ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.รายงานสรุปผลการประชุมสุดยอดความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก ให้ที่ประชุมครม.รับทราบ หลังจาก ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ.เดินทางไปร่วมประชุมเมื่อวันที่ 26 ก.ย.57 ณ ทำเนียบขาว วอชิงตัน ดี.ซี สหรัฐอเมริกา

คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ต.ค.57 มีมติรับทราบรายงานสรุปผลการประชุมสุดยอดความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ

สธ.รายงานว่า ในการประชุมสุดยอดความมั่นคงด้านสุขภาพของโลกครั้งนี้ จัดขึ้นที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557 เป็นการประชุมระดับสูงที่ให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นหลัก คือ

1. ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพโลก 3 ด้าน คือ การป้องกัน เฝ้าระวัง และตอบโต้ต่อโรคระบาดข้ามพรมแดน (Prevent, Detect, Respond) และการสร้างสมรรถนะของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกในการดำเนินการตามกฎหมายอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations) อย่างเข้มแข็ง

2. การสนับสนุนช่วยเหลือประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตกในการควบคุมการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา และมีการหารือถึงสถานการณ์การระบาดของโรคอีโบลาในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกตลอดจนอุปสรรคความท้าทายในการควบคุมโรค รูปแบบความช่วยเหลือจากประเทศต่าง ๆ ในการควบคุมการระบาดของโรค และการรักษาผู้ป่วย

รวมถึงการจัดตั้งภารกิจตอบโต้ภาวะฉุกเฉินจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Mission on Ebola Emergency Response : UNMEER) โดยไทยได้แจ้งความประสงค์ที่จะให้ความช่วยเหลือในการควบคุมโรคของประเทศต้นทาง

สธ.ได้สอบถามถึงทรัพยากรที่ภารกิจตอบโต้ภาวะฉุกเฉินจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาต้องการได้รับการสนับสนุนมากที่สุด ซึ่งในเบื้องต้น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกได้แจ้งว่า ในปัจจุบันทรัพยากรสำคัญที่ยังขาดแคลนอยู่มาก ได้แก่ งบประมาณเครื่องบินที่จะช่วยขนส่งบุคลากร เวชภัณฑ์ และสิ่งของบรรเทาทุกข์ต่าง ๆ เข้าสู่พื้นที่ และบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะพยาบาล

นอกจากนี้ ยังมีการหารือในประเด็นบทบาทของประเทศไทยในการควบคุมการระบาดโรคติดต่อข้ามพรมแดนกับผู้นำด้านสุขภาพระดับโลกกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ผู้อำนวยการใหญ่ศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา  และผู้อำนวยการด้านโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ของ United States Agency for International Development : USAID ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ยืนยันการสนับสนุนวาระความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก และความพร้อมในการเป็นประเทศผู้นำในการพัฒนาศักยภาพในชุดกิจกรรมด้านการพัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการระดับประเทศ และชุดกิจกรรมด้านการพัฒนากำลังคนด้านการป้องกันควบคุมโรค

3. การประชุมในครั้งนี้ ประเทศไทยมีส่วนร่วมใน GHSA (the Global Health Security Agenda)ในฐานะประเทศผู้นำใน 2 ชุด กิจกรรม ได้แก่ ชุดกิจกรรมด้านการพัฒนาเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการทางสาธารณสุขให้มีความครอบคลุมทั้งประเทศ และชุดกิจกรรมด้านการพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข และเป็นประเทศผู้มีส่วนร่วมในชุดกิจกรรมเกี่ยวกับการป้องกันเชื้อจุลชีพดื้อยา

ที่มา : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ตุลาคม 2557

ขอบคุณภาพจาก www.thaiembdc.org