ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ร่วมแลกเปลี่ยนวงประชุม UHosNet  สะท้อน 3 ความท้าทายขับเคลื่อน “30 บาทรักษาทุกที่” เน้น ปชช. เข้าถึงบริการสะดวกขึ้น – หน่วยบริการเบิกจ่ายชดเชยรวดเร็ว ชี้ทุกฝ่ายต้องรับมือการปรับตัวของหน่วยบริการ – ทำข้อมูลให้มีมาตรฐาน – คุมงบบัตรทอง

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567 นพ.การุณ คุณติรานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลในเวทีเสวนาหัวข้อ “30 บาทรักษาทุกที่ Stakeholder Discussion ปัญหา การแก้ไข และความร่วมมือ” ในการประชุมเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ครั้งที่ 83  Theme : We’re Strong Together ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 8 มี.ค. 2567 เพื่อสะท้อนเป้าประสงค์และความท้าทายของ สปสช. ในฐานะกลไกทางการเงิน ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว 

นพ.การุณย์ กล่าวว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวนั้น มองว่ามีวัตถุประสงค์หลัก คือ 1.ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น สะดวกรวดเร็ว และลดความแออัดในโรงพยาบาล 2. สนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอต่อหน่วยบริการ ซึ่งขับเคลื่อนนี้ที่จ่ายชดเชยค่าบริการไม่ใช่มาจากงบเหมาจ่ายรายหัว แต่เป็นงบกลางที่ได้รับเพิ่มเติมจากรัฐบาล ซึ่งปี 2568 อาจจะต้องของบกลางเพิ่มเติมเช่นกัน นอกจากนี้ สปสช. ให้มีการจ่ายชดเชยหน่วยบริการรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้หน่วยบริการมีการทำข้อมูลเร็วขึ้นและเป็นปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งกับหน่วยบริการและประชาชน สปสช.  

3. เพิ่มประสิทธิภาพระบบเบิกจ่ายของ สปสช. เนื่องจากเมื่อมีการเบิกจ่ายชดเชยที่รวดเร็วขึ้น จึงมีความกังวลว่า อาจมีการหาช่องทางจากความเปลี่ยนแปลงนี้ไปใช้ในทางที่ผิด จึงได้นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาสนับสนุนการตรวจสอบก่อนจ่ายมากขึ้น 

นพ.การุณย์ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อที่ 4. เป็นการสนับสนุนให้เกิดการสร้างระบบข้อมูลสุขภาพระดับประเทศ โดยสปสช.สนับสนุนให้เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผ่านระบบ Financial Data Hub (FDH) ของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้เกิดการบูรณาการระบบข้อมูลสุขภาพของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์หรือสังกัดอื่นๆ ส่วนใหญ่จะไม่ได้เบิกจ่ายผ่านระบบ FDH แต่จะผ่านระบบ Heath Link หรืออื่นๆ ส่วนนี้เป็นโจทย์ต้องมาร่วมคิดกันว่าจะทำอย่างไร ในการสร้างฐานข้อมูลที่สามารถรองรับโรงพยาบาลทุกสังกัด และข้อมูลนั้นทันต่อสถานการณ์ 

“เดิมหน่วยบริการสังกัด สธ. สามารถส่งเบิกจ่ายได้ 2 ทาง คือ e-claim ของ สปสช. และ FDH ของ สธ. แต่ในเวลานี้ยังเป็นการใช้ e-claim เป็นหลัก แต่ สปสช. เราก็ไม่ต้องการที่จะให้เป็นภาพนั้น ซึ่งในวันนี้ท่านเลขาธิการ สปสช. กับ ท่านปลัด สธ. ก็ได้มีการทำ MOU ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขกันแล้ว คาดว่าตั้งแต่ 1 เม.ย. 2567 เราจะปิดระบบ e-claim สำหรับหน่วยบริการในสังกัด สธ.” ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. กล่าว 

นพ.การุณย์ กล่าวย้ำเพิ่มเติมว่า จะส่งเบิกผ่านระบบไหน มองว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ปลายทางขอให้เกิดระบบข้อมูลสุขภาพของประเทศให้ได้ เพราะเรารู้ว่า เมื่อประเทศมีฐานข้อมูลสุขภาพแล้ว ระบบสุขภาพจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้รู้ว่าบริการเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง ใครให้บริการมาก ใครให้บริการน้อย การส่งตรวจ การวินิจฉัย การใช้ยาต่างๆ รวมไปถึงศักยภาพของบุคลากรที่ไหนขาด

สำหรับการดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ในระยะที่ 1 (4 จังหวัดแรก) และระยะที่ 2 (8 จังหวัด) ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มี.ค. 2567) มีหน่วยบริการเข้าร่วมให้บริการภายใต้นโยบายแล้ว 1,070 แห่ง มีจำนวนผู้มารับบริการ 286,467 คน โดยคิดเป็นจำนวนบริการทั้งหมด 481,224 ครั้ง และใช้งบประมาณไปแล้ว 130 ล้านบาท

ส่วนความท้าทายที่เกิดขึ้นจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ มองว่ามี 3 ประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันรับมือ ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงของหน่วยบริการเพื่อให้เกิดข้อมูล ณ จุดบริการ ซึ่งจะทำให้เกิดข้อมูลทันทีที่ให้บริการ ซึ่งจะทำให้ข้อมูลที่มีการเชื่อมโยงกันนั้นอัพเดทเป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย 2. การทำข้อมูลให้มีมาตรฐาน เพื่อสุดท้ายนำไปสู่ระบบบันทึกข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชนอย่างแท้จริง โดยประชาชนเป็นผู้อนุญาตการให้เข้าถึงข้อมูล และ 3. ควบคุมงบประมาณด้านสุขภาพ ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ประชาชนเข้ารับบริการในหน่วยบริการปกติ และหน่วยนวตกรรม โดยไม่เกิดการใช้บริการเกินความจำเป็น

“สปสช.คาดหวังว่าถ้าระบบข้อมูลดี สุดท้ายจะทำให้ระบบสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอนนี้เราอาจจะจ่ายชดเชยในบางเรื่องเพิ่มขึ้น แต่เมื่อระบบสุขภาพมีประสิทธิภาพแล้ว เชื่อว่างบประมาณของประเทศในด้านสุขภาพจะมีทิศทางที่ดีขึ้น

นพ.การุณย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเด็นที่คนกังวลว่าจากนโยบายนี้จะทำให้โรงพยาบาลระดับตติยภูมิมีคนไปรับบริการมากขึ้นด้วย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องมาหาทางแก้ไขกันต่อ ขณะนี้ทาง สปสช. ก็ได้มีการเพิ่มหน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ เช่น ร้านยา คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม ฯลฯ เพื่อเป็นหน่วยร่วมบริการ โดยคาดหวังว่าจะช่วยลดความแออัดจากโรงพยาบาลได้ส่วนหนึ่ง แต่ทั้งหมดระบบบริการคงต้องปรับตัว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง