บุญเรือง ถาวรสวัสดิ์ ได้เขียนจดหมายถึงนสพ.มติชนรายวัน ในคอลัมน์ บ.ก.ฟอรั่ม วันที่ 20 พ.ค. 55 เกี่ยวกับเลขาธิการสปสช.คนใหม่ที่เพิ่งได้รับการคัดเลือกมาเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 55 ดังนี้
แสงดาว'หมอหงวน'
แด่เลขาธิการ สปสช.คนใหม่ แต่ก็คนเก่า
ผมรอผลการเลือกตั้งเลขาธิการ สปสช. มาจนกระทั่งผลปรากฏว่า นพ.วินัย สวัสดิวร ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการ สปสช. อีกสมัยหนึ่ง ซึ่งนั่นก็คือ สปสช. ได้เลขาฯ เป็นคนเดิมนั่นเอง
ว่ากันตามที่จริง ผมเองรู้จักมักคุ้นกัน นพ.วินัย สวัสดิวร มาพอสมควร ทั้งที่ได้เคยร่วมกิจกรรมในภูมิภาค และเคยมีหน้าที่เป็นอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในเขต 7 จังหวัดขอนแก่น และเคยเป็นประธานอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพในเขต 8 จังหวัดอุดรธานี และยังทำงานใกล้ชิดกับรองเลขาฯ สปสช. นพ.วีระวัฒน์ พันธุ์ครุฑ เมื่อครั้งท่านผู้นี้ดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดที่จังหวัดกาฬสินธุ์
ที่ผมยกเอาความเกี่ยวข้องมาเขียนไว้ให้ปรากฏก็เพราะว่า อย่างน้อยที่สุดก็แสดงถึงความรักความผูกพัน รวมไปถึงเจตนาดีต่อองค์กรที่ท่านทั้งสองทำกันดูแลในระดับสูงขององค์กรจะได้ทราบว่า ข้อคิดความเห็นที่เสนอมา เป็นเจตนาดีโดยแท้
ขอย้อนคืนไปนิดหนึ่งถึงจิตวิญญาณของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ปลุกปล้ำก่อเกิด สปสช. ก็ด้วยตระหนักถึงการอยากให้คนยากคนจนได้เข้าถึงบริการสุขภาพ ปิดช่องว่างด้วยบริการสุขภาพระหว่างคนรวยกับคนจน และการให้บริการสุขภาพก็จะต้องเป็นบริการที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน เราจึงได้เห็น "30 บาทรักษาทุกโรค" หรือ "ถือบัตรทองรับบริการฟรี" ในเวลาต่อมา
แรกๆ ของนโยบายบริการนี้ ดูจะมุ่งเข็มสู่เป้าหมายได้ดีพอสมควร คนระดับรากหญ้าไปรับบริการจนแออัดในสถานพยาบาล แต่ในตอนหลังๆ มา พฤติกรรมของ "เขต สปสช." บางเขต บางคนละเลย "แสงดาวแห่งศรัทธา" ของหมอหงวนดังจะเห็นได้จากการจัดสรรงบประมาณระดับเขต บางเขตจัดเงินก้อนโตทุ่มเทไปในทางวิจัย, ทางวิชาการ, ทางการประชุมสัมมนา และทางพฤติกรรมราชการ จนดูเหมือนว่างานบริการสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาการเจ็บไข้ได้ป่วยของคนรากหญ้าดูแผ่วๆ ชอบกล ประเด็นนี้ จึงอยากจะฝากเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ช่วยเพ่งๆ เล็งๆ เอาไว้บ้าง
อีกประเด็น เห็นจะได้แก่เรื่องของการประชาสัมพันธ์ เท่าที่ปรากฏสิ่งที่ สปสช. ยังแก้ไม่หายอย่างหนึ่งก็คือ ผู้คนจำนวนมากยังเข้าใจว่า "ยาที่บริการโดย สปสช.เป็นยาที่ไม่มีคุณภาพ" และยังแถมพูดกันว่า "การตรวจรักษาผู้ป่วยบัตรทองเป็นการตรวจแบบเสียไม่ได้" ความเข้าใจเหล่านี้ จะต้องได้กระบวนการประชาสัมพันธ์มาลบให้หายไปให้ได้ เพราะโดยความเป็นจริงมิได้เป็นดังที่มีผู้กล่าวหา ดังนั้น การตั้งงบประมาณสัมพันธ์ในการแก้ปัญหา จึงถือว่าเป็นความจำเป็น จำเป็นที่ผู้ดำรงตำแหน่ง "ผอ.เขต" จะต้องตระหนักและเห็นความจำเป็น เรื่องอย่างนี้ก็เห็นจะต้องฝากเลขาฯคนใหม่อีกแหละ
ประเด็นสุดท้าย เลขาธิการ สปสช. ควรจะได้ดูว่า การดำเนินงานของ สปสช. มีอะไรบ้างที่หนีหลักคิดและหลักการเดิมของการก่อเกิด มิใช่ว่านำระบบราชการเข้ามาบดบังจนมิด อะไรๆ ก็กลายเป็น "ราชการ" ไปเสียหมด ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับระบบราชการเดิมๆ ที่จำเจอยู่กับโต๊ะกับตัวเลขตัวหนังสือ เลยจะทำให้งบก้อนโตถูกใช้ไปกับตัวหนังสือ บางเรื่องการคิดนอกกรอบก็น่าจะถูกนำมาใคร่ครวญหาเหตุผล มิใช่จะถือว่า "กรอบราชการ" เป็นเรื่องตายตัวแก้ไม่ได้
ก็ได้แค่หวังว่า การดำเนินงานภายใต้ระบบ สปสช. จะคงความมีจิตวิญญาณของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่เสมือนแสงดาวแห่งศรัทธา ได้ทอแสงสกาวให้คนรากหญ้าได้เข้าถึงแสงแห่งชีวิตที่เป็นสุขได้สมเจตนาต่อไป
- 3 views