บรรจุในสิทธิประโยชน์โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง
นายวิทยา กล่าวต่อว่า โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งนี้ จะเป็นการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 5 หน่วย แต่ละหน่วยจะมีประจำแต่ละภาค ครอบคลุมทั้ง 5 ภาคทั่วประเทศ ลงไปยังชุมชนทั่วประเทศทุกอำเภอ แต่ละหน่วยประกอบด้วยหน่วยประชาสัมพันธ์ หน่วยนิทรรศการให้ความรู้ หน่วยสอนการตรวจเต้านมด้วยตนเอง หน่วยที่ตรวจเต้านมให้กับประชาชนในรายที่สงสัย และหน่วยเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ซึ่งเป็นระบบดิจิตอล ในรายที่สงสัยหรือมีปัจจัยเสี่ยงและด้อยโอกาส รู้ผลทันที หากพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม ก็จะส่งต่อเข้ารักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดนั้นๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพ โครงการดังกล่าวนี้ นับเป็นโครงการแรกของไทยและเป็นโครงการเดียวของโลกที่มีทั้งการให้ความรู้ การสอนตรวจเต้านมด้วยตนเอง ตรวจเต้านมโดยแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และการเอ็กซเรย์เต้านมให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงและด้อยโอกาส บริการฟรีทั้งหมด โดยมีเป้าหมายเอ็กซเรย์เต้านมในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ภายใน 5 ปี จำนวน 250,000 ราย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2556-2560
ด้านนายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขธารณสุข กล่าวว่า สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยง คือ สตรีที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย หรือประจำเดือนหมดเมื่ออายุมาก หรือเป็นผู้ที่มีญาติพี่น้องสายตรง เช่น แม่ ป้า หรือ น้า เป็นมะเร็งเต้านม ผู้ที่ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ชอบกินอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งขณะนี้มะเร็งเต้านมสามารถพบได้ในผู้หญิงอายุ 20 ถึง 30 ปี และพบในผู้ชายปีละประมาณ 2-3 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์เมื่อคลำพบก้อนที่เต้านมชัดเจนแล้ว หรือมีแผลที่เต้านม มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมาจากหัวนม ซึ่งเป็นอาการของมะเร็งในระยะท้ายๆ ซึ่งมีการลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆไปแล้ว โอกาสรักษาหายจึงแทบจะไม่มี
วิธีป้องกันโรคมะเร็งเต้านม คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น ลด หลีกเลี่ยงกินอาหารที่มีไขมันสูง รวมทั้งเข้ารับการตรวจคัดกรองให้เร็วที่สุด พบก้อนผิดปกติได้เร็ว ยิ่งเล็กได้เท่าไรยิ่งดี ต่อการรักษาได้ผล โอกาสรอดชีวิตมีสูงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ การตรวจเต้านมทำได้ 2 วิธี คือ 1.ตรวจคลำด้วยตนเอง ทุกเดือนหลังเป็นประจำเดือน อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งจะสามารถคลำพบก้อนเนื้อที่โตประมาณ 1 เซนติเมตร ขึ้นไป หากพบก้อนโตขนาด 2-5 เซนติเมตร อัตรารอดชีวิตลดลงเหลือร้อยละ 70-75 หากก้อนโต 85 เซนติเมตรขึ้นไป อัตรารอดชีวิตลดลงเหลือร้อยละ 30-15 และ2.การตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม จะพบก้อนมะเร็งตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าหัวไม้ขีดไฟ คือแค่ 2-3 มิลลิเมตร สามารถรักษาให้หายได้เกือบทั้งหมด เพราะมะเร็งจะมีขนาดเล็กมาก ยังไม่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
สำหรับการระดมทุนซื้อเครื่องตรวจมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ จำนวน 200 ล้านบาทนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อโสธรรุ่น “เบญจนวมงคล”๕๕๕๕๕๕๕๕๕ เพื่อให้ประชาชนเช่าไปบูชาและนำเงินที่ได้เข้าโครงการดังกล่าว วัตถุมงคลนี้ประกอบด้วยมวลสารศักดิ์สิทธิ์จากพระเกจิทั่วประเทศกว่า 8,000 ชนิด สร้างทั้งหมด 5 แบบ ได้แก่ 1.พระบูชาขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว เนื้อนวโลหะยังไม่มีใครจัดสร้างมาก่อน 2.ชนิดห้อยคอมี 3 เนื้อ คือ เนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองทิพย์ 3.เหรียญเสมา มีลายกนกประทับสิงห์ มี 4 เนื้อ คือเนื้อทองคำ เนื้อเงินลงยามี 7 สี เนื้อทองทิพย์ และเนื้อทองแดงนอก 4.เหรียญหลวงพ่อโสธรสองหน้ามี 4 เนื้อ คือ เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนวโลหะ และเนื้อทองทิพย์ และ 5.สมเด็จหลวงพ่อโสธร
ประชาชนที่สนใจบูชาวัตถุมงคลชุดนี้ เพื่อสมทบทุนเข้าโครงการ สามารถสั่งจองได้ที่กรมอนามัย โทรศัพท์ 088-5055773, 088-5006854, 02-5904555, 02-9659244 หรือที่ ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ เลขที่บัญชี 142-601-4120 หรือเว็บไซต์ http://sothorn.anamai.moph.go.th
- 34 views