ซีรีส์ กระจายอำนาจระบบสาธารณสุข เดินหน้าหรือถอยหลัง?

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังโหมประโคมเรื่องเขตสุขภาพ และกำลังเดินหน้าอย่างเข้มข้น โดยระบุว่า นี่จะเป็นโมเดลหนึ่งของการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข แต่ก็มีเสียงอีกฝั่งที่สะท้อนและวิพากษ์ว่า เขตสุขภาพของสธ.เป็นการกระชับอำนาจมากกว่า และยิ่งกว่านั้นโมเดลเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขกลับจะทำให้การกระจายอำนาจระบบสาธารณสุขถอยหลังเข้าคลอง หลังจากที่เคยเดินหน้ามาได้อย่างสดใส เมื่อครั้งที่มีการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งใหญ่เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ภายใต้ชื่อ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้คนไทยทุกคน ที่ ณ เวลานี้ เป็นนโยบายสร้างชื่อให้กับไทยอย่างมากในเวทีโลก

ซึ่งนั่นไม่ใช่การปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งเดียวแล้วจบ หากแต่ยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องเดินหน้าอีกต่อไปเพื่อให้ระบบสาธารณสุขประสบผลสำเร็จ กุญแจสำคัญคือการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ แต่ระบบสาธารณสุขไทย ซึ่งมีผู้เล่นมากหน้าหลายตา ที่ล้วนเป็นผู้มีส่วนได้เสียในระบบ ที่ต่างกระโจนเข้ามาเล่นทั้งแบบเป็นทางการและใต้ดิน มีทั้งความพยายามจะยึด บ้างก็ยึดได้อย่างสำเร็จ แต่ก็ต้องแลกกับการต่อต้านประท้วงอย่างรุนแรงเช่นกัน

ดังนั้นการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งที่ 2 จึงอยู่ในภาวะติดหล่ม และนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบสาธารณสุขไทยว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลัง

สำนักข่าว Hfocus : เจาะลึกระบบสุขภาพ จึงได้สัมภาษณ์ผู้ที่น่าสนใจ จำนวน 5 คน เพื่อร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็น การกระจายอำนาจระบบสาธารณสุข เดินหน้าหรือถอยหลัง ?

ซีรีส์ กระจายอำนาจระบบสาธารณสุข ตอนที่ 2

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ไม่จำเป็นต้องรวม3กองทุนสุขภาพ แต่ต้องรวมศูนย์ข้อมูล

 

Hfocus -บทสัมภาษณ์ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตอนที่ผ่านมา ได้มีข้อเสนอแนะว่าถึงยุคที่รัฐบาลจะต้องปฏิรูประบบสาธารณสุขไทยเป็นรอบที่ 2 ต่อจาก 10 ปีก่อนที่มีการปฏิรูประบบงบประมาณเป็นแบบการเหมาจ่ายรายหัวไปแล้ว โดยการปฏิรูปรอบนี้ นพ.สุรพงษ์ เสนอให้แปลงสภาพโรงพยาบาลต่างๆ ไปอยู่ในรูปองค์การมหาชน กระจายอำนาจให้โรงพยาบาลต่างๆบริหารจัดการตัวเอง ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและบริหารจัดการได้ตรงตามความต้องการของพื้นที่นั้นๆ มากที่สุด โดยยกตัวอย่างโรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็น Role Model เพราะได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการบริหารและการให้บริการมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อีกประเด็นที่ อดีต รมช.สาธารณสุข คนนี้อยากเห็นคือบทบาทของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการทำตัวเป็นเคลียริ่งเฮ้าส์ (Clearing House) ระบบสาธารณสุขของประเทศ 

นพ.สุรพงษ์ เล่าย้อนความกลับไปถึงจุดเริ่มต้นในการจัดตั้ง สปสช. ซึ่งขณะนั้นตั้งเป้าให้เป็นหน่วยงานเดียวที่ดูแลทั้งประชาชนทั่วไป ผู้ประกันตน และสวัสดิการข้าราชการเสียด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากต้องเจอกับแรงต้านของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน การนำสิทธิการรักษาพยาบาลของประกันสังคมมาให้ สปสช.ดูแลจึงกลายเป็นหมัน 

ท้ายที่สุด แนวคิดดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ มาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ซึ่งเขียนไว้ว่า “ขอบเขตของสิทธิรับบริการสาธารณสุขของผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม การขยายบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ไปยังผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการและคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน” “ให้คณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมในการให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และเมื่อได้ตกลงกันเกี่ยวกับความพร้อมให้บริการสาธารณสุขกับคณะกรรมการประกันสังคมแล้ว ให้คณะกรรมการเสนอรัฐบาลเพื่อตราพระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาการเริ่มให้บริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการตามพระราชบัญญัตินี้แก่ผู้มีสิทธิดังกล่าว” และ “เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสองใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงานประกันสังคมส่งเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนประกันสังคมให้แก่กองทุนตามจำนวนที่คณะกรรมการและคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน” 

อย่างไรก็ตาม ล่วงมาถึงยุคปัจจุบัน นพ.สุรพงษ์ มองว่าไม่จำเป็นต้องรวมเงินของทั้ง 3 กองทุนก็ได้ เพียงแต่ต้องรวมศูนย์ข้อมูลทั้ง 3 ระบบ คือหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ มีการวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมต่อข้อมูลถึงกัน โดย สปสช.ทำหน้าที่เป็นเคลียริ่งเฮ้าส์ก็พอ การรวมศูนย์ข้อมูลสาธารณสุขแบบนี้จะทำให้เห็นภาพกว้างของสถานการณ์ด้านสุขภาพของคนไทยชัดเจนและช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจได้อย่างถูกต้องทันการ

“วันนี้เงินจะอยู่ตรงไหนไม่สำคัญ จะอยู่ที่กรมบัญชีกลางก็ได้ อยู่ที่ประกันสังคมก็ได้ ขอแต่ว่าเมื่อถึงเวลาจ่ายระบบต้องดูดเงินมาได้” นพ.สุรพงษ์ ให้ภาพสั้นๆ ถึงสิ่งที่อยากเห็น

นพ.สุรพงษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้งบประมาณบริหารประกันสังคมอยู่ที่กระทรวงแรงงาน งบบริหารระบบสุขภาพข้าราชการอยู่ที่กรมบัญชีกลาง แต่อย่างน้อยที่สุด บุคคลที่ดูแลสารสนเทศของทั้ง 3 กองทุนสามารถเชื่อมโยงเป็นระบบใหญ่ เป็นเคลียริ่งเฮ้าส์ระดับชาติไปได้เลย ขณะที่ สปสช. ลงทุนเรื่องนี้ไปเยอะพอสมควรจึงน่าจะทำหน้าที่ได้ดี เพียงแต่กองทุนที่เกี่ยวข้องอาจจะยังดูกังวลเกี่ยวกับการถ่ายโอนและเชื่อมต่อข้อมูลกัน ทำให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลางยังไม่อยากพิจารณาเรื่องนี้

“ถ้าทุกแห่งเชื่อมโยงเป็นระบบขนาดใหญ่ มีระบบไอทีกลาง ถ้าเรามีเคลียร์ริ่งเฮ้าส์แล้วทำให้สามารถรู้ทุกๆอย่างเกี่ยวกับสถานการณ์ของระบบบริการสาธารณสุข รู้ทุกๆอย่างที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล นั่นเป็นความฝันที่ผมอยากเห็น มันจะทำให้สามารถบอกได้ว่าขณะนี้คนไทