ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

www.devex.com : จากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (United Nations General Assembly หรือ UNGA) ครั้งที่ 69 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงนิวยอร์กเมื่อเดือนกันยายนในปีที่ผ่านมา ตัวแทนจากประเทศสมาชิกได้ร่วมกันอภิปรายถึงแนวทางในอนาคตเกี่ยวกับการเจรจาระหว่างรัฐบาลในอันที่จะนำกรอบการทำงานจาก “วาระการพัฒนาหลังปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015)” มาปรับใช้ภายในระยะเวลาไม่ถึงปีนับจากนี้  

ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมต่างๆ  รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาได้จัดทำข้อมูลเชิงลึกที่จัดลำดับความสำคัญของปัญหาด้านต่างๆของประเทศไว้ เพื่อให้ที่ประชุมนำไปใช้อภิปรายและกำหนดกรอบในการทำงาน ทั้งนี้ การเตรียมการเพื่อรับมือกับปัญหาด้านสาธารณสุขต่างๆ ของโลกคือหัวข้อแรกของการเจรจา ซึ่งเราพบว่าที่ประชุมได้อภิปรายถึงใจความสำคัญหลักๆ  6 เรื่อง ซึ่งตอนที่ 1 ได้ระบุไปแล้ว 3 เรื่อง ต่อไปนี้เป็นตอนจบสำหรับอีก 3 เรื่อง

4.เป้าประสงค์ในการพัฒนาด้านสุขภาพกำลังมุ่งไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว แต่เป้าหมายในบางระดับยังจำเป็นต้องปรับแก้

ในขณะที่องค์ประกอบของเป้าประสงค์ในการพัฒนาด้านสุขภาพได้รับการสนับสนุนในวงกว้างจากประเทศสมาชิก แต่ก็ยังมีเป้าหมายบางด้านที่ยังมีความเสี่ยงและควรต้องจับรวมเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะกำหนดระดับตัวชี้วัดในการดำเนินงานเพื่อติดตามความก้าวหน้า หรืออย่างน้อยก็เพื่อตรวจวัดองค์ประกอบที่เหมาะสมโดยไม่ต้องคำนึงถึงเป้าหมายย่อยต่างๆ

ในปัจจุบัน จุดอ่อนประการสำคัญในการบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพก็คือ การแยกงานด้านความรุนแรงอันเนื่องมาจากบทบาททางเพศ (Gender-based Violence) ไปไว้ในเป้าหมายด้านอื่น (ปัจจุบันมีระบุไว้ในเป้าหมายการพัฒนาด้านเพศเท่านั้น) เช่น การปฏิรูปกฎหมายและการไม่เลือกปฏิบัติ, สิทธิทางเพศ, ความใส่ใจที่จะสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพรวมถึงระบบชุมชน, ปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคม, สิทธิในสุขภาวะ, การบริหารจัดการที่มุ่งไปที่กลุ่มประชาชนชายขอบ   ทั้งนี้ได้มีตัวแทนจากประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติและองค์กรภาคประชาสังคมบางแห่งได้ออกมาแสดงความเห็นว่า ควรจะมีการมุ่งเน้นไปที่ส่วนที่สองของเป้าหมายการพัฒนาด้านสุขภาพ เพื่อเผยแพร่แนวคิด “สุขภาวะถ้วนหน้า” พร้อมทั้งร่วมกันอภิปรายเพื่อกำหนดรูปแบบเป้าหมายและตัวชี้วัดสุขภาวะ เช่น ปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคมและการรับรู้ถึงสิทธิในสุขภาวะ

โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้นำเสนอ แนวทางเร่งด่วนล่าสุดที่จะนำมาใช้ในการหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรคเอดส์ให้สำเร็จตามเป้าภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) โดยเริ่มจากการนำเสนอ “เป้าหมาย 90-90-90 เพื่อรักษาเอชไอวีภายในปี 2020 (พ.ศ.2563)”  โดยมุ่งให้ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 90 รับรู้สภาวะการติดเชื้อของตัวเอง  จากนั้นผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่รับรู้สภาวะของตัวเองร้อยละ 90 จะได้รับการรักษาโรคด้วยยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง และผู้ติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 90 ที่ได้รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องจะสามารถควบคุมจำนวนไวรัสได้จนถึงระดับที่ตรวจไม่พบเชื้อในร่างกายเลย นอกจากนี้ยังมีเป้าหมาย  “95-95-95 ภายในปี 2030 (พ.ศ.2573)” ซึ่งมุ่งที่จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลงจาก 2.1 ล้านคนในปี 2010 (พ.ศ.2553)  ให้เหลือ 500,000 คนในปี 2020 (พ.ศ.2563) และเหลือ 200,000 คนในปี 2030 (พ.ศ.2573) และท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาตั้งเป้าที่จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่และลดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยเอดส์ให้เหลือศูนย์ให้ได้ภายในปี 2020 (พ.ศ.2563)

5.วิธีตรวจสอบความสอดคล้องของนโยบายเพื่อการพัฒนา ในระบบการค้าและสุขภาพ

เป้าหมายของคณะทำงาน OWG  ข้อที่ 17.10 ระบุว่า “ให้เผยแพร่แนวคิดสุภาพดีถ้วนหน้า กฎระเบียบ การเปิดกว้าง ไม่เลือกปฎิบัติ และระบบการค้าพหุภาคีที่เท่าเทียมภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก รวมถึงข้อสรุปจากการเจรจาการค้าพหุภาคีวาระการพัฒนารอบโดฮา”

ข้อความดังกล่าวสะท้อนท่าทีที่ลดความแข็งกร้าวลงอย่างมาก และการที่ไม่ได้มีการระบุถึงข้อตกลง TRIPS เลยก็นับเป็นการยอมถอยหลังหนึ่งก้าวขององค์การสหประชาชาติซึ่งได้เคยทำข้อตกลงไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ผู้แทนจากประเทศฝรั่งเศส สวีเดน และนอร์เวย์ ยืนกรานที่จะเสนอให้มีการระบุข้อตกลง TRIPS ลงไปในเป้าหมายการพัฒนาด้วย ในขณะที่ผู้แทนจากเนเธอร์แลนด์และสหราชอาณาจักรไม่ได้แสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวในเรื่องนี้ 

กลุ่มประเทศในซีกโลกใต้ควรติดตามการอภิปรายในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลของประเทศบราซิลได้ออกมาแสดงความวิตกอย่างมากต่อประเด็นที่ว่า อุตสาหกรรมยาภายในประเทศคือต้นเหตุที่จะนำไปสู่การขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้ภาคประชาสังคมออกมาเคลื่อนไหวและบรรจุประเด็นดังกล่าวเข้าไปในการอภิปรายในเรื่องการตรวจสอบได้กับหน่วยงานภาคเอกชน

6.ระบบการเงิน : สาธารณูปโภคใหม่ เงินทุนใหม่ และระบบจัดสรรใหม่

ในด้านการเงิน มีบทเรียนที่น่าสนใจจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสเปนซึ่งเป็นประเทศแรกที่จัดตั้งกองทุนแห่งชาติเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาหลัง ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) ส่วนสวิสเซอร์แลนด์ก็ระบุว่าจะจัดสรรเงินกว่าร้อยละ 0.5 ของรายได้มวลรวมประชาชาติ เพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศและความร่วมมือด้านมนุษยธรรม ในขณะที่สหราชอาณาจักรก็ยังคงเดินหน้าจัดสรรเงินกว่าร้อยละ 0.7 ของรายได้มวลรวมประชาชาติ และยังคงเรียกร้องให้มีการกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับความโปร่งใสและตรวจสอบได้

ด้านนายเซาลี นีนิสเตอ ประธานาธิบดีของประเทศฟินแลนด์ ก็ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญร่วมระหว่างประเทศด้านการระดมและจัดสรรเงินทุนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ซึ่งฟินแลนด์ก็เป็นหนึ่งในประธานร่วมของคณะกรรมการชุดดังกล่าว) เพื่อนำมาเป็นแนวคิดพื้นฐานในการอภิปรายเพื่อกำหนดรูปแบบการระดมและจัดสรรเงินทุนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีตัวเลือกคือ การระดมทรัพยากรภายในประเทศ การขอความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ และการสนับสนุนทางการเงินจากภาคเอกชน และก็เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ การอภิปรายระหว่างสมาชิกรัฐสภาได้มุ่งเน้นไปที่การจัดหาเงินทุนภายในประเทศและการระดมทุนจากภาคเอกชนมากกว่าการขอความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการหรือโอดีเอ ซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับประเด็นเรื่องการตรวจสอบได้

