ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นพ.วรวิทย์” ผอ.รพ.อุ้มผางเขียนจม.ส่งตรงถึง รมว.สธ. ยันไม่ได้รับแรงกดดันจากใครทั้งสิ้น และไม่ได้เลือกว่าจะอยู่ข้างใด เผยผู้บริหารสปสช.ชุดใหม่ไม่เคยสำรวจปัญหาแต่ละพื้นที่ต่างกัน พื้นที่อุ้มผางเป็นคนไทยแต่ตกหล่นไม่ได้รับการพิสูจน์สิทธิ์ ไม่ใช่คนสัญชาติอื่นอย่างที่เข้าใจ แจงเคยพูดในหลายเวทีขอให้สปสช.เสนอกฤษฎีกาตีความใหม่ว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพดูแลเฉพาะคนที่มีเลข 13 หลัก หรือหมายถึงทุกคนในแผ่นดินนี้กันแน่ แม้รับปาก แต่ก็ไม่เคยดำเนินการ ที่ใช้คำว่าใจดำ เพราะละเว้นมนุษยธรรม ชมสธ.มีคุณธรรม หลังสั่งการให้รักษา 1.5 แสนคนที่ถูกสปสช.ตัดสิทธิ์เมื่อปี 56 

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์

14 ธ.ค.57 นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ เขียนจดหมายลงวันที่ 13 ธ.ค. 57 ถึง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ว่า ตามที่มีการเผยแพร่จดหมายถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.)ตากนั้น ตนเป็นผู้เขียนขึ้นเอง เพื่อขอให้นพ.สสจ. ช่วยนำข้อเสนอตามความรู้สึกของตน และเป็นข้อเท็จจริงที่ทำงานในพื้นที่มานานกว่า 23 ปี เพื่อนำเรียนผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) โดยการเขียนจดหมายดังกล่าว ยืนยันว่าไม่ได้รับแรงกดดันจากใครทั้งสิ้น เพราะคนในอาชีพแพทย์ ไม่ชอบให้ใครบังคับจิตใจอยู่แล้ว และก็ไม่เลือกว่าจะอยู่ข้างใดข้างหนึ่งที่ขัดแย้งทางความคิดในขณะนี้   

“เมื่อช่วงเริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใหม่ๆ หลายพื้นที่มีปัญหาการได้รับงบฯไม่เพียงพอ สมัยนั้น นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสปสช. คนแรก ลงพื้นที่มาเยี่ยมผม เพราะเข้าใจถึงปัญหา และบอกกับผมว่าจะขอใช้เวลา 3 ปีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแบบมนุษยธรรมให้ได้ ผมจึงขอยกย่องท่านเป็นปูชนียบุคคลด้านสาธารณสุขของเพื่อนมนุษย์โลก แต่หลังจากท่านเสียชีวิต และมีคณะผู้บริหารสปสช.ชุดใหม่ ทุกอย่างไม่เป็นเช่นนั้น” นพ.วรวิทย์ ระบุ

นพ.วรวิทย์ ระบุต่อว่า คณะผู้บริหารชุดใหม่ไม่เคยสำรวจปัญหาในแต่ละพื้นที่ ซึ่งแตกต่างกัน อาจเพราะไม่ได้มีความรู้สึกถึงความเป็นธรรมแบบมนุษยธรรมเหมือน นพ.สงวน แต่ยึดความเป็นธรรมแบบคณิตศาสตร์ ส่งผลให้ไม่เข้าใจปัญหาของพื้นที่ชายแดน เพราะมีบุคคลที่เป็นกระเหรี่ยง รวมทั้งบุคคลรอพิสูจน์สถานะ แต่พวกเขาเป็นคนไทย อยู่ในประเทศไทยมานาน เหมือนบรรพบุรุษคนจีนอพยพมาหลายสิบปีแต่ไม่ได้บัตรประชาชน 

“เรื่องนี้ตนได้เคยเสนอผู้บริหารสปสช.ให้ช่วยส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องบุคคลใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ว่า หมายถึงคนที่ต้องมีเลขประจำตัว 13 หลักเท่านั้น หรือหมายถึงทุกคนที่เป็นมนุษย์ในแผ่นดินนี้ แต่ไม่แน่ใจว่ารับปากอย่างเสียไม่ได้หรืออย่างไร จึงยังคงไม่ได้ดำเนินการจนถึงปัจจุบันนี้ และสาเหตุที่ใช้คำว่าใจดำ ก็เพราะละเว้นการดำเนินการทางด้านมนุษยธรรม และการควบคุมโรคติดต่อ บางท่านยังใช้คำพูดว่า ก็ไปรักษาเค้าเองด้วย”

ในจดหมายของนพ.วรวิทย์ ยังได้ระบุว่าด้วยว่า เมื่อปี 56 สปสช.ได้ตัดสิทธิรักษาชาวบ้านทั่วประเทศ 150,000 คน แต่ทางสธ.ก็มีหนังสือสั่งการให้ทุกรพ.ในสังกัดให้บริการประชาชนที่ยากจนกลุ่มนี้ต่อไปเหมือนเดิม แม้ว่าจะถูกตัดสิทธิบัตรทอง ซึ่งบอกได้ถึงจิตใจอันมีคุณธรรมและมนุษยธรรมอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ในตอนท้ายของจดหมาย นพ.วรวิทย์ ระบุว่า จึงขอให้ รมว.สธ. ช่วยพิจารณาว่า แพทย์ควรปฏิบัติหน้าที่โดยใช้หลักมนุษยธรรม หรือหลักกฎเกณฑ์ แต่ไม่เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม เพื่อที่ตนจะได้นำไปใช้สอนนักศึกษาแพทย์และบอกกล่าวบุคคลอื่นต่อไป

โดยจดหมายดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก

วันที่ 13 ธันวาคม 2557 

กราบเรียนท่านอาจารย์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

กราบขออภัยท่านอาจารย์นะครับที่ผมได้รบกวนโดยเขียนจดหมายถึงอาจารย์ ตามที่มีการเผยแพร่จดหมายถึงพี่พูลลาภ (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก) ที่ผมเป็นคนเขียนขึ้นเอง และขอให้พี่พูลลาภ (นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์) ช่วยนำข้อเสนอตามความรู้สึกของผมและข้อเท็จจริงที่ผมทำงานในพื้นที่นี้มากว่า 23 ปีแล้ว เพื่อนำเรียนอาจารย์ผู้ใหญ่ทุกท่านทั้งในกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ช่วยแก้ปัญหาให้

ผมเขียนจดหมายฉบับนั้นเองโดยไม่ได้รับแรงกดดันจากใครทั้งสิ้น เพราะคนในอาชีพแพทย์นั้นไม่ชอบให้ใครบังคับจิตใจอยู่แล้ว และผมก็ไม่เลือกว่าจะต้องอยู่ข้างใดข้างหนึ่งที่ขัดแย้งทางความคิดกันอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะพวกเราควรอยู่ข้างเดียวกันหมดไม่ใช่หรือครับ

ขอกราบเรียนว่าข้อความในจดหมายที่เผยแพร่นั้นไม่ได้กล่าวหาเกินเลยไปหรอกครับ หลายๆ ท่านไม่ได้ประสบด้วยตนเองอย่างผมจึงไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ และมีอคติในการที่จะรับฟังความเห็นที่แตกต่าง จึงยิ่งเพิ่มความไม่เข้าใจให้มากขึ้น

ผมและน้องๆ ทุกคนที่นี่ทำงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขด้วยการยึดมนุษยธรรมเป็นหลักครับ ท่านอาจารย์ผู้ใหญ่หลายๆ ท่านที่ผมเคารพนับถือด้วยความบริสุทธิ์ใจ ท่านก็พยายามช่วยจริงๆ ครับ อาจารย์มงคล (นพ.มงคล ณ สงขลา)ท่านเกษียณแล้วท่านก็ช่วยประสานให้บริษัทเอกชนมาทำ CSR ที่พื้นที่นี้ ผมต้อนรับท่าน และท่านก็ยังสอนผมให้ยึดหลักมนุษยธรรมด้วย

อาจารย์วิชัย (นพ.วิชัย โชควิวัฒน) ตอนท่านช่วยของบประมาณจากสปสช. เพื่อสนับสนุนให้โรงพยาบาลอุ้มผางดำเนินการได้โดยไม่ยากลำบากเกินไปนัก (ผมไม่เคยคิดว่าโรงพยาบาลต้องกำไรหรือขาดทุนนะครับ เพราะพันธกิจหลักของเราเป็นเรื่องมนุษยธรรม ซึ่งใช้ “ใจ” เป็นตัวกลาง ถ้าคิดถึงเรื่องกำไรขาดทุน นั่นหมายความว่าเรากำลังใช้ “เงิน” เป็นตัวกลาง) ท่านยังต้องตอบคำถามของผู้บริหาร สปสช.เลยครับ ว่า ที่น้องเค้าต้องทำอย่างนั้นเพราะเค้ายังเป็นหมออยู่ ท่านลืมไปแล้วหรือว่าท่านยังเป็นแพทย์อยู่ด้วย (ดังนั้นที่ผมเรียนพี่พูลลาภไปว่า อาจารย์ผู้บริหาร สปสช.ท่านขาด “สติ” (ระลึกรู้) ว่า ยังเป็นแพทย์อยู่ด้วยจึงเป็นคำพูดของอาจารย์วิชัยนะครับ)

