เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.ไทยโพสต์ (แทบลอยด์) วันที่ 6 มีนาคม 2554 หน้า 2

ปรัชญาของระบบประกันสังคมคือเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข แต่เมื่อระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้นในปี 2545 ก็เกิดข้อเปรียบเทียบทันทีว่าคนไทย 9.4 ล้านคนถูกเอาเปรียบ จนล่าสุด 7 สภาองค์กรนายจ้างเข้าพบผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา เพื่อร้องว่ากฎหมายประกันสังคมขัดต่อรัฐธรรมนูญ...ตลอดหลายปีมานี้แม้คณะกรรมการจะมีตัวแทนนายจ้าง-รัฐบาล-ลูกจ้าง แต่ตัวแทนฝ่ายลูกจ้างไม่แอคชั่นเท่าที่ควร ยิ่งไปกว่านั้นการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาเมื่อ 2 มี.ค.ที่ผ่านมาก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะ 'องค์ประชุมไม่ครบ'

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง ในตำแหน่งล่าสุด-โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน เรียกได้เต็มปากว่าครั้งนี้เคลื่อนไหวเพื่อตัวเอง เพราะเป็นหนึ่งในผู้ที่จ่ายประกันสังคมทุกเดือน แต่ยืนยันว่าไม่ได้เรียกร้องให้หยุดจ่าย ยกเว้นว่ามาตรฐานรักษาพยาบาลต้องเป็น 'ระบบเดียว'ระบบเดียว-เพิ่มเงินออม

"เมื่อมีการผลักดันให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องนี้ก็กลายเป็นประเด็นรอบใหญ่ มันมีหลายช่องทางที่จะต่อสู้เรื่องนี้ เพียงแต่ว่าถ้าดูแล้ว คือมาตรา 52 ก็เขียนไว้ในทำนองว่าทุกคนมีสิทธิ์ได้รับบริการขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียม ที่มีคุณภาพมาตรฐาน แต่ผู้ยากไร้มีสิทธิ์ได้รับการรักษาพยาบาลฟรี ซึ่งมันก็ต้องมาตีความตรงนั้น คือเราเขียนตั้งแต่ทำกฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2545 แล้ว เวอร์ชั่นที่เราเขียนก็คือว่าไม่เก็บเงินผู้ประกันตน ไม่เก็บเงินสมทบเรื่องสุขภาพ และเราแพ้ในชั้นแปรญัตติสภาผู้แทนราษฎรวาระที่ 2 เพราะว่าตอนนั้นประกันสังคมเขาก็กังวลว่า พ.ร.บ.หลักประกันฯ จะไปเอาเงินของเขา เขาไม่ได้ทำความเข้าใจ ซึ่งก็เลยทำให้กลายเป็นประเด็นว่าเขาไม่ยอมที่จะให้ไปเกลี่ย แต่จริงๆ มันก็มีช่องที่เขียนไว้ในมาตรา 10, 11 ของ พ.ร.บ.หลักประกันฯ ว่า คือตอนนั้นทุกคนก็บอกว่าเขียนว่าทุกปีให้มีการทบทวน ให้มีการทบทวนว่ากองทุนแต่ละกองทุนสถานภาพสถานการณ์เป็นอย่างไร แต่ว่าที่ผ่านมาไม่เคยทำสำเร็จเลย เพราะอีก 2 กองทุนไม่ร่วมมือ ก็คือประกันสังคมกับกองทุนข้าราชการ"

"จริงๆ ต้องบอกว่าขณะนี้สังคมก็เห็นว่าผู้ประกันตนเสียเปรียบ และเสียเปรียบจริงๆ ก็คือว่าหนึ่งร่วมจ่าย เยอะนะประมาณ 250 บาท สิทธิประโยชน์ก็น้อยกว่าคนอื่น ถ้าเรามาดูว่าเอ๊ะผู้ประกันตนนี่รวยเหรอ ไม่ใช่นะ ก็ต้องบอกว่าพวกเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่รู้เรื่องของคนอื่นมากกว่าเรื่องของตัวเอง อย่างเช่นดิฉันนี่แทบจะจำได้หมดว่า พ.ร.บ.หลักประกันฯ แต่ละมาตราเขียนว่ายังไง แต่ พ.ร.บ.ประกันสังคม สิทธิประโยชน์ตัวเองแท้ๆ นี่รู้น้อยมากนะ เคลื่อนเรื่องนี้ต้องบอกว่าเราเคลื่อนเรื่องตัวเองเลย เพราะพอเรามาดูแล้วโห ตายแล้ว เราอยู่มูลนิธิหรือคนทำงานบริษัท ถ้าเราไม่มีเงินเก็บนะ เราจ่ายเงินไป 15 ปี เราได้ 20 เปอร์เซ็นของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ซึ่งขณะนี้ประกันสังคมเขาจำกัดไว้ที่ 15,000 บาท 20 เปอร์เซ็นต์ก็ 3,000 บาท โหตายแน่เลย เก็บเราไปปีละ 9,000 ทุกปี เรียกว่าใครที่เงินเดือนตั้งแต่ 15,000 เสีย 9,000 ทุกคน เดือนละ 750 เป็นเรื่องสุขภาพ 250 ยังมีเรื่องชราภาพ ว่างงาน เลิกจ้าง ซึ่งดูแล้วรู้สึกว่ามันเสียหายเยอะ ก็เลยคุยกันในกลุ่มพวกเราผลักดันอยากให้มีระบบเดียว"

"ตอนนี้ประเทศก็พอมีสตางค์ เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องไม่มีสตางค์นะ แต่เราใช้สตางค์ไม่ถูกที่ถูกทาง เรามีสตางค์ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยก็รับประกันเวลาคนเจ็บป่วย ซึ่งทุกคนเกิดมาเป็นคนไทยก็ควรจะได้เหมือนกัน ว่าป่วยแล้วไปโรงพยาบาลคุณได้เท่านี้นะ ที่รัฐจ่าย ถ้าคุณอยากได้มากกว่านี้คุณก็ไปจ่ายเงินเองก็ไม่เกี่ยว อันนี้คือรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของเรา อย่างเช่นรักษาทุกโรค คุณภาพประมาณนี้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าไม่มีคุณภาพนะ คุณภาพประเภทหนึ่ง ถ้าคุณอยากนอนห้องพิเศษคุณก็จ่ายเงินเอา หลายปีที่ผ่านมาเราเห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพของสำนักงานประกันสังคม นี่พูดได้เลย พวกดิฉันช่วยเครือข่ายโรคไตเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิประโยชน์คนไข้ไตวาย หลักประกันสุขภาพเดิมก็ไม่ให้สิทธิ์คนไข้ไตวายนะ เราไปเคลื่อนกับสำนักงานหลักประกันฯ เราทำงานอยู่แค่ 3 เดือนเองมั้ง คือมันสะท้อนว่าบอร์ดมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนแค่ไหน สองเราเคลื่อนเกือบ 2 ปี และที่ได้นี่เรียกว่าแทบจะต้องไปพังประตู ไม่ใช่ว่าเขาอยากจะให้ คุยครั้งแรกเขาก็เกือบถูกพวกเราลุย แต่ละคนนี่พูดจาคล้ายๆ กับว่าคุณไม่รู้หรอกว่าผู้ป่วยที่เป็นคนไข้ไตวายแอบมาใช้ ตัวเองเป็นเจ้าของกิจการมาใส่ชื่อเป็นลูกจ้าง เขาไม่ได้มีมิติความคิดว่าคนมันทุกข์ยากถึงขนาดที่จะต้องหาทางรักษาพยาบาลตัวเอง และก่อนหน้านั้นก็จะไม่ให้สิทธิ์คนที่ป่วยก่อนเข้าทำงาน สมมติดิฉันเป็นไตวายก่อนเข้ามาทำงานมูลนิธิฯ ก็ไม่ได้สิทธิ์รักษา ซึ่งเราก็บอกว่าตอนนี้บัตรทองเขาก็รับรองแล้ว เพราะฉะนั้นมันก็ไม่มีคนหนีมาเข้าประกันสังคมแบบนี้อีกแล้ว ผ่านมาเกือบ 2 ปีเขา ถึงได้ปรับ มันสะท้อนถึงประสิทธิภาพนะ สองสะท้อนถึงความไม่เอาใจใส่ของสำนักงานเองที่อาจจะเรียกได้ว่าเขาไม่ได้ป่วยเขาเลยไม่สนใจ เนื่องจากว่ากฎหมายประกันสังคมเกิดก่อนที่จะมีกฎหมายหลักประกันฯ สมัยนั้นก็ถือว่าก้าวหน้ามากเมื่อปี 2533 แต่พอเรามีกฎหมายหลักประกันฯ สำนักงานประกันสังคมก็ควรจะมองว่าขณะนี้มันมีใครเสียประโยชน์ ดังนั้นตอนนี้คิดว่าผู้ประกันตนควรจะลุกขึ้นมา เพราะเห็นแล้วว่าจ่ายเงิน แต่ยังเสียประโยชน์"

อาจเพราะบอร์ดประกันสังคมมีตัวแทนวิชาชีพด้านสาธารณสุขน้อยไป

"ผู้ประกอบวิชาชีพก็มี มีกรรมการการแพทย์ที่มีแพทย์ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย แต่ว่ามันถูกครอบงำโดยโรงพยาบาลเอกชนเป็นส่วนใหญ่ กรรมการแพทย์เขาส่วนใหญ่เป็นกรรมการจากโรงพยาบาลเอกชน และเป็นกรรมการที่เรียกว่าไม่มีวิชาชีพอื่นเลย บอร์ดก็เป็นสัดส่วน 1 ใน 3 เป็นลูกจ้าง นายจ้าง แต่จะเห็นว่าส่วนลูกจ้างก็ดูเหมือนจะไม่ใช่ตัวแทนลูกจ้าง อย่างเช่นเราไปยื่นจดหมายเราไปคุยกับเขา วันที่ไปชุมนุมเรียกร้องเรื่องคนไข้ไตวาย เกือบชกกันกับคนไข้ เราเรียกเขามาฟังว่านี่คือความทุกข์ของลูกจ้าง เขามาอธิบายเป็นฉากๆ เลยนะ พวกเราบอกว่าเราไม่ได้มาฟังว่าคุณทำหน้าที่อะไร เรามาเพื่อบอกถึงความทุกข์ของผู้ป่วยไตวาย คือบทบาทที่เหมือนไม่ได้เป็นตัวแทนลูกจ้างมันก็เลยทำให้ระบบล้าหลัง ตามไม่ทันระบบอื่น หนึ่งไม่มีประสิทธิภาพ ลองคิดดูว่าการที่เขาจะเปลี่ยนสิทธิประโยชน์แต่ละอย่างมันต้องใช้เวลานานแค่ไหน ขนาดเขาบอกว่าจะทำให้สิทธิประโยชน์ทุกอย่างเท่ากับบัตรทองภายในวันที่ 2 มี.ค. แต่กลับยังประชุมไม่ได้เลย"

"ขณะนี้เขาควรจะเลิกคิดว่าปัญหาตอนนี้สิทธิประโยชน์ไม่ครบไม่เท่าระบบอื่น ไม่ใช่ ถ้าดิฉันเป็นบอร์ดประกันสังคมจะขอเลยว่าต้องหยุดทำเรื่องสุขภาพ เพราะดิฉันอาย อายที่บริหารยังไงที่ทำให้สิทธิประโยชน์ด้อยกว่าคนอื่น ทั้งๆ ที่คุณน่าจะมีโอกาสทำให้มันดีกว่าคนอื่น ขณะนี้ก็ยังสะท้อนว่าคุณประชุมกันไม่ได้ มันสะท้อนประสิทธิภาพอย่างแรงของสำนักงาน ดิฉันไม่ได้โทษกรรมการนะ เป็นประสิทธิภาพการบริหารงานขององค์กร"

รัฐจึงควรอุดหนุนในเรื่องสุขภาพ-รักษาพยาบาลให้เป็นระบบเดียวกัน

"มันต้องยอมรับว่าเรื่องสุขภาพคนไทยทุกคนควรจะฟรี และอยากเห็นว่าเงิน 250 บาทของเราเอาไปสมทบเงิน 3,000 ในอนาคต ไปอยู่ในกองทุนชราภาพ คิดว่าทุกคนยินดีจ่าย เพราะนี่คือการสะสมในอนาคตของเรา และผู้ประกันตนมีจุดเสียเปรียบอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราดูกฎหมายขณะนี้เรื่องการออมแห่งชาติ กฎหมายการออมแห่งชาติไม่อนุญาตให้ผู้ประกันตนออม เพราะเขาถือว่าเรามีการออมชราภาพตรงนี้แล้ว ซึ่งที่จริงมันคือ 3,000 ต่อเดือนนะ เงิน 3,000 ตอนคนเกษียณมันจะมีความหมายอะไร วันละ 100 กับตอนที่เราอายุ 60 ถ้ามันเป็น 3,000 สักเมื่อ 20 ปีที่แล้วอันนั้นโอเค และหลัง 60 เราก็ไม่มีสิทธิ์ใช้เงินที่เราจ่ายสมทบมา เจ็บป่วยโอนไปใช้บัตรทอง ต้องบอกว่านี่คือขุมทรัพย์ของโรงพยาบาลเอกชนนะ มันมีตัวเลขจากผู้ประกันตนปัจจุบัน 9.4 ล้านคน พบว่าประกันสังคมมีผู้ป่วยนอก 2.26 บัตรทอง 2.977 และผู้ป่วยในสำหรับระบบประกันสังคม 0.049 ขณะที่บัตรทองเขามีผู้ป่วยในมากกว่า อยู่ที่ 0.112 จะเห็นว่าอัตราการใช้บริการของหลักประกันสุขภาพฯ สูงกว่าประกันสังคมมาก ผู้ป่วยในของประกันสังคมน้อยกว่าบัตรทอง 2.3 เท่า มีภาระน้อยกว่าบัตรทองตั้งเยอะ"

แต่ทุกปีจะมีโรงพยาบาลเอกชนขอออกนอกระบบประกันสังคม

"อันนี้ต้องวิเคราะห์นะ และเราเชื่อว่าถ้ามันทำให้เป็นระบบเดียว เราจะมีอำนาจต่อรองกับโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยแทบจะไม่รับผิดชอบกับชีวิตของคนไทยเลยนะ หนึ่งโรงพยาบาลเอกชนที่ขอออกนอกระบบ เพราะเขาอยากรับคนไข้ต่างประเทศ เขาอยากรับคนไข้เงินสด แต่ถ้าระบบมันเป็นระบบเดียว ใครๆ ก็ง้อ เพราะคุณดูแลคนไข้ต่างประเทศอย่างเดียว คุณไม่พออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันยิ่งเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับบัตรทอง หรือคนจนควรจะมีสิทธิ์เดินเข้าโรงพยาบาลเอกชนบ้างในฐานะที่เขาเกิดมาเป็นคนไทย ถ้ามันทำให้เป็นระบบเดียว เราเชื่อว่ามีอำนาจต่อรอง หรือถ้าไม่เป็นระบบเดียวก็ควรมีสิทธิประโยชน์เท่ากัน โอเคข้าราชการคุณบอกว่าคุณทำงานให้หลวง คุณเป็นลูกจ้างรัฐ คุณจะได้นอนห้องพิเศษเราไม่ว่า แต่ผ่าตัดไส้ติ่งเรา คุณผ่าข้าราชการแบบไหนก็ต้องผ่าเราแบบนั้น มาตรฐานเดียวกัน บัญชียาเหมือนกัน หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชีทุกระบบก็ควรมีสิทธิ์ใช้ยานั้นถ้ามีความจำเป็น และถ้าเราดูจำนวนส่วนมากของผู้ประกันตนอายุจะน้อย เป็นวัยทำงาน อายุเกิน 40 จะแค่ 19 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้น 85 เปอร์เซ็นต์เรียกว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยป่วย แต่พอถึงวัยป่วยก็ต้องไปใช้ระบบอื่น ถามว่าโรงพยาบาลเอกชนจะขาดทุนได้ยังไง"

"นอกจากเรื่องสิทธิประโยชน์แล้ว อีกเรื่องหนึ่งคือเราอยากเห็นการบริหารจัดการของสำนักงานประกันสังคมเป็นอิสระ เราไม่ได้คิดว่าเอาเรื่องสุขภาพออกไปแล้วสำนักงานประกันสังคมต้องยุบนะ คุณยังต้องทำอีก 7 สิทธิประโยชน์ที่ใหญ่ๆ คือเอาเรื่องสุขภาพออกไปอย่างเดียว เรียกว่าเราไม่อยากโง่เสียตังค์ต่อไปอีก บังคับเราด้วย เราไม่เสียก็ผิดกฎหมาย เราขอให้เอาเงินส่วนนี้มาทำเรื่องอื่น"

การเคลื่อนไหวของชมรมคือไม่ได้เรียกร้องว่าให้ลูกจ้างหยุดจ่าย ยังคงจ่ายสมทบเหมือนเดิม แต่ย้ายจากค่ารักษาเป็นสมทบชราภาพ ขณะที่ร่างแก้ไขที่อยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไม่มีสาระในส่วนนี้เลย

"นอกจากไม่มีแล้วยังจะทำให้ผู้ประกันตนเสียเปรียบมากขึ้น แทนที่เขาจะเอาพ่อแม่มาใช้สิทธิ์รักษา แต่เอาสามี-ภรรยา-บุตร ก็คือเอาคนที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยน้อยมาอีก ก็แปลว่าบัตรทองรับภาระผู้สูงอายุต่อไป แทนที่จะเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขทุกระบบ เลยคิดว่าถ้าร่างแบบนี้เป็นร่างฝีมือโรงพยาบาลเอกชน คือต้องให้สำนักงานประกันสังคมเป็นอิสระ บริหารจัดการเป็นอิสระ แต่อาจจะต้องยอมรับว่าบางทีก็เป็นคนในสำนักงานประกันสังคมนั่นแหละ แต่เมื่อเป็นอิสระแล้วการแทรกแซงจากทางราชการน้อยลง เช่น จากกระทรวงแรงงาน โครงสร้างอาจจะเป็นแบบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ได้นะ มีบอร์ดที่ดี มีวิชาชีพเข้าไป มีตัวแทนลูกจ้าง ที่จริงนายจ้างลูกจ้างก็ควรจะร่วมมือกัน เพราะเข้าไปเพื่อไปทำสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้างนะ และต้องมาดูว่ากรรมการเป็นกลุ่มที่มีลูกจ้างจากหลาย sector ไม่จำเป็นต้องเป็นสภาองค์กรลูกจ้างทั้งหมด สำนักงานเป็นอิสระบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ มีกลไกการตรวจสอบที่ดี และดูเรื่องการใช้เงินด้วยว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน"

หนึ่งในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม มีเรื่องการปรับโครงสร้างเป็นองค์กรอิสระด้วย

"แต่โครงสร้างกรรมการยังไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไหร่ แต่ไม่ใช่มีเฉพาะร่างของรัฐบาลนะ ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันจะสามารถรวมกันได้ไหม ที่สำคัญคือเวลาคุณรับหลักการกฎหมาย คุณรับหลักการกฎหมายฉบับไหน และถ้าคุณไปแก้หลักการ คุณแก้ไม่ได้เลยนะ ถ้าคุณรับหลักการแบบหนึ่ง นั่นก็คือรับหลักการร่างรัฐบาล พอไปวาระ 2, 3 หลัก การมันต้องไม่แก้เพราะคุณรับหลักการแบบนั้น ถ้าไปแก้ก็จะเป็นปัญหา ยกเว้นแก้ถ้อยคำนิดหน่อย ที่น่าห่วงคือ ขั้นตอนการทำกฎหมายในประเทศไม่ก้าวหน้านะ อย่างดิฉันทำกฎหมายองค์กรอิสระผู้บริโภค มี ส.ส.บางคนไม่เคยมาประชุมเลย มาถึงไม่รู้มาจากไหน ผมขอสงวนมาตรานี้ และหลังจากนั้นไม่มาประชุมอีกเลย เรียกว่ามีใบสั่งให้มาสงวนไว้"

"ระบบสุขภาพเราขณะนี้เป็นระบบที่มันบิดเบี้ยวมากนะ ผู้ประกันตนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนแทบจะไม่ได้ใช้สิทธิ์ประกันสังคมเลย เพราะเขาจะมีประกันอีกชุดหนึ่ง cover อยู่ แต่ว่ากฎหมายบังคับให้ต้องจ่ายประกันสังคมทั้งหมด มันควรจะมาทบทวน สังคมไทยเราพูดเรื่องความเป็นธรรม เรื่องความเหลื่อมล้ำ มันมีแต่น้ำลาย ไม่ยอมเอามาเป็นแนวปฏิบัติจริงๆ และเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องยากเลย เราไม่ทำให้เป็นรูปธรรม ว่ารูปธรรมที่มันสะท้อนความเหลื่อมล้ำจะเป็นยังไง"

"อย่างผลวิจัยของหมอพงศธร ที่เปรียบเทียบว่าประกันสังคมด้อยกว่าระบบอื่นตรงไหน มันควรจะทำทันทีเลย ไม่ต้องไปรอว่ากรรมการแพทย์ บอร์ดประกันสังคมควรจะตัดสินใจเลยว่า มติการประชุมต้องทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียม ไม่ใช่มาเที่ยวโต้ว่าหมอพงศธรพูดผิด ทั้งที่ความจริงมันเป็นแบบนั้น ลัดขั้นตอนได้เลย ทำจดหมายไปถึงกรรมการแพทย์ได้เลย ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คุณไม่ต้องพิจารณา เพราะเป็นเรื่องที่ผู้ประกันตนเสียเปรียบ ถ้ามันจะมีประสิทธิภาพมันต้องสะท้อนแบบนี้ แต่นี่คิดดูสิขนาดประชุมยังประชุมไม่ได้ ฉะนั้นหมดเวลาที่จะให้ผู้ประกันตนอยู่กับประกันสังคมในเรื่องสุขภาพ และอยากเห็นเขาไปทำเรื่องสวัสดิการเรื่องอื่นๆ ให้ดี เช่น เราก็ไม่ควรจะคิดว่า เฮ้ย-ผู้ประกันตนเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ออมเงิน ซึ่งเขาควรจะไปช่วยแรงงานนอกระบบ พวกเกษตรกร คนที่เขาอยากออมเงิน อยากมีสวัสดิการของตัวเอง อย่างสมมติดิฉันเป็นลูกจ้างเย็บผ้าอยู่บ้าน ถ้าไม่ใช้มาตรา 39 ที่จะประกันตัวเอง เขาก็ควรจะคิดว่ามีระบบแบบไหนจะเข้าไปช่วยกลุ่มนี้ได้ ถ้าสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระเขาก็จะหาลูกค้าได้ ไม่ใช่ว่าบริหารแบบแข็งตัวมาก ต้องยืดหยุ่น สำนักงานประกันสังคมควรจะเป็นกลไกหลักในการทำสวัสดิการทางสังคมในส่วนอื่นๆ เช่น ชราภาพ เสียชีวิต ว่างงาน เลิกจ้าง ทำให้มีประสิทธิภาพได้เลย

"หรืออย่างเช่น คุณควรจะเปลี่ยนเพดานการเก็บเงิน ขณะนี้คิดว่า 15,000 เป็นเงินเดือนขั้นต่ำเป็นส่วนใหญ่แล้ว เพื่อจะทำให้เขามีสิทธิประโยชน์ในอนาคตมากกว่านี้ แต่ว่าที่ผ่านมาคุณไม่ได้โชว์เลยว่า ถ้าเราส่งเงินให้คุณเยอะแล้วเราจะได้สิทธิประโยชน์คุ้มไหม ซึ่งตอนนี้พวกเราก็เคลื่อนอยู่อีกเรื่องหนึ่งนะ ก็คือเรื่องบำนาญประชาชน คือเราก็สนับสนุนรัฐบาลนะที่จ่าย 500 บาทให้ทุกคน แต่เราคิดว่า 500 บาทมันน้อยกว่าเส้นความยากจน เส้นความยากจนมันมีอยู่ที่ประมาณ 1,500 เราคิดว่าจริงๆ และเราคิดว่าควรจะช่วยสักประมาณ 1,500 แต่ว่าจะเอาเงินมาจากไหน-ก็ต้องหาเงินหละ แต่พอมีอันนี้แล้วก็เดี๋ยวจะไม่ให้ประกันสังคมอีก ประเทศมันควรจะออกแบบว่าความเท่าเทียมของทุกคนในเรื่องสำคัญแบบนี้ ระบบมันควรจะเป็นแบบไหนยังไง"

"ตอน สปสช.ออกมาเรื่องสิทธิประโยชน์ เขาไม่ต้องคิดเลยนะ เขาบอกว่าเขาเอาเท่ากับประกันสังคม แต่ว่าเขาเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการอยู่ตลอดเวลา เช่น เขาไม่ได้ใช้ capitation แบบประกันสังคม เขาเปลี่ยน capitation คู่กับการจ่ายต่อกลุ่มโรค การจ่ายแจกเป็นคนไข้ใน คนไข้นอก แยกเป็นกลุ่มฉุกเฉิน มันก็ทำให้เขามีปัญหาน้อยลง เราเคยมีเคสร้องเรียนที่คลาสสิกมากเลยนะ เป็นไข้แล้วก็ไปให้ข้อมูลโรงพยาบาลเอกชนที่เขาลงทะเบียนว่าไปป่ามาขอตรวจมาลาเรีย ไม่ได้ตรวจ ไปโรงพยาบาลเดิมที่เป็นประกันสังคม 3 ครั้ง ก็ได้แต่ยาลดไข้กลับบ้าน สุดท้ายก็เลยตัดสินใจไปตรวจอีกที่หนึ่ง ก็พบว่าตัวเองเป็นมาลาเรีย แต่ขณะที่อีกระบบหนึ่งคุณเป็นหวัดได้ยาประมาณ 19 รายการ เราอยากมีระบบแบบนี้เหรอ แม้กระทั่งคนที่เขาได้ยา 19 รายการ เขาก็ไม่ได้แฮปปี้หรอก เขารู้สึกว่ามันมากเกินไป นี่ก็คือปัญหาของระบบการจ่ายเงินที่ต่างกันของระบบบริการ 3 แบบในปัจจุบัน ถ้าโรงพยาบาลจ่ายยามาก คุณได้เงินมาก นี่คือระบบข้าราชการ เขาก็อยากจ่ายยา ยิ่งรักษาเท่าไหร่ยิ่งได้เงินเท่านั้น แล้วอย่างนี้มันจะทำให้เกิดความเป็นธรรมความเท่าเทียมได้ยังไง-ไม่มีทาง ฉะนั้นคิดว่าระบบการจ่ายเงินทุกระบบแยกเป็น 3 ระบบก็ได้นะ แต่ทำให้ระบบการจ่ายเดียวกัน รับรองเราได้คุณภาพเหมือนกัน"

"มันมีข้อโต้แย้งว่านิ้วเรายังไม่เท่ากันเลย แต่ดิฉันคิดว่าเรื่องสุขภาพเราไม่เคยมีสิทธิ์เลือกเลยนะว่าเราจะไม่ผ่าตัด มันเลือกไม่ได้ มันเป็นการตลาดที่ไม่สมดุลเลย และยิ่งเรามีหลายระบบแบบนี้ความขัดแย้งระหว่างหมอ-คนไข้ก็จะยิ่งมาก คนไข้ก็รู้สึกว่า เฮ้ย-ทำไมคนนั้นได้รักษาดีกว่าฉัน เรื่องสุขภาพมันเป็นเรื่องอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันเลยนะ เราไม่ได้สนใจเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องรักษาพยาบาลนะ ห้องพิเศษเราไม่สนใจ แต่เราสนใจว่าถ้าเราเป็นไส้ติ่งก็รักษาไส้ติ่งเรา ไม่ว่าเราจะเป็นข้าราชการ เป็นประกันสังคมหรือบัตรทอง ถ้ายานี้จำเป็นก็ใช้ยานี้กับเรา สิ่งที่เราคิดว่าระบบมันควรจะมีคือ 1.ทำให้มาตรฐานการรักษาพยาบาล เป็นมาตรฐานเดียว ยาก็มีบัญชีรายการเดียว ถ้ามาโรงพยาบาลนี้คุณได้ยาแบบนี้-ไม่ใช่ ข้าราชการเอายาไปทิ้งไว้ที่บ้านเป็นกองเลย เพราะว่านัดมา 2 เดือน แต่ให้ยาไป 3 เดือน เพราะโรงพยาบาลอยากได้เงิน"

การผลักดันเรื่องนี้ผ่านการเมืองอาจจะไม่ได้ผลเท่ากฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

"ก็ต้องบอกว่าเรื่องหลักประกันคุณทักษิณได้เสียงไปแล้ว พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ทำให้ค่าหัวเพิ่มเท่าไหร่ จริงๆ รัฐบาลประชาธิปัตย์มาทำให้ค่าหัวบัตรทองเพิ่มขึ้นนะ เพราะสมัยคุณทักษิณอยู่แค่ 1,400 ตอนนี้ 2,500 แล้ว แต่ถามหน่อยว่าประชาธิปัตย์ได้คะแนนไหม เพราะฉะนั้นเราคิดว่ามันต้องกล้าหาญถ้าจะทำอะไร พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ก็เป็นหมอกลุ่มเดิมมาค้านมาตรา 41 ถ้าคุณอภิสิทธิ์ฟันธงเดินหน้านะครับ กล้าไหมล่ะ กล้าอธิบาย กล้าเดินหน้า กล้าตัดสินใจ เราคิดว่าตอนนี้คุณจะได้เลยนะ 9.4 ล้านคน ได้คะแนนจากผู้ประกันตนเลย ถ้าทำให้เขามีเงินออมมากขึ้นทำไมคนจะไม่รัก เรื่องนี้ประกันสังคมไม่ต้องทำอะไรเลยนะ แค่เก็บ 250 บาทสะสมไว้เรื่อยๆ ถ้าพูดแบบเป็นธรรมกับคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งเคยเสนอตั้งแต่ตอนทำกฎหมาย เนื่องจากคุณอภิสิทธิ์เป็นกรรมาธิการด้วยกันในช่วงนั้น ทำ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คุณอภิสิทธิ์เสนอว่าให้โอกาสผู้ประกันตนเป็นคนเลือก ไม่ใช่มามัดมือชกแบบนี้ เช่น มีสิทธิ์ว่าจะเลือกไปอยู่บัตรทองแล้วเอา 250 บาทเป็นบำนาญ หรือใครแฮปปี้ที่จะอยู่แบบนี้คุณก็อยู่ไป ไม่ต้องมาบังคับกัน".

ขณะนี้ประกันสังคมควรจะเลิกคิดว่าปัญหาสิทธิประโยชน์ไม่ครบไม่เท่าระบบอื่น ไม่ใช่แล้ว บอร์ดประกันสังคมควรจะต้องหยุดทำเรื่องสุขภาพ เพราะบริหารอย่างไรทำให้สิทธิประโยชน์ด้อยกว่าคนอื่น ทั้งๆ ที่คุณน่าจะมีโอกาสทำให้มันดีกว่าคนอื่น...นอกจากเรื่องสิทธิประโยชน์แล้วอีกเรื่องหนึ่งคือ เราอยากเห็นการบริหารจัดการของสำนักงานประกันสังคมเป็นอิสระ ไม่ได้คิดว่าเอาเรื่องสุขภาพออกไปแล้วสำนักงานประกันสังคมต้องยุบ คุณยังต้องทำอีก 7 สิทธิประโยชน์ที่ใหญ่ๆ แต่เอาเรื่องสุขภาพออกไปอย่างเดียว เรียกว่าเราไม่อยากโง่เสียเงินต่อไปอีก

ทำไมคนกลุ่มนี้กลุ่มเดียวที่ต้องจ่าย ถ้าจ่ายมันต้องจ่ายเหมือนกันหมด ถ้าฟรีมันควรฟรีเหมือนกันหมด นี่คือโจทย์ที่ตั้งไว้อันแรก โจทย์ต่อไปคือถ้าคุณจ่ายคุณก็ควรได้สิ่งที่ดี แต่วันนี้คุณได้สิ่งที่ดีจริงหรือเปล่า เรามองเห็นความเหลื่อมล้ำของระบบ เมื่อเปรียบเทียบว่าคุณต้องจ่ายแล้วปรากฏว่าได้สิ่งที่ด้อยกว่าของฟรีมันก็น่าเจ็บใจนะ ทำไมคนเหล่านี้ต้องจ่าย วันนี้ลูกจ้างเขาไม่ควรต้องจ่ายแล้ว