เจนีวา--24 พ.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์--ยูเอสนิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ : ยอดผู้ป่วยรายใหม่ทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ช่องว่างของการระดมทุนกลับลดทอนความก้าวหน้า

 

ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคโปลิโอจะลดลงอย่างมากในปีที่ผ่านมา แต่ภัยคุกคามจากโรคร้ายนี้ก็ยังคงเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาอันเนื่องมาจากช่องว่างในการระดมทุนและการสร้างภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้โครงการต่อต้านกำจัดโรคโปลิโอสากล (Global Polio Eradication Initiative หรือ GPEI) ต้องเริ่มใช้แผนแม่บทฉุกเฉิน (Emergency Action Plan—EAP)

แผน EAP มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครอบคลุมทั่วทั้งไนจีเรีย ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่ยังคงมีผู้ป่วยเป็นโรคโปลิโอ และเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโปลิโอ ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขในการประชุม World Health Assembly ซึ่งจะมีขึ้นในสัปดาห์นี้จะพิจารณาถึงวิธีแก้ปัญหา เพื่อประกาศให้ “การกำจัดโรคโปลิโออย่างถอนรากถอนโคนเป็นโครงการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขสากล” เพื่อกระตุ้นการรับรู้เกี่ยวกับความเร่งด่วนของสถานการณ์

กิจกรรมการกำจัดโรคโปลิโอในระหว่างปี 2553-2555 นั้น ประสบความสำเร็จมากมายหลายโครงการ โดยอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่เผชิญกับความท้าทายกับการกำจัดโรคโปลิโอมาอย่างยาวนาน ได้ถูกลบออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ยังมีผู้ป่วยเป็นโรคโปลิโอเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ในขณะที่การแพร่ระบาดในประเทศที่เคยพบโรคโปลิโอนั้น การแพร่ระบาดเกือบจะสิ้นสุดลงแล้ว

ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ป่วยเป็นโรคโปลิโอจะลดลงในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังพบผู้ป่วยโปลิโอในไนจีเรีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และ ชาด การแพร่ระบาดของโรคเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาในจีน แอฟริกาตะวันตก เกิดจาการได้รับเชื้อจากปากีสถานและไนจีเรีย นับเป็นการตอกย้ำถึงภัยคุกคามที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลการประเมินบางรายการระบุว่า ความล้มเหลวในการกำจัดโปลิโออาจทำให้เด็กทั่วโลกต้องป่วยเป็นโรคโปลิโอถึงปีละ 200,000 คนภายในทศวรรษนี้

“การกำจัดโรคโปลิโออยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญระหว่างความสำเร็จและความล้มเหลว” ดร.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการขององค์การอนามัยโลกกล่าว “เรากำลังอยู่ในช่วงเร่งด่วนของการก้าวไปสู่ความสำเร็จ ด้วยการทำงานที่รวดเร็วขึ้นและดีขึ้น และพุ่งเป้าไปที่พื้นที่ที่เด็กๆ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากที่สุด”

หากการรณรงค์ประสบความสำเร็จ ทั่วโลกอาจได้รับผลประโยชน์จากการกำจัดโรคโปลิโอคิดเป็นมูลค่าราว 4-5 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2578 ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในประเทศที่ยากจนที่สุดได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวคำนวณจากเงินลงทุนนับตั้งแต่เริ่มโครงการ GPEI และยังมีต้นทุนค่ารักษาที่ถูกลงแต่มีประสิทธิภาพด้านการผลิตที่สูงขึ้น

“เรารู้ว่าสามารถกำจัดโปลิโอได้ ความสำเร็จของเราในอินเดียเป็นข้อพิสูจน์ในเรื่องดังกล่าว” คาลยาน บาเนอร์จี ประธานสโมสรโรตารีนานาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระดับโลก กล่าว “คำถามในปัจจุบันก็คือความตั้งใจของนักการเมืองและสังคม ว่าเราต้องการให้เยาวชนรุ่นต่อไปปราศจากโรคโปลิโอหรือไม่ หรือเราเลือกที่จะปล่อยให้ผู้ป่วย 55 รายในปีนี้กลายเป็นเด็ก 200,000 รายที่ต้องป่วยเป็นอัมพาตไปตลอดชีวิตในทุกๆ ปี”

การระดมทุนอย่างเต็มรูปแบบช่วยสนับสนุนแผนการดำเนินการใหม่เป็นเรื่องที่สำคัญ

การขาดแคลนการระดมทุนจะส่งผลให้โครงการ GPEI ต้องถูกยกเลิกหรือลดขนาดของกิจกกรรมการฉีดวัคซีนลงใน 24 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูง และจะส่งผลให้เด็กจำนวนมากมีความเสี่ยงกับการติดเชื้อ ตลอดทั้งความเสี่ยงที่กลุ่มประเทศที่ปลอดจากโรคโปลิโอไปแล้ว การแพร่ระบาดอาจจะกลับมาอีกครั้ง

 “ความพยายามทั้งหมดของเราเรียกว่า ยังมีความเสี่ยงอยู่จนกว่าเด็กทุกคนจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโออย่างครบถ้วน และนั่นหมายถึงการระดมทุนเพื่อการดำเนินการในการกำจัดโปลิโอทั่วโลกและเข้าถึงเด็กๆ ที่เรายังเข้าไปไม่ถึง” แอนโทนี เลค กรรมการผู้บริหารองค์การยูนิเซฟกล่าว “เราได้ต่อสู้กับโรคโปลิโอซึ่งเป็นสาเหตุของอัมพาตมาอย่างยาวนาน เราสามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้ หรืออาจจะถูกประณามหลังจากนี้ก็เป็นได้ หากประสบความล้มเหลว”

การดำเนินการตามแผน EAP ในปัจจุบันต้องสะดุดลง เนื่องจากการขาดงบดำเนินการไปจนถึงปี 2556 ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์

“เราทุกคนมีส่วนรับผิดชอบในการสร้างโลกที่ปราศจากโรคโปลิโอ ในขณะที่เรายังสามารถทำได้” คริส อีเลียส ประธานฝ่ายการพัฒนาระดับโลกของมูลนิธิบิล & เมลินดา เกตส์ กล่าว “การบรรลุเป้าหมายนี้เป็นก้าวสำคัญในการปกป้องเด็กๆ ทุกคนจากโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน”

แผนการดำเนินงานฉุกเฉินในระดับสากล

แผน EAP ได้รับการพัฒนาขึ้นมาร่วมกับแผนฉุกเฉินแห่งชาติของหลายประเทศ โดยยึดรูปแบบความสำเร็จในอินเดียและกำหนดกลยุทธ์ใหม่ ตลอดทั้งการริเริ่มเพื่อส่งเสริมความพยายามในการกำจัดโรคให้ดียิ่งขึ้น ดังรายละเอียดต่อไปนี้:

- การพุ่งเป้าไปที่พื้นที่ที่มีผลการการปฏิบัติย่ำแย่ที่สุดในไนจีเรีย ปากีสถาน และ อัฟกานิสถาน ด้วยการเพิ่มการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมภายในปี 2555 ไปสู่ระดับที่จำเป็นสำหรับการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

- กำหนดวิธีดำเนินการใหม่สำหรับแต่ละประเทศ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่มีอยู่ และเพิ่มประสิทธิภาพการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ

- เน้นไปที่การชี้แจง ประสานงาน และ กำกับดูแลเพื่อรับประกันความสำเร็จของรัฐบาลในทุกระดับและภายในกลุ่มพันธมิตรตัวแทนหรือองค์กร

- เพิ่มความช่วยเหลือทางเทคนิคและกระตุ้นศักยภาพทางสังคม

การทำงานในโหมดฉุกเฉิน

 “เราต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมในพันธกิจและทำงานอย่างหนักเพื่อกำจัดโรคโปลิโอและเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้” ดร.โธมัส ฟรีเดน ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐกล่าว (CDC) “ถึงจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าทุกคนร่วมมือกันเราก็จะสามารถกำจัดโรคโปลิโอได้ตลอดไป”

นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โครงการ GPEI ได้ยกระดับการดำเนินงานไปสู่โหมดฉุกเฉิน ในขณะที่ CDC ได้ริเริ่มศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน; องค์การยูนิเซฟเองก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานฉุกเฉินระหว่างหน่วยงานต่างๆ และขึ้นตรงกับรองกรรมการผู้บริหาร; องค์การอนามัยโลกยกระดับการดำเนินการในเรื่องไปลิโอขึ้นเป็น ศูนย์ปฏิบัติการด้านสุขภาพเชิงกลยุทธ์ การดำเนินการดังกล่าวมีจุดประสงค์ในเรื่องความเร่งด่วนด้านสุขภาพทั่วโลก เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อ H5N1 หรือเหตุสึนามิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2547 และเพื่อเพิ่มศักยภาพทางด้านเทคนิค โปรแกรมติดตามผลในแบบเรียลไทม์ และการดำเนินการตามแผนแก้ไขความผิดพลาดหากจำเป็น นอกจากนี้ สำหรับปีนี้ ผู้จัดการของมูลนิธิโรตารียังยืนยันถึงการให้ความสำคัญกับการกำจัดโรคโปลิโอเป็นอันดับแรก ในขณะที่ผู้นำระดับสูงของมูลนิธิยังได้จัดการประชุมโดยตรงกับผู้นำประเทศต่างๆ ที่พบผู้ป่วยเป็นโรคโปลิโอ

หมายเหตุ โครงการริเริ่มกำจัดโรคโปลิโอสากล หรือ GPEI เป็นโครงการนำร่องโดยรัฐบาลแห่งชาติในหลายประเทศ, องค์การอนามัยโลก (WTO), สโมสรโรตารีนานาชาติ, ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐ, และองค์การยูนิเซฟ ภายใต้การสนับสนุนจากหุ้นส่วนที่สำคัญ ซึ่งรวมไปถึงมูลนิธิบิล & เมลินดา เกตส์ นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา (ซึ่งเป็นปีที่ก่อตั้งโครงการ GPEI) จำนวนผู้ป่วยเป็นโรคโปลิโอลดลงมากกว่า 99% โดยในปี 2541 มีเด็กป่วยเป็นโรคโปลิโอกว่า 350,000 คนในแต่ละปีในกว่า 125 ประเทศ ขณะที่ในปี 2555 มีรายงานผู้ป่วยเพียง 55 ราย (ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2555) และมีเพียง 3 ประเทศที่ยังคงมีผู้ป่วยเป็นโรคโปลิโอ ได้แก่ ไนจีเรีย ปากีสถาน และ อัฟกานิสถาน