เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.ไทยโพสต์ (แทบลอยด์) วันที่ 6 มีนาคม 2554 หน้า 5
ผลวิจัยของ นายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชี้ให้เห็นว่า สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนด้อยกว่าระบบอื่น (เกือบ) ทุกด้าน
"งานวิจัยทำเฉพาะเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ใน 3 ประเด็น ส่วนที่หนึ่ง-เราดูขอบเขตและเงื่อนไข เปรียบเทียบ 2 ระบบ ประเด็นที่สองคือ ดูความแตกต่างว่าระบบไหนมี ระบบไหนไม่มี ประเด็นที่สาม-เราดูเรื่องสิทธิประโยชน์เหมือนกัน แต่การบริหารจัดการแตกต่างกัน คือได้สิทธิ์เหมือนกัน เช่น ได้ยาเหมือนกันแต่การจัดการต่างกัน คนไข้เข้าถึงได้ต่างกัน เราก็ไล่เรียงตั้งแต่อันแรกคือเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ เช่น ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบก่อน 3 เดือนถึงจะได้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล อย่างเช่นคลอดบุตร ต้องจ่ายเงินสมทบไปแล้ว 7 เดือน มันเป็นเงื่อนไขที่มีความต่าง ซึ่งผู้ประกันตนต้องเรียกร้องสิทธิ์ตรงนี้ คือเขาควรจะทำงานแล้วสมทบเดือนแรกควรจะได้สิทธิ์เลย เปรียบเทียบทั้ง 2 ระบบมีข้อดี-ข้อเสีย ไม่ได้หมายความว่าประกันสังคมไม่ดีเลย ประกันสังคมก็มีดี บัตรทองก็มีดี แต่ว่าโดยภาพรวมแล้วเราสรุปว่าตอนนี้บัตรทองดีกว่า"
"ผมขอพูดถึงความเหลื่อมล้ำก่อน วันนี้คนไทย 65 ล้านคนมีคนกลุ่มเดียว 9.4 ล้านคนที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล คือระบบหลักประกันสุขภาพมีอยู่ 4 อัน บัตรทอง 47 ล้านคน ข้าราชการประมาณ 5 ล้านคน ประกันสังคมประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ 9 ล้านกว่าคน กลุ่มที่ 4 คือสิทธิ์อื่นๆ เช่น ส.ว., ส.ส., องค์กรอิสระ ลองมาดูค่าใช้จ่ายต่อหัว ซึ่งอันนี้เป็นความเหลื่อมล้ำที่หลายคนไม่รู้ จะเห็นว่ามีกลุ่มเดียวที่จ่ายเงินสมทบคือประกันสังคม ขณะที่กลุ่มอื่นๆ เช่น ส.ว., ส.ส. เขามีเงินสมทบหัวละ 20,000 บาทต่อปี ศาลรัฐธรรมนูญได้ปีละ 38,000 บาทต่อคนต่อปี ให้บริษัทเอกชนบริหาร รัฐบาลจ่ายผ่านโรงพยาบาล สิทธิ์ข้าราชการได้เดือนละประมาณ 12,000 บาท"
"ทำไมคนกลุ่มนี้กลุ่มเดียวที่ต้องจ่าย ถ้าจ่ายมันต้องจ่ายเหมือนกันหมด ถ้าฟรีมันควรฟรีเหมือนกันหมด นี่คือโจทย์ที่ตั้งไว้อันแรกเลย แต่โจทย์นี้อาจจะไม่ค่อยมีใครได้ยินเท่าไหร่ โจทย์ต่อไปคือ ถ้าคุณจ่ายคุณก็ควรได้สิ่งที่ดี แต่วันนี้คุณได้สิ่งที่ดีจริงหรือเปล่า เรามองเห็นความเหลื่อมล้ำของระบบ เมื่อเปรียบเทียบว่าคุณต้องจ่ายแล้วปรากฏว่าได้สิ่งที่ด้อยกว่าของฟรี มันก็น่าเจ็บใจนะ ทำไมคนเหล่านี้ต้องจ่าย วันนี้ลูกจ้างเขาไม่ควรต้องจ่ายแล้ว อย่างประเด็นง่ายๆ เรื่องทันตกรรม ประกันสังคมจ่าย 300 บาท 2 ครั้ง ไม่เกิน 600 บาทต่อปี ขูด ถอน อุด ไม่แน่ใจว่าใครไปทำฟันทั้งปีจะใช้เงินแค่ 600 บาท หรืออย่างการเข้ารักษาฉุกเฉิน กรณีที่ไม่สามารถไปใช้บริการในโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ ประกันสังคมให้สิทธิ์ 2 ครั้งต่อปี บัตรทองเดิมก็เป็นแบบนี้ แต่ตอนนี้เขาปรับปรุงไม่จำกัดจำนวนครั้งแล้ว"