ที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายเกี่ยวกับแนวทางใหม่ในการจัดสรรเงินทุนระดับโลกเพื่อการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งดำเนินการโดยธนาคารโลกร่วมกับสหรัฐอเมริกา แคนาดา และนอร์เวย์

โดยมุ่งระดมการสนับสนุนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเร่งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ และลดการตายของมารดาและทารกระหว่างคลอดด้วยสาเหตุที่ป้องกันได้ให้หมดไปภายในปี 2030 (พ.ศ.2573)

กองทุนระดับโลกเพื่อการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือ GFF จะสนับสนุนให้แต่ละประเทศ ระดมทรัพยากรที่มีอยู่ภายในประเทศรวมถึงแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้นเพื่อจัดบริการสาธารณสุขที่จำเป็นให้แก่ผู้หญิง เด็กและวัยรุ่น ทั้งนี้กองทุนดังกล่าวก่อตั้งขึ้นด้วยเงินอุดหนุนราว 600 ล้านดอลลาร์จากประเทศนอร์เวย์  และ 200 ล้านดอลลาร์จากประเทศแคนาดา

การตรวจสอบได้คือกุญแจที่จะไขไปสู่ความเท่าเทียม ในขณะที่กลไกภาคประชาสังคมคือทรัพยากรสำคัญที่ปัจจุบันยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ AfGH หรือองค์กรปฎิบัติการส่งเสริมสุขภาพโลก จึงจะเดินหน้าจัดประชุมอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงองค์กรภาคประชาสังคมให้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินงานตามเป้าหมายของวาระการพัฒนาหลังปี ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) พร้อมทั้งยังเป็นการเพิ่มและปรับปรุงระบบการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขให้แก่รัฐบาลยุโรป และผลักดันให้เกิด “โรดแมป” (Road map) ในลักษณะเดียวกันกับกรอบการติดตามและตรวจสอบระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

6 บทเรียนระบบสุขภาพโลก (ตอนที่ 1) เท่าเทียม-เป็นธรรม

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

“เอมิลี พีทเตอร์”

เป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายของสหภาพยุโรป โดยทำงานในโครงการผลักดันนโยบายระดับโลกเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายองค์กรปฎิบัติการส่งเสริมสุขภาพโลกในยุโรป นอกจากนี้เธอยังร่วมเป็นประธานของคณะทำงานเฉพาะกิจในวาระแห่งการพัฒนาหลังปี 2015 (พ.ศ.2558) เพื่อผลักดันสิทธิในการมีสุขภาวะดีถ้วนหน้าภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้จัดการร่วมใน The Link Up project ซึ่งผลักดันนโยบายระดับโลกเพื่อพัฒนางานด้านสุขภาวะทางเพศ งานอนามัยการเจริญพันธุ์ และรณรงค์เพื่อสิทธิของคนหนุ่มสาวในประเทศบังกลาเทศ, บุรุนดี, เอธิโอเปีย, พม่าและยูกันดา

“มารีแอล ฮาร์ท”

เป็นผู้จัดการด้านนโยบายให้แก่ The International HIV/AIDS Alliance ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยรับหน้าที่บริหารจัดการโครงการผลักดันนโยบายระดับโลกเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ที่ดำเนินการในกรุงวอชิงตันดีซี บรัสเซลส์และเจนีวา นอกจากนี้มารีแอลยังได้ทำงานเพื่อผลักดันนโยบายระดับโลกตามวาระแห่งการพัฒนาหลังปี ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) โดยทำงานร่วมกับองค์กรปฎิบัติการส่งเสริมสุขภาพโลกและสภาสุขภาพโลก โดยดำเนินงานผ่านองค์กรภาคประชาสังคมด้านสุขภาพตามกรอบการทำงานในวาระแห่งการพัฒนาหลังปี ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558)