ประธานสมาพันธ์สปาไทย หวั่น พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ คลอดไม่ทันเปิดเออีซี ต่างชาติสบช่องแห่ลงทุน วิตกทำสปาไทยถูกบิดเบือน วอนรัฐเร่งผลักดันกฎหมาย-ยกระดับมาตรฐานด่วน หวังคุ้มครองสปาไทย เผยสุราษฎร์ธานีมีสถานบริการสุขภาพไม่ได้รับรองมาตรฐาน 560 แห่ง ผ่านมาตรฐานจิ๊บจ๊อยแค่ 57 แห่ง

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีสำรวจข้อมูลพบว่า ในปี 2553 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ที่ไม่ได้รับรองมาตรฐานรวม 560 แห่ง ประกอบด้วย สปา 202 แห่ง นวด 328 แห่ง นวดเสริมสวย 30 แห่ง และในปี 2555 ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2555 มีสถานบริการเพื่อสุขภาพได้รับการรับรองมาตรฐานเพียง 57 แห่งเท่านั้น

นอกจากนั้นได้ขอความร่วมมือไปยังทุกอำเภอให้สำรวจข้อมูลสถานประกอบการเพื่อสุขภาพในพื้นที่ เพื่อรองรับ พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในพื้นที่เข้าแนะนำและเชิญชวนผู้ประกอบการที่เข้าข่ายเป็นสถานที่เพื่อสุขภาพ ขอรับการรับรองมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขด้วย

นางวัลวลีย์ ตันติกาญจน์ ประธานสมาพันธ์สปาไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันสปาเพื่อสุขภาพยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้โดยตรง มีเพียงประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการประกอบการเพื่อสุขภาพ และ พ.ร.บ.สถานบริการ 2509 ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันร่าง พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรับหลักการในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีกว่าอาจทำให้กฎหมายฉบับนี้เสร็จไม่ทัน ส่งผลให้สปาไทยอาจไม่ได้รับความคุ้มครองในแง่ของความเป็นไทย และมาตรฐานวิชาชีพสปา รัฐบาลต้อง ลุกขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด

กฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญในการสร้างมาตรฐานของสปาไทย เพราะ สิ่งสำคัญของสปาไทยคือ เป็นศาสตร์ของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม การบริการด้วยภูมิปัญญาไทย กิริยามารยาทแบบคนไทย สมุนไพรไทย วัฒนธรรมไทย อาหารไทย ซึ่งเป็นอัตลักษณ์เฉพาะคนไทย และควรได้รับการคุ้มครองไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่การกีดกันทางการค้าเสรี แต่เป็นการสร้างมาตรฐานของสปาไทย เช่น กำหนดให้ผู้ประกอบการสปาไทยต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ ดังนั้นหลังการเปิด AEC แล้ว ชาวต่างชาติมีสิทธิ์เข้ามาเปิด สปาในไทย แต่ต้องได้รับใบประกอบวิชาชีพจากทางการไทย

ปัจจุบันธุรกิจสปาเปิดกันทั่วไปโดยไม่มีอะไรมากำหนดในเรื่องมาตรฐาน ส่วนการรับรองมาตรฐานเป็นแบบสมัครใจ ไม่มีผลทางกฎหมาย ถ้ายังเป็นเช่นนี้ต่อไปจนถึง วันที่ 1 มกราคม 2558 คนต่างชาติจะ เข้ามาเปิดสปาในไทยได้โดยไม่ต้องมีมาตรฐานอะไรมารองรับ และไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพก็สามารถเปิดบริการสปาได้

สำหรับการเปิดเออีซีเป็นโอกาสที่ สปาไทยจะออกไปสู่อีกหลายประเทศ แต่ผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้เป็นคนไทย จึงอาจไม่เข้าใจในความเป็นสปาไทย ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยสูญเสียไป

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ชาวต่างชาติจะนำความเป็นไทยไปเป็นจุดขาย เนื่องจาก ชื่อเสียงของสปาไทยสร้างมาด้วยคุณภาพ ถ้าแข่งขันกันที่คุณภาพก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่ในอนาคตจะมีการแข่งขันด้านราคามากกว่าคุณภาพ ซึ่งอาจทำให้สปาไทยถูกบิดเบือนไป ตอนนี้คู่แข่งของสปาไทยมีจำนวนมาก เช่น สปาบาหลี สปาสิงคโปร์ และสปามาเลเซีย ซึ่งมีจุดขายที่แตกต่างกัน"

นางวัลวลีย์ กล่าวว่า สปาไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ติดตลาดอยู่แล้ว โรงแรมต่าง ๆ จึงมีคำว่า รีสอร์ท แอนด์ สปาอยู่ด้วย โดยมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 15-20% ของภาคการท่องเที่ยว และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว

สำหรับเกาะสมุยได้ชื่อว่าเป็นเกาะแห่งสปา ซึ่งพยายามสร้างแบรนด์ภายใต้ชื่อ สปาไทย เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีกิจการสปาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุขเพียง 85 แห่ง และมีสถานประกอบการที่ใช้ชื่อว่า รีสอร์ท แอนด์ สปา กว่า 150 แห่ง โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุข เพราะยังไม่มีกฎหมายออกมาควบคุม ซึ่งสถานบริการบางแห่งที่ใช้ชื่อว่า สปา แต่ให้บริการทางเพศแอบแฝงอยู่ อย่างไรก็ตามขณะนี้ธุรกิจสปายังขาดแคลนแรงงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นแรงงานฝีมือ

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 - 16 พ.ค. 2555