"กรณีฆ่าตัวตายประกันสังคมก็ไม่จ่าย บัตรทองจ่าย เพราะเราถือว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย การบำบัดผู้ติดยาเสพติด บัตรทองมีการให้ยาเมทาโดนในการบำบัดกลุ่มนี้ แต่ประกันสังคมไม่ให้ หรือกรณีมาตรา 41 การคุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ บัตรทองให้ เสียชีวิตได้ 2 แสน สูญเสียอวัยวะได้ 1.2 แสน บาดเจ็บได้ 5 หมื่น แม้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่ออกมา แต่บัตรทองมีการช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว ประกันสังคมดูแลจนถึงอายุ 60 ปี จากนั้นจะเด้งไปสู่บัตรทอง ยกเว้นกรณีที่ทำงานต่อหรือจ่ายเงินต่อ หมายความว่าเงินที่เขาจ่ายมาในช่วงก่อน 60 ปีจะไม่ค่อยได้ใช้เพราะไม่ค่อยป่วย ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลมันจะไปอยู่ช่วงท้ายๆ ของชีวิต จะเริ่มเจ็บป่วยเมื่ออายุมากขึ้น เงินที่จ่ายไปในกองทุนประกันสังคมไม่ได้ถูกใช้เลย พอถึงเวลาจะต้องใช้ต้องไปขอเอาจากบัตรทอง"
"ปกติเรื่องการดูแลสุขภาพมีอยู่ 4 ส่วน ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพ เป็น 4 ส่วนที่จะต้องดูแลคนคนหนึ่ง วันนี้ประกันสังคมยังดูแค่รักษาพยาบาล ถ้าอะไรเป็นเรื่องส่งเสริมสุขภาพ อะไรเป็นเรื่องป้องกันโรค อะไรเป็นการฟื้นฟู ประกันสังคมไม่ให้ บัตรทองเป็นผู้ดูแล 9.4 ล้านคนแทนประกันสังคม ซึ่งงบประมาณที่จะดูแลคนเหล่านี้ไปอยู่ที่บัตรทอง และลองนึกสิครับบัตรทองเพิ่งมีมา 8 ปี ก่อนหน้านี้ประกันสังคมไม่ได้ดูแล 3 ส่วนนี้เลย นั่นเป็นช่องว่างใหญ่และเป็นโจทย์ว่าทำไมประกันสังคมดูแลแค่นี้ สมมติคุณต้องการที่ส่งเสริมสุขภาพ คุณต้องไปเอากับบัตรทอง ประกันสังคมไม่ให้ทั้งๆ ที่เงินเราก็จ่ายนะ"
"บัตรทองมีการบริหารจัดการยาที่ดีมาก เพราะว่ามีการจัดการยาราคาแพง ถ้าคุณป่วยปั๊บเขาส่งยาถึงโรงพยาบาล เนื่องจากเขามีความกังวลว่าคนจะเข้าไม่ถึงยา เนื่องจากว่ายาราคาแพง หน่วยบริการอาจจะไม่อยากจ่าย และมียา 15 รายการที่บัตรทองมี แต่ประกันสังคมไม่มี ยกตัวอย่างโรคหอบหืด ผู้ป่วยต้องได้ยาพ่น แต่จากข้อมูลทั้งประเทศผู้ป่วยหอบหืดมีคนเข้าถึงยาพ่นแค่ 6.7 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้บัตรทองมีการจ่ายเงินพิเศษไปที่โรงพยาบาลเลย เพื่อจูงใจให้โรงพยาบาลให้ยาพ่นกับผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ นี่เป็นกรณีตัวอย่างซึ่งประกันสังคมไม่มี ประกันสังคมบอกว่าอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว ไปเอากับโรงพยาบาล มี 15 รายการที่ประกันสังคมบอกว่า อยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัวให้ไปเอากับโรงพยาบาล มีรายการสำคัญๆ เช่น ผ่าสมอง มะเร็ง ยาของผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ยาจิตเวช เป็น 15 รายการที่อยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว ผู้ป่วยไปเอากับโรงพยาบาล แต่ว่าบัตรทองมีระบบบริหารจัดการเฉพาะ กรณีอย่างนี้อย่างนี้มันจำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการเฉพาะ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาอย่างทันท่วงที มันมีความแตกต่างกันด้านเทคนิค"
"เหมาจ่ายรายหัวก็เป็นปัญหาสำหรับประกันสังคม วิธีการจ่ายเงินที่ดีที่สุดสำหรับระบบคือ การใช้วิธีการแบบผสมผสาน ใช้หลายๆ วิธีการในแต่ละประเด็น แต่ว่าประกันสังคมยังใช้วิธีเหมาจ่ายรายหัวอยู่ คือถ้าไปดูโรงพยาบาลในยุโรป วิธีการเหมาจ่ายรายหัวจะดีเฉพาะผู้ป่วยนอกเท่านั้น เพราะอะไร-เพราะว่าเราต้องการจูงใจให้หน่วยบริการทำเรื่องส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพื่อให้เจ็บป่วยน้อย ส่วนการจ่ายแบบโรคร่วมหมายถึงคุณเอางานมาแลกเงิน เมื่อไหร่ที่โรงพยาบาลผ่าตัดไส้ติ่ง คุณส่งบิลมาบัตรทองจ่ายเงินให้ อย่างนี้เป็นต้น มันเป็นการบริหารจัดการที่ต่าง ก่อนจะเป็นระบบนี้เราก็พบปัญหาว่า การจ่ายโรงพยาบาลแบบเหมารายหัว ถ้ากรณีที่โรงพยาบาลเจอโรคแพงๆ เขาก็ลังเลที่จะจ่ายเพราะว่ายามันแพงมาก".
- 56 views