ปฏิเสธไม่ได้ว่าในวันนี้ กลุ่ม "กรุงเทพดุสิตเวชการ" หรือ "บีจีเอช" ถือเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในอาเซียน และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รองจากโรงพยาบาลในออสเตรเลีย ด้วยโรงพยาบาลในเครือข่ายถึง 28 แห่ง ทั่วประเทศ ภายใต้ 5 กลุ่มหลักคือ โรงพยาบาลกรุงเทพ, สมิติเวช, บีเอ็นเอช, กลุ่มพญาไท-เปาโล ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่เพิ่งเข้ามารวมในปีที่แล้ว และกลุ่มสุดท้ายคือ โรงพยาบาลรอยัลในกัมพูชาอีก 2 แห่ง

จุดเด่นจากการมีเครือข่ายที่กว้างขวาง ทำให้บีจีเอชสามารถครอบคลุมลูกค้า ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าต่างประเทศ ลูกค้าระดับบน ระดับกลาง ลงไปถึงกลุ่มประกันสังคม เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกตลาด ซึ่งทำให้ยักษ์ใหญ่รายนี้มีความพร้อมในการแข่งขันในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

เพื่อเตรียมความพร้อมดังกล่าว ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา โรงพยาบาลในกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการต่างเคลื่อนไหวในเชิงรุกต่อเนื่อง อาทิ เปิดตัวนวัตกรรมหุ่นยนต์โทรเวชกรรม ของโรงพยาบาลกรุงเทพ หรือการที่ บีเอ็นเอชทุ่มงบฯรีโนเวตโรงพยาบาลที่มี อายุกว่า 114 ปี ขณะที่สมิติเวช ศรีนครินทร์ ก็เปิดตัวศูนย์ผู้มีบุตรยาก ฯลฯ

และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ กลยุทธ์ล่าสุดของบีจีเอช กับการผนึกกำลังกันระหว่าง โรงพยาบาลในเครือหรือที่เรียกว่า "โคแบรนด์" ซึ่งถือเป็น big movement ของยักษ์ใหญ่รายนี้ และถือเป็นการต่อยอดหลังจากการควบรวมกิจการระหว่างกลุ่ม "กรุงเทพดุสิตเวชการ" และกลุ่ม "พญาไท-เปาโล" เมื่อปีที่แล้ว

กลยุทธ์ดังกล่าวถูกฉายภาพให้ชัดมากขึ้น เมื่อ ร.พ.เปาโล เมโมเรียล นวมินทร์ ได้เปิดตัวศูนย์มะเร็ง โดยโรงพยาบาล วัฒโนสถ (โรงพยาบาลรักษาด้านโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ) ตามด้วยการเปิดตัว "ศูนย์หัวใจ พญาไท 3 โดยโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ"

"น.พ.ชาตรี ดวงเนตร" กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และประธานคณะกรรมการผู้บริหารศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ยอมรับว่าถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ใหญ่ที่สุดหลังการรวมกิจการ เพราะต้องการแสดงให้เห็นถึงจุดประสงค์ของการรวมกันว่า ไม่ใช่แค่ทำให้เราเป็นโรงพยาบาลที่ขนาดใหญ่โตที่สุด แต่ยังมีการซินเนอร์ยี (synergy) กัน ทั้งระบบบริหาร จัดซื้อ ห้องแล็บ ทรัพยากรบุคคล ซึ่งได้เริ่มต้นทำมาสักระยะแล้วสำหรับระบบงานเบื้องหลัง

ขณะที่ "อัฐ ทองแตง" ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารเครือพญาไท-เปาโลเสริมว่า หลังการควบรวมกิจการ ทำให้กลุ่มธุรกิจในหลังการควบรวมกิจการ ทำให้กลุ่มธุรกิจในเครือพญาไท-เปาโลมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการรักษาพยาบาลและการเงิน ขณะที่เฟสต่อไปจะเป็นการปรับในส่วนระบบไอที เพื่อทำให้คนไข้ในเครือเชื่อมโยงกันด้วยซิงเกิลไอดี (Single ID) ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก

สำหรับกลยุทธ์โคแบรนด์นั้น ถือเป็นการยกระดับกลุ่ม ร.พ. "พญาไท-เปาโล" ให้มีมาตรฐานระดับเดียวกันกับกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยนำเอาความแข็งแกร่งของ โรงพยาบาลกรุงเทพในเรื่องกลุ่มโรค "หัวใจ" และ "มะเร็ง" ไปใช้ในการเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจ เพื่อการขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ ของกลุ่มพญาไท-เปาโล

เสมือนเป็นการนำแบรนด์แม่ที่มีความแข็งแกร่งและผู้บริโภคให้การยอมรับอยู่แล้ว ไป endose กับแบรนด์ลูก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ซึ่งจะทำให้การเพิ่มบริการใหม่ ๆ ของกลุ่มพญาไท-เปาโลจากนี้ทำได้ง่ายขึ้น

สอดคล้องกับที่ "น.พ.ชาตรี" กล่าวว่า ถือเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า จากเดิมที่มีลูกค้าเข้าไปรับบริการที่ศูนย์หัวใจกรุงเทพ และรู้สึกว่าค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ก็สามารถหันมาเลือกใช้บริการได้ตามกำลังซื้อโดยที่ได้มาตรฐานเหมือนกัน

โดยเขาคาดหวังว่า ศูนย์มะเร็งของเปาโล นวมินทร์ จะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 18% ขณะที่ศูนย์หัวใจที่ ร.พ.พญาไท 3 จะมี ผู้ใช้บริการเพิ่มมากกว่า 30%

นอกจากอุดช่องว่างและเสริมความแข็งแกร่งให้แก่กันแล้ว บีจีเอชยังใช้ โรงพยาบาลพญาไท-เปาโลเป็นหัวหอก หลักในการขยายเครือข่ายไปยังพื้นที่กรุงเทพฯรอบนอก เพราะเป็นแบรนด์ที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง และประกันสังคมเป็นหลัก

ปัจจุบัน "เปาโล นวมินทร์" มุ่งจับกลุ่มลูกค้ากรุงเทพฯฝั่งตะวันออก ขณะที่พญาไท จับกลุ่มฝั่งธนฯ จากนี้ก็มีแผนที่จะขยายเครือข่ายในกรุงเทพฯให้ครบทุกมุมเมือง

"วันนี้ยังไม่ครบทุกมุมเมือง เราก็ให้เปาโลช่วยหาให้อยู่" น.พ.ชาตรีกล่าว

สำหรับตลาดต่างจังหวัด น.พ.ชาตรีระบุว่า มีแผนเปิดตัวโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่เชียงใหม่ปลายปี 2556 โดยมองไกลไปถึงการขยายลูกค้าประเทศเพื่อนบ้านของไทยตอนบน อาทิ พม่า ซึ่งเข้ามาใช้บริการในประเทศไทยค่อนข้างมาก

ในส่วนการเข้าไปสร้างโรงพยาบาลในต่างประเทศ ทางกลุ่มยังไม่มีแผนลงทุนเพิ่มจากปัจจุบันที่มีโรงพยาบาลอยู่ในกัมพูชา โดยแนวทางของบีจีเอชจะเน้นไปที่การเข้าไปรับจ้างบริหารเพื่อศึกษาตลาด และสามารถส่งต่อคนไข้เข้ามารักษาในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมามีกลุ่มสมิติเวช สุขุมวิท ก็ออกไปรับจ้างบริหารเป็นครั้งแรก

วันนี้ยักษ์ใหญ่อย่างบีจีเอชถือว่ามีความพร้อมอย่างยิ่งในการขยายตลาดไทย รวมถึงการเป็น "ฮับการแพทย์" สำหรับอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า

การรุกที่น่ากลัว เป็นระบบ และใช้ทุกสิ่งที่มีอยู่มาผนึกกำลังกันอย่าง เห็นผล

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 - 16 พ.ค. 2555