สปสช.รุกงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ปี 57 ใช้งบ 10 ล้านบาท เดินหน้า “โครงการพัฒนาระบบการจัดบริการคัดกรองและแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติสำหรับเด็กในประเทศไทย” นำร่อง 10 จังหวัด ช่วยเด็กไทยมีปัญหาสายตาบกพร่อง หลังงานวิจัย HITAP พบเด็กไทยร้อยละ 6.6 มีความผิดปกติทางสายตา ขณะที่ผลสำรวจภาวะตาบอดในเด็กไทยสูงถึง 0.11% มากกว่าเกณฑ์องค์การอนามัยโลกกำหนดเกือบเท่าตัว
นพ.กิตติ ปรมัตถผล ผู้อำนวยการแผนงานพัฒนาระบบบริการโรคเรื้อรังและโรคเฉพาะ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในการประชุมเพื่อชี้แจงการดำเนิน “โครงการพัฒนาระบบการจัดบริการคัดกรองและแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติสำหรับเด็กในประเทศไทย” โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สปสช. กระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ ว่า งานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค นับเป็นหนึ่งในภารกิจที่ สปสช.ดำเนินการ โดยเฉพาะการมุ่งแก้ไขก่อนเกิดปัญหาสุขภาพ และภาวะสายตาผิดปกติในเด็กไทยเป็นปัญหาหนึ่งที่ สปสช.เล็งเห็นปัญหาและเห็นว่าควรให้ความสำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีเด็กไทยส่วนหนึ่งที่มีปัญหาภาวะสายตาผิดปกติและไม่ได้รับการแก้ไข ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตระยะยาว ทั้งที่ปัญหาสายตาในเด็กบางรายสามารถแก้ไขให้เป็นปกติได้ หากได้รับการดูแลรักษาแรกเริ่ม ไม่ว่าจะเป็นการใส่แวนตา การส่งต่อเพื่อรักษา และตรวจติดตาม เป็นต้น
นพ.กิตติ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ทาง สปสช.จึงได้จับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้างต้น เพื่อดำเนิน โครงการพัฒนาระบบการจัดบริการคัดกรองและแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติสำหรับเด็กในประเทศไทย เพื่อมุ่งค้นหาและคัดกรองเด็กที่มีปัญหาสายตาเพื่อนำเข้าสู่การรักษา เน้นในกลุ่มเด็กเล็ก/อนุบาล และเด็กประถมศึกษา เบื้องต้น สปสช.ได้สนับสนุนงบประมาณในส่วนกองทุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ปี 2557 จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการนำร่องใน 10 จังหวัด ได้แก่ จ.สุมทรปราการ สระบุรี ราชบุรี นครพนม หนองบัวลำพู สุราษฎร์ธานี เพชรบุรี ลำพูน นครปฐม และนราธิวาส ในการคัดกรองสายตาเด็กจำนวน 30,000 คน เฉลี่ย 3,000 คนต่อจังหวัด โดยให้ครูประจำชั้นเป็นผู้ดำเนินการคัดกรอง
“การดำเนินโครงการนี้ สปสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ต่อยอดจากงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบการคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติและประกอบแว่นสายตาสำหรับเด็กวัยก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษาในประเทศไทย” ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAPP) เมื่อปี 2554-2555 ซึ่งพบความชุกของภาวะสายตาผิดปกติในเด็กไทย เท่ากับร้อยละ 6.6 หากเด็กเหล่านี้ได้รับการคัดกรองตั้งแต่ตั้งแต่อายุยังน้อย และได้รับการแก้ไขปัญหาสายตาที่ถูกต้อง ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับเด็กไทย แต่ยังเป็นการเพิ่มคุณภาพประชากรของประเทศในอนาคต” นพ.กิตติ กล่าวและว่า หลังจากนี้ยังมีแผนที่ขยายโครงการไปทั่วประเทศ โดยปี 2558-2559 จะเพิ่มเติมอีก 20 จังหวัด และปี 2559-2560 จะทำต่อเนื่องอีก 30 จังหวัด พร้อมกันนี้จะสนับสนุนให้มีการดำเนินโครงการต่อเนื่องและดึงท้องถิ่นให้เข้ามีบทบาทส่วนร่วมต่อไป
ด้าน พญ.ขวัญใจ วงศกิตติรักษ์ จักษุแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า จากรายงานการวิจัยเรื่อง “การสำรวจสภาวะตาบอด ตาเลือนรางและโรคตาที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในเด็กไทย อายุ 1-14 ปี” จัดทำโดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า อัตราตาบอดของเด็กไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.11 ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ เนื่องจากเป็นจำนวนที่มากกว่าเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์เฉลี่ยของทางองค์การอนามัยโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.07 และที่น่าตกใจไปกว่านั้น คือยังเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับอัตราเด็กตาบอดในประเทศแอฟริกาซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.12 นอกจากนี้ยังมีอัตราเด็กที่มีปัญหาสายตาเลือนลางถึงร้อยละ 0.21 สาเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 60 เกิดจากความผิดปกติจากการคลอดก่อนกำหนด และร้อยละ 30 เป็นภาวะตาขี้เกียจ ซึ่งทั้ง 2 สาเหตุนี้สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ หากได้รับการดูแลตามระยะเวลา
ทั้งนี้ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยได้ลงนามเพื่อลดภาวะตาบอดของเด็กในประเทศให้เหลือ 0.04 ดังนั้นจำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกัน และ “โครงการพัฒนาระบบการจัดบริการคัดกรองและแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติสำหรับเด็กในประเทศไทย” เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ ตั้งแต่การคัดกรอง การแก้ไขและรักษาภาวะสายตาผิดปกติ การพัฒนาเครือข่ายบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันภาวะสายตาผิดปกติในเด็กในระดับจังหวัดและระดับประเทศ อาทิ ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน เป็นต้น และการจัดทำรูปแบบและแนวทางพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาให้กับเด็กไทยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนี้จากการติดตามประเมินเด็กไทยที่ได้รับการแก้ไขปัญหาสายตาพบว่า ส่วนใหญ่เด็กมีผลการเรียนดีขึ้น มีความตั้งใจเรียนมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาสายตาเป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียนของเด็กกลุ่มนี้
- 24 views