ซีรีส์ กระจายอำนาจระบบสาธารณสุข เดินหน้าหรือถอยหลัง?

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังโหมประโคมเรื่องเขตสุขภาพ และกำลังเดินหน้าอย่างเข้มข้น โดยระบุว่า นี่จะเป็นโมเดลหนึ่งของการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข แต่ก็มีเสียงอีกฝั่งที่สะท้อนและวิพากษ์ว่า เขตสุขภาพของสธ.เป็นการกระชับอำนาจมากกว่า และยิ่งกว่านั้นโมเดลเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขกลับจะทำให้การกระจายอำนาจระบบสาธารณสุขถอยหลังเข้าคลอง หลังจากที่เคยเดินหน้ามาได้อย่างสดใส เมื่อครั้งที่มีการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งใหญ่เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ภายใต้ชื่อ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คนไทยทุกคน ที่ ณ เวลานี้ เป็นนโยบายสร้างชื่อให้กับไทยอย่างมากในเวทีโลก

ซึ่งนั่นไม่ใช่การปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งเดียวแล้วจบ หากแต่ยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องเดินหน้าอีกต่อไปเพื่อให้ระบบสาธารณสุขประสบผลสำเร็จ กุญแจสำคัญคือการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ แต่ระบบสาธารณสุขไทย ซึ่งมีผู้เล่นมากหน้าหลายตา ที่ล้วนเป็นผู้มีส่วนได้เสียในระบบ ที่ต่างกระโจนเข้ามาเล่นทั้งแบบเป็นทางการและใต้ดิน มีทั้งความพยายามจะยึด บ้างก็ยึดได้อย่างสำเร็จ แต่ก็ต้องแลกกับการต่อต้านประท้วงอย่างรุนแรงเช่นกัน

ดังนั้นการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งที่ 2 จึงอยู่ในภาวะติดหล่ม และนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบสาธารณสุขไทยว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลัง

สำนักข่าว Hfocus : เจาะลึกระบบสุขภาพ จึงได้สัมภาษณ์ผู้ที่น่าสนใจ จำนวน 5 คน เพื่อร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็น การกระจายอำนาจระบบสาธารณสุข เดินหน้าหรือถอยหลัง ?

ซีรีส์ กระจายอำนาจระบบสาธารณสุข ตอนที่ 5

มงคล ณ สงขลา : เขตสุขภาพทำเพื่อไม่ให้อำนาจกระจายออกไปมากกว่า

Hfocus-แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 และ ปี 2550 จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น รวมทั้งมีพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจแล้ว แต่รูปธรรมความก้าวหน้าของการกระจายอำนาจยังปรากฏให้เห็นได้น้อยมากในปัจจุบัน  

นพ. มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนการกระจายอำนาจด้านงานสาธารณสุข ได้เร่งจัดระบบโดยทันทีในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่ง โดยมีรายชื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับถ่ายโอนสถานีอนามัยในปีพ.ศ. 2550 กว่า 20 แห่ง ความพยายามของนพ.มงคลนั้น เพื่อมุ่งประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เพื่อให้เกิดระบบบริการสุขภาพที่เสมอภาค มีคุณภาพและประสิทธิภาพ

ขอย้อนกลับไปเมื่อสมัยคุณหมอเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ในพ.ศ. 2549-2551) มีความพยายามกระจายอำนาจอย่างไรบ้าง ?

เราพยายามเอากรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมามาคุยกัน เพื่อถ่ายโอนสถานีอนามัยให้อปท. เราอยากนำร่องการกระจายอำนาจในงานสาธารณสุขให้เป็นตัวอย่างกับงานสายศึกษาและงานอื่นๆ ทางกระทรวงสาธารณสุขควรยึดเรื่องการจัดการพัฒนาทางวิชาการ วิชาการจะเป็นสายใยสร้างขีดความสามารถ และยึดโยงการทำงานจากกระทรวงสู่ตำบล

แต่ข้าราชการส่วนใหญ่ ทั้งปลัดและอธิบดียังคงห่วงอำนาจตนไว้ ยังมีการดื้อ เราเองก็ไม่อยากทะเลาะกันเอง เลยทำเท่าที่ทำได้ ถ่ายโอนสถานีอนามัยได้จริงๆ แค่ 10 กว่าแห่ง   

มีการพูดกันเยอะว่าอปท.ไม่พร้อม ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารด้านสาธารณสุข คุณหมอเห็นว่าอย่างไร ?

ไม่จริงเลย อปท.มีความพร้อมมาก ทั้งเรื่องงบประมาณและบุคลากร ในสถานีอนามัยที่ถ่ายโอนไปใน 10 กว่าแห่งนั้น มีในจังหวัดลพบุรีที่หนึ่งที่ทางท้องถิ่นสามารถสร้างตึกเพิ่มและซื้อรถพยาบาลได้ 1 คัน ภายในเวลาหลังจาก 3 เดือนที่มีการถ่ายโอนอีกแห่งที่ปทุมธานี นายกเทศมนตรีเขามีความเอาจริงเอาจังมากในเรื่องนี้มาก มันเป็นการถ่ายโอนชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนโดยแท้จริง

เราต้องเอาชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการด้วย เช่น เอาผู้นำชุมชนมามีส่วนร่วมในคณะกรรมการโรงพยาบาล จะช่วยให้ระบบอยู่ต่อไปได้ เพราะหากเขาไม่สนับสนุนงานด้านสาธารณสุข เขาก็ไม่ได้รับเลือกในสมัยต่อไป  ในขณะเดียวกันที่เขาสนับสนุนงานด้านนี้ ชุมชนก็ต้องวิ่งมาหาเขาและมีส่วนร่วมในการบริหารกับเขา

คุณหมอมองสถานการณ์การกระจายอำนาจในปัจจุบันอย่างไรบ้าง ?

ผมมองว่ายังไม่มีความจริงใจในการกระจายอำนาจในทุกๆเรื่อง ไม่ใช่เพียงเฉพาะด้านการสาธารณสุข เมื่อไม่มีความจริงใจ การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ก็เป็นการยากที่จะทำได้สำเร็จ

การรวมศูนย์กลางไว้ที่กรุงเทพ  การแก้ปัญหาในพื้นที่ก็จะไม่สำเร็จ เพราะแต่ละพื้นที่มีเป้าหมายและการแก้ปัญหาที่ต่างกัน แต่ละบริบทพื้นที่ไม่เหมือนกัน การแก้ต้องแก้ที่ใกล้ต้นเหตุที่สุด ตามเนื้อผ้าของแต่ละพื้นที่ เช่น การขาดแคลนบุคลากร ส่วนกลางก็จะทราบปัญหาได้เพียงจากทะเบียน แต่อาจไม่ตรงกับสภาพปัญหาในข้อเท็จจริง  หรือในส่วนของการแก้ไขปัญหาโรคเรื้อรัง ส่วนกลางอาจไม่ทราบพฤติกรรมเฉพาะของแต่ละพื้นที่ว่ากินหวาน กินเค็ม กินมันอย่างไร

มันเลยเวลามามากแล้ว แผนการกระจายอำนาจประกาศออกมาตั้งแต่เมื่อกว่าสิบปีก่อน แต่เรากลับไม่ยอมปล่อย หวงอำนาจ หวงงบ หวงคน ถ้าหากเริ่มตั้งโจทย์ที่ประชาชน เขาควรได้อะไรจากเรามากกว่าที่เราจะให้อะไรเขา ต้องมีการกระจายอำนาจ

เท่าที่ฟังดู คุณหมอเห็นว่าการกระจายอำนาจไม่ประสบความสำเร็จนั้น เป็นเพราะทัศนคติของผู้ปกครองหรือไม่ ?

ผมว่าเป็นเรื่องของการเมือง ที่หวงอำนาจไว้กับตัว ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาเรื่องตำรวจ ในประเทศอินโดนีเซียมีการจัดตำรวจตำบล เขาจะรู้หมดว่าใครเป็นใคร ผู้รายจึงเกิดขึ้นมายาก แต่ประเทศไทย เรามีเพียงตำรวจแห่งชาติ แต่เราไม่รู้ว่าชาติของเราอยู่ที่ไหน

กระทรวงสาธารณสุขในยุคปัจจุบันเพิ่งเริ่มมีการประกาศเขตบริการสุขภาพ คุณหมอเห็นว่านี่คือการกระจายอำนาจหรือไม่อย่างไร ?

เขตบริการสุขภาพทำเพื่อจุดประสงค์อื่น เพื่อไม่ให้อำนาจกระจายออกไปมากกว่า แต่มีการสร้างภาพว่าเป็นการกระจายอำนาจ คนก็ยังต้องแหงนมองอำนาจที่ส่วนกลาง ไม่ได้ทำเพื่อชุมชน ชุมชนยังคงต้องแหงนมองที่ศูนย์แทนที่จะแหงนมองที่ตำบล ผู้ตรวจราชการยังคงเป็นตัวแทนจากส่วนกลาง แหงนมองความต้องการของส่วนกลาง แต่อาจไม่ก้มมองความต้องการของชุมชน ไม่สนองความต้องการของชุมชนหากเขามีเวลาที่จำกัด

การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขควรมีการดำเนินการอย่างไร ?

ต้องดำเนินการตามแผนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่วางไว้ การจัดการด้านวิชาการต้องอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข การบริหารจัดการให้ท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ นี่คือหัวใจหลัก

กระทรวงสาธารณสุขยังต้องทำหน้าที่ประเมินผลเรื่องสุขภาพประชาชน วางแผนยุทธศาสตร์นโยบายต่างๆ แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่ควรเป็นผู้ให้บริการอีกต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตอนที่ 1 สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ได้เวลาปฏิรูประบบสาธารณสุขรอบใหม่ แปลงสภาพทุกรพ.เป็นองค์การมหาชน

ตอนที่ 2 สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ไม่จำเป็นต้องรวม 3 กองทุนสุขภาพ แต่ต้องรวมศูนย์ข้อมูล 

ตอนที่ 3 สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : 10 ปีที่ผ่านมา สาธารณสุขติดกรอบ ‘กลัวการสูญเสียอำนาจ’

ตอนที่ 4 วชิระ เพ็งจันทร์ : เขตบริการสุขภาพคือการกระจายอำนาจสู่ภูมิภาค