ตอนอาจารย์ศิริวัฒน์ (นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล) ท่านเกษียณ ท่านได้จัดงานขึ้นมาเพื่อระดมทุนขอรับเงินบริจาคได้มากกว่า 2 ล้านบาท เพื่อมอบให้ผมตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางเพื่อมนุษยธรรมขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ยากไร้ที่โรงพยาบาลต้องดูแลรักษา โดยที่ผมไม่เคยได้ทำงานกับอาจารย์ท่านมาก่อนเลยครับ  

หลังจากนั้นอาจารย์สุวิทย์ (นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ) ได้มอบเงินจากการบริจาคในงานศพของคุณแม่อาจารย์แก่มูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางเพื่อนมนุษย์ธรรม เป็นจำนวนเงินกว่า 1 ล้านบาท และมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับอาจารย์ศิริวัฒน์ และหลังจากที่อาจารย์สุวิทย์ท่านเกษียณ ท่านได้มาเที่ยวที่อำเภออุ้มผางพร้อมอาจารย์บุศย์ ผมยังพาท่านไปที่สุขศาลาบ้านก้อเชอในประเทศเพื่อนบ้าน ท่านยังได้สอนผมให้ยึดหลักมนุษยธรรมด้วย ทั้งยังเอ่ยถึงอาจารย์มงคลเลยครับ ว่าถ้าเป็นอาจารย์มงคลอยู่ที่อุ้มผาง ท่านอาจขยายงานสาธารณสุขนี้ไปถึงเมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้านแล้ว

ตอนประเทศไทยมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใหม่ๆ (ปี 2544) หลายพื้นที่มีปัญหาการได้รับงบประมาณไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน อาจารย์สงวน (นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) เลขา สปสช.ในขณะนั้น ได้มาเยี่ยมผมเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2544 ผมเป็นคนขับรถและได้พูดคุยกับอาจารย์ท่านด้วยตนเองจึงได้ทราบถึงจิตใจของอาจารย์สงวนว่า ท่านมีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยเจตสิกฝ่ายคุณธรรมและมนุษยธรรมอย่างแท้จริง ท่านจึงลงมาสำรวจพื้นที่และคุยกับน้องๆ ด้วยตนเอง ท่านจึงรับรู้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม

ผมจึงขออนุญาต ยกย่องท่านเป็นปูชนียบุคคลด้านสาธารณสุขของเพื่อนมนุษย์ในโลกนี้ได้โดยบริสุทธิ์ใจครับ และอาจารย์สงวน ได้พูดกับผมว่าจะขอใช้เวลา 3 ปีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแบบมนุษยธรรมให้ได้ โดยจะพยายามอย่างเต็มความสามารถ (คำพูดนี้จึงเป็นคำพูดของอาจารย์สงวนครับ)            

หลังจากอาจารย์สงวนท่านจากไปคณะผู้บริหารใหม่เข้ามา แต่ท่านไม่เป็นแบบอาจารย์สงวนครับ ท่านไม่ได้รับฟังและสำรวจปัญหาในแต่ละพื้นที่ ซึ่งแตกต่างกัน อาจเพราะท่านไม่ได้มีความรู้สึกถึงความเป็นธรรมแบบมนุษยธรรมแบบอาจารย์สงวน ท่านยึดความเป็นธรรมแบบของท่าน ผมก็ไม่รู้ว่าจะเรียกอย่างไรดี จึงเรียกว่า ความเป็นธรรมแบบคณิตศาสตร์ และทำให้ท่านไม่เข้าใจปัญหาของพื้นที่ชายแดนอย่างถ่องแท้ ว่าตอนประเทศไทยแบ่งพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น เส้นแบ่งเขตแดนได้ตัดผ่ากลางพื้นที่ของคนเชื้อชาติกระเหรี่ยงออกเป็นสองส่วนคือในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

ดังนั้นบุคคลเชื้อชาติกระเหรี่ยงที่อยู่อาศัยในเขตประเทศไทยนี้ จึงควรมีสัญชาติไทย เพราะอยู่ดั้งเดิมมานานแล้ว แต่เนื่องจากชาวบ้านเหล่านี้อยู่ไกลทุรกันดารมาก คลอดเองตามธรรมชาติโดยหมอตำแย (ปัจจุบันนี้มีหมอตำแยในเขตอำเภออุ้มผางเกือบสองร้อยคน ทำคลอดปีละเป็นร้อยราย) และไม่ได้มาแจ้งเกิด ทำให้กลายเป็นคนตกหล่นและขาดสิทธิในหลักประกันสุขภาพไปโดยอัตโนมัติ (ไม่ได้เป็นคนสัญชาติอื่นตามที่ท่านอาจารย์หลายๆ ท่านเข้าใจหรอกครับ)

ผมยังคิดเปรียบเทียบกับตัวผมเองเลยครับว่าบรรพบุรุษของผมมาจากเมืองจีนทั้งหมด แต่โชคดีอาศัยอยู่ในเขตเมือง ปัจจุบันนี้ผมเลยมีสัญชาติไทยแล้ว แต่ชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ตลอดยังไม่ได้สัญชาติไทยเลย โรงพยาบาลอุ้มผางเลยมีการตั้งคลินิกกฎหมาย โดยมีอาจารย์พันธุ์ทิพย์ (รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร) (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เป็นที่ปรึกษา ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 และอาจารย์ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสถานะบุคคลและมีมนุษยธรรมสูงมากครับ ผมว่าสูงกว่าหลายๆ ท่านที่ใช้คำว่านายแพทย์นำหน้า)     

เมื่อปี 2556 นี้เองครับ ทาง สปสช.ได้ตัดสิทธิในหลักประกันสุขภาพ (UC) กับชาวบ้านทั่วประเทศประมาณ 150,000 คน ทางกระทรวงสาธารณสุขโดยอาจารย์ทรงยศ (นพ.ทรงยศ ชัยชนะ) (รองปลัดกระทรวงในสมัยนั้น) ได้มีหนังสือสั่งการให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขให้บริการกับประชาชนที่ยากจนกลุ่มนี้ต่อไปเหมือนเดิมแม้ว่าจะถูกตัดสิทธิ UC ไปแล้ว หนังสือสั่งการนี้บอกได้ถึงจิตใจอันมีคุณธรรมและมนุษยธรรมอย่างแท้จริง

ในหลายครั้งหลายเวทีที่ผมได้มีโอกาสพบท่านอาจารย์ผู้บริหาร สปสช. และได้เสนอให้ท่านส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความเรื่องบุคคลใน พ.ร.บ.ประกันสุขภาพแห่งชาติว่า หมายถึงคนเลข 13 หลักเท่านั้น หรือหมายถึงทุกๆ คนที่เป็นมนุษย์ในแผ่นดินนี้ (เพราะถ้าไม่รวมถึงทุกคนจะตกหล่นบุคคลไปเยอะมาก เราจะตกหล่นเรื่องมนุษยธรรม และเรื่องการควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงของชาติด้านสุขภาพด้วย) ซึ่งอาจารย์ท่านก็รับปากไม่รู้ว่าแบบเสียไม่ได้หรือเปล่านะครับ แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ เป็นเวลาหลายปีจนถึงปัจจุบัน ผมใช้คำว่า “ใจดำ” เพราะอาจารย์ท่านละเว้นการดำเนินการทางด้านมนุษยธรรม และการควบคุมโรคติดต่อ (บางท่านใช้คำพูดทำนองว่า “ก็ไปรักษาเค้าเอง" ด้วย) จึงน่าจะเป็นคำที่เหมาะสมที่สุด

สุดท้ายนี้ ขอรบกวนท่านอาจารย์ได้โปรดพิจารณาด้วยครับว่าการที่แพทย์ปฏิบัติหน้าที่โดยใช้หลักมนุษยธรรม ซึ่งเป็นหลักที่อ้างอิงกับศาสนาได้ทุกศาสนาแล้ว เปรียบเทียบกับแพทย์ที่ยึดหลักกฎเกณฑ์หรือกฎหมาย ที่กลุ่มบุคคลเขียนขึ้นมาและตีความหมายไปในแบบที่ตนเองเห็นพ้อง แต่ไม่ได้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมนั้น เราควรจะปรับหลักมนุษยธรรมเข้ามาหากฎเกณฑ์ต่างๆ หรือควรปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม ผมจะได้ใช้สอนนักศึกษาแพทย์และบอกกล่าวกับบุคคลอื่น ซึ่งจะมาทำหน้าที่ดูแลสังคมนี้ต่อจากเราต่อไป กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผอ.รพ.อุ้มผางอัดสปสช.เป็นคนดีแต่ใจดำ

สปสช.แจงช่วย ‘นพ.วรวิทย์’ สุดกำลัง แม้มีข้อจำกัดด้านกฎหมาย