ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สุดารัตน์” โพสต์ข้อห่วงใยสิทธิรักษาพยาบาลในร่าง รธน.มีชัย ข้องใจตัด “เสมอกัน” และ “ได้มาตรฐาน” เหลือเพียง “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ” ทั้งที่มีใน รธน.ปี 40 และ 50 หวั่นมาตรฐานการรักษาคนมีเงินและไม่มีเงินที่ได้จากรัฐจะต่างกัน จนระบบ 30 บาทกลายเป็นระบบอนาถา ระบุไม่มีบทบัญญัติใดใน รธน.นี้ที่จะทำให้บัตรทองมีคุณภาพจริงตามที่กล่าวอ้าง จึงขอใช้สิทธิส่วนตัวไม่เห็นชอบ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค.59 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีต รมว.สาธารณสุข โพสต์ Facebook ว่า “ข้อห่วงใยต่อสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยในร่าง รธน.ฉบับที่กำลังจะลงประชามติ

ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาตรา 52 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน” และ ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 51 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน”

แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 ที่กำลังจะให้ลงประชามตินี้ระบุไว้ในมาตรา 47 แต่เพียงว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ” โดยไม่มีคำว่า “เสมอกัน” และ “ได้มาตรฐาน”

ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ฉบับปี 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันว่า “ผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด” แต่ในเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 ใช้คำว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ” โดยตัดคำว่า “เสมอกัน” และ “ได้มาตรฐาน” ออกไป

หมายความว่าผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่อาจทำให้การบริการสาธารณสุขของรัฐมีมาตรฐานแตกต่างกันระหว่างคนมีเงินกับคนที่ไม่มีเงิน เพราะไม่ใช่เป็น “สิทธิที่เสมอกันสำหรับคนไทยทุกคนที่จะได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐที่ได้มาตรฐาน” ตามนัยของรัฐธรรมนูญปี 2540/2550

ดิฉันเห็นว่าประเด็นนี้คือสาระสำคัญของความแตกต่างระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 กับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และปี 2550 ซึ่งสะท้อนให้เห็นรากฐานความคิดทางประชาธิปไตยเรื่อง “สิทธิที่เกิดเป็นมนุษย์” หรือ “สิทธิมนุษยชน” ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

แต่ขณะที่โรคภัยไข้เจ็บคือสิ่งที่ “ตัดรอนชีวิต” จึงเป็นพันธะของรัฐที่ต้องสร้างหลักประกันเพื่อให้ประชาชนทุกคน “มีสิทธิที่เสมอกันในการได้รับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานเท่าเทียมกันจากรัฐ”

แม้เป็นผู้ยากไร้เพียงใด รัฐก็ต้องให้หลักประกันพื้นฐานว่าคนไทยจะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีมาตรฐาน หรือมีคุณภาพเสมอกัน ซึ่งไม่มีในร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 (แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มี)

ซึ่งสิ่งนี้ก็คือปรัชญาหลักของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) นั่นเอง 

เมื่อตัดสาระสำคัญดังกล่าวออกไปจากรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ดิฉันจึงมีความห่วงใย และขอตั้งคำถามว่า

1) อะไรจะเป็นหลักประกันว่า ต่อไปประชาชนในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) จะได้รับการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานเสมอกัน และไม่ทำให้เกิดรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่แตกต่างกัน ระหว่างคนมีเงินและไม่มีเงิน คือคนจนอาจต้องกลับไปได้รับการรักษาแบบ “บัตรอนาถา” เหมือนก่อนมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาโรค) หรือไม่ ?

2) เพราะเหตุใดร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงต้องตัดคำว่า ได้มาตรฐานและเสมอกันออก ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่ผ่านมาก็ใส่ไว้เป็นหลักประกันให้ประชาชนดีอยู่แล้ว ?

เมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างละเอียดแล้ว ดิฉันยังไม่เห็นว่า มีบทบัญญัติใดที่จะทำให้บัตรทองมีคุณภาพการรักษาที่ดีขึ้นจริงอย่างที่มีการกล่าวอ้าง

จึงขอแสดงความคิดเห็น ด้วยความห่วงใยต่อผลกระทบที่เกิดกับผู้ป่วย ที่ต้องเข้ารับการรักษา ซึ่งเมื่อจะเกิดผลกระทบเช่นนี้

ดิฉันจึงขอใช้สิทธิส่วนตัว “ไม่เห็นชอบ” กับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ นี้ค่ะ”