ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้แทนสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่นร้อง “หมอชลน่าน” ขอความเป็นธรรมหลัก สปสช.หักเงินไม่เป็นไปตามสัญญา ทำขาดทุนแบกภาระราว 1 ปี เคยร้องมาก่อนหน้านี้แต่ไร้ความคืบหน้า

 

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ผู้แทนสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น โดยมี นายอมรพงศ์ สุขเสน กรรมการสมาคมฯ และ น.ส.ปอขวัญ นาคะผิว ผู้แทนสมาคมฯ ยื่นหนังสือพร้อมแนบรายชื่อคลินิกชุมชนอบอุ่น 59 แห่งถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) เพื่อร้องเรียนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เรื่องการหักค่าบริการสาธารณสุข โดยขอให้แก้ปัญหาเรียกเงินคืนแก่สมาชิกคลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่งมีผู้แทนกระทรวงฯ รับเรื่องดังกล่าว

น.ส.ปอขวัญ กล่าวว่า วันนี้(14 ธ.ค.) พวกตนมาร้องเรียนกรณี สปสช.จัดสรรงบประมาณค่าบริการให้แก่คลินิกชมชนอบอุ่น แต่ปรากฎว่าเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น สืบเนื่องจากก่อนทำสัญญาเข้าร่วมคลินิกชุมชนอบอุ่น ทางสปสช.บอกว่า จะจัดสรรงบประมาณค่าบริการสาธารณสุขตามโครงการ OP Anywhere การรักษาทั่วไปในรูปแบบอัตราการเบิกจ่ายตามรายการที่กำหนด หรือ Fee schedule คิดเป็น 1 คะแนน แต่ปี 2565-2566 เริ่มมีปัญหา โดยปี 2566 เริ่มหักเงินจากคิด 1 คะแนน เหลือเพียง 0.7 คะแนนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยไม่แจ้งเหตุผล โดยมาแจ้งเหตุผลอีกทีเดือนมีนาคม แต่มีเงินหักเงินไปก่อนล่วงหน้า โดยมาบอกว่า เงินที่จัดสรรไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องหัก แต่ทางคลินิกให้บริการไปก่อนหน้านี้แล้ว แสดงว่า คลินิกขาดทุน ยกตัวอย่าง คลินิกจ่ายค่ายาไป 1 บาท แต่สปสช.กลับจ่ายให้เราเพียง 0.5 บาท ซึ่งคลินิกต้องติดลบ

“หากสปสช.จะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่แจ้งล่วงหน้า เราก็ต้องปิดคลินิก เพราะเราแบกภาระตรงนี้ไม่ได้ เราให้บริการไป 1 ปีกลับเพิ่งมาบอกว่าจะจ่ายให้แค่นี้ ซึ่งต้นทุนเราจ่ายเต็ม แต่สปสช.มาจ่ายครึ่งราคา เราขาดทุนมาก สภาพคล่องเราไม่ได้ จริงๆ งบไม่เพียงพอ ทำไมคุณไม่จัดสรรงบเพิ่ม ไม่ใช่มาหักคนให้บริการ” น.ส.ปอขวัญกล่าว

น.ส.ปอขวัญ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้ยื่นหนังสือถึงนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ดสปสช.ไปเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 โดยมอบให้สปสช.ไปดำเนินการให้ความเป็นธรรม แต่หลังจากนั้น ทางสมาคมฯ หารือกับสปสช.ผ่านคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) ก็ไม่มีข้อสรุป แต่ยังหักเงินเราไปเรื่อยๆ อย่างฟิกคอร์สอยู่ที่ 450,000 บาท แต่อย่างของตนได้เพียง 170,000 บาท เรียกว่าคลินิกชุมชนอบอุ่นเล็กๆ แทบไม่ได้เกิน 2 แสนบาทเลย ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อตกลงตามสัญญา  

“ขอเรียกร้องให้ท่านรัฐมนตรีชลน่าน ช่วยเหลือพวกเราคลินิกชุมชนอบอุ่น โดยขอให้สปสช.จ่ายเราตามสัญญาตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ไม่หักลดเราแบบนี้ ขอให้เป็นไปตามข้อตกลงที่คุยกับทางคลินิกก่อนที่จะลงนามสัญญาร่วมกัน อย่างต้นทุน 100 บาทก็ไม่ควรมาจ่ายเรา 70 บาท เราขาดทุน เราอยากออกจากสปสช.แล้ว แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะติดสัญญาให้แจ้งล่วงหน้าก่อน 6 เดือน ตอนนี้เราต้องแบกภาระไปก่อน และถ้าเรายกเลิกก็จะกระทบคนไข้ จะไปรักษาใกล้บ้านที่ไหน” น.ส.ปอขวัญกล่าว

ด้านนายอมรพงศ์ กล่าวว่า สำหรับคลินิกตนถูกเรียกเงินคืนอีก 1.4 ล้านบาท และที่ถูกหักไว้ก่อนแล้ว 1.2 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จนถึงกันยายน 2566 ซึ่งไม่ถึงปีโดนหักเงินขนาดนี้ และล่าสุดเดือนตุลาคม พฤศจิกาย ปีงบประมาณใหม่ก็ยังโดนหักอีก แปลว่าทุกการบริการ 100 บาทที่เรียกเก็บไปจะได้เพียง 70 บาทเท่านั้น จริงๆรายการ Fee schedule ไม่ได้มากขนาดนั้น แต่กลับหักเราเยอะมาก ลดลงไปเบื้องต้นประมาณ 30% และจะมีการหักย้อนหลังอีกด้วย ไปๆมาๆ เหมือนบริการประชาชน จ่ายไปก่อน แต่กลับขาดทุนอีก

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัจจุบันคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ได้รับผลกระทบมีกี่แห่ง ประชาชนได้รับผลกระทบกี่คน น.ส.ปอขวัญ กล่าวว่า คลินิกปฐมภูมิมีทั้งหมด 300 กว่าแห่ง แต่เบื้องต้นลงชื่อมาประมาณ 59 แห่ง ซึ่งแต่ละคลินิกจะดูแลประชากรประมาณ 1 หมื่นคน แต่จริงๆคลินิกจะมีมากกว่านี้ เพราะที่ลงชื่อมาจะมีเครือข่ายในกลุ่มอีกจำนวนมาก ส่วนประชากรในพื้นที่กทม. สิทธิบัตรทองที่เข้ารับบริการคลินิกปฐมภูมิราว 2.9 ล้านคน

ทั้งนี้ สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่นได้ยื่นหนังสือ ลงนามโดย นพ.พงษ์ศักดิ์ ศรีมุกษิกโพธิ์  เลขานุการสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น  ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. เรื่อง ขอจัดส่งข้อร้องเรียน สปสช.และขอความอนุเคราะห์แก้ปัญหาการเรียกเงินคืนค่าบริการสาธารณสุขมาหักกลบค่าใช้จ่ายค้างจ่ายปีงบประมาณ 2566

โดยสาระสำคัญระบุถึงความเป็นมาจากมติคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขตพื้นที่ 13 กรุงเทพมหานคร เดือนตุลาคม 2566 และพฤศจิกายน 2566 ที่ประชุมมีมติให้เลือกทางเลือกเพื่อแก้ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอในปีงบประมาณ 2566   ซึ่งสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น มีค่าใช้จ่ายเพื่อบิรการสาธารณสุขเรียกเก็บในปีงบประมาณ 2566 จำนวนมาก จากการเรียกเก็บโครงการ OP Anywhere การเข้ารับบริการตรงตามโครงการ CA  Anywhere ฯลฯ

ในที่ประชุมเลือกทางเลือกในการแก้ปัญหางบประมาณ คือ ให้เรียกเงินค่าบริการสาธารณสุขที่จ่ายในปี 2566 ทั้งหมดกลับหาร โดยภาระหนี้ทีเกิดขึ้นหน่วยบริการคลินิกชุมชนอบอุ่นทั้งหมดที่เบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2567 มาหักลบ เพื่อให้ไม่มีหนี้คงค้างในปี 2566 รวมจำนวนประมาณ 606 ล้านบาท ซึ่งทำให้การจ่ายค่าบริการในปี 2567 อาจจ่ายได้เพียง 55% หรือประมาณ 0.55บาทต่อ 1 คะแนน(วิธีการจัดสรรงบฯของสปสช.)  ซึ่งเดิมสปสช.จัดสรรงบประมาณค่าบริการตรงนี้ลดลงเหลือ 0.7คะแนนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จากเดิมทีคิดที่ 1 คะแนน กลายเป็นว่ามีการปรับลดลงเรื่อยๆ จนอาจจ่ายไม่ได้อีกเลย

หนังสือยังระบุว่า สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น ทราบว่า มติบอร์ดสปสช.ครั้งที่ 11/2566 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาให้เขต 13 เร่งปิดงบประมาณปี 2566 โดยค่าใช้จ่ายที่คงค้างให้นำมารวมกับปีงบประมาณ 2567 แต่ยังไม่เห็นความคืบหน้าเรื่องนี้ จึงเรียนขอความช่วยเหลือรมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ดสปสช.ช่วยดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วน

ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้