เลขาธิการสปสช. เดินหน้าขับเคลื่อน 7 ยุทธศาสตร์ให้ความสำคัญ กับผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ชี้กลไกสาธารณสุขที่เปลี่ยนแปลง ต้องพัฒนาสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนให้หลักประกันสุขภาพ เสริมสร้างความเท่าเทียมของกองทุนสุขภาพ พัฒนาบริการสาธารณสุขมีมาตรฐานตามแนวทาง SMART UC คุ้มครองผู้ด้อยโอกาสในสังคม พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วม ศึกษาความเป็นได้ในการหาทรัพยากรนอกเหนือจากงบประมาณ ตั้งเป้าสปสช.ได้รับรางวัล TQA ในปี 59
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. ได้แถลงข่าวเรื่อง “ขับเคลื่อน 7 ยุทธศาสตร์มุ่งสู่ทศวรรษที่ 2สร้างความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ในโอกาสได้รับคัดเลือกเป็นเลขาธิการสปสช.ต่อเป็นวาระที่สอง
นพ.วินัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งระบบบริการสาธารณสุข การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ลักษณะการเกิดโรคของประชาชนที่เปลี่ยนเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและโรคอุบัติใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมสุขภาพ เศรษฐกิจ การเมือง สิทธิมนุษยชน รวมทั้งการขยายเขตเศรษฐกิจการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ในโอกาสที่ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสปสช.ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองนั้น ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระยะต่อไป ต้องการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อเป็นตาข่ายคุ้มครองด้านสุขภาพของประชาชน ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การมีส่วนร่วมสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข การบริหารเงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการระดมทรัพยากรจากแหล่งอื่น และการบริหารจัดการองค์กรที่มีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพระดับสากล ด้วยวิสัยทัศน์ “ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ”
เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ขณะเดียวจะสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามกฎหมายอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ บริหารจัดการสปสช.ให้คงไว้ซึ่งความเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูง มีการบริหารจัดการที่ดี โดยยึดหลักธรรมาภิบาล และประสานและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคีทุกภาคส่วนเพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีความมั่นคง โดยขับเคลื่อนผ่าน 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1.เสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกและมาตรการคุ้มครองด้านประกันสุขภาพ สำหรับทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า โดยคุ้มครองประชาชนที่ไม่มีหลักประกัน คุ้มครองผู้ด้อยโอกาสในสังคม และคุ้มครองผู้ที่มีหลักประกันภาครัฐอื่นๆ
2.พัฒนากระบวนการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพอย่างกว้างขวาง และนำไปสู่ความเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยดำเนินงานร่วมกับองค์กรสุขภาพอย่างกว้างขวางสร้างความรู้ความเข้าใจด้านหลักประกันแก่ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน กระจายอำนาจการบริหารจัดการ พัฒนาต่อยอดการสนับสนุนการมีส่วนร่วม
3.สนับสนุนการพัฒนาการบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพให้มีคุณภาพมาตรฐานทุกคนเข้าถึงได้และเป็นที่พึงพอใจของประชาชนและผู้ให้บริการตามแนวทาง SMART UC โดยมีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ มียาดีใช้เพียงพอ ไม่ต้องรอรักษานาน มีการจัดการโรคเรื้อรัง
4.ส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการโดยเน้นการคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน โดยขยายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการและภาคประชาชน เอื้อให้ผู้เสียหายเข้าถึงมาตรา 41ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และส่งเสริมพลังจากงานจิตอาสา เน้นการรับฟังความคิดเห็น
5.บริหารเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริหารทรัพยากรบนหลักการความคุ้มค่าการกระจายที่เหมาะสมเป็นธรรม ศึกษาความเป็นไปได้ในการระดมทรัพยากรจากแหล่งอื่น นอกเหนือจากงบประมาณ พัฒนาชุดสิทธิประโยชน์และระบบบริการ สร้างขวัญกำลังใจที่เหมาะสมแก่บุคลากรสาธารณสุข
6.เสริมสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างกองทุนอื่นๆทั้งด้านสิทธิประโยชน์และการให้บริการ โดยร่วมกับกองทุนสุขภาพอื่นๆในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์และระบบบริการให้เท่าเทียม ร่วมกันพัฒนากลไกการเงินการคลัง ร่วมกันพัฒนาเป็นหน่วยงานเบิกจ่ายกลางหรือ Clearing House ร่วมกับทุกกองทุนบูรณาการระบบบริหารจัดการและบริการสาธารณสุข ร่วมกันพัฒนากลไกการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนทราบสิทธิและหน้าที่
7.เสริมสร้างและพัฒนาธรรมาภิบาล ความเข้มแข็งและเสถียรภาพของระบบประกันสุขภาพ โดยเน้นความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการสนับสนุนภารกิจตามกฎหมาย สนับสนุนการกระจายอำนาจในระดับพื้นที่ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เตรียมความพร้อมสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจอาเซียนในปี2558 และพัฒนาคุณภาพองค์กรแห่งการเรียนรู้ จนได้รับรางวัล Thailand Quality Award หรือ TQA ในปี 2559 และจะเป็นแหล่งศึกษาด้านการสร้างหลักประกันสุขภาพในระดับภูมิภาคและระดับสากลต่อไปด้วย
- 2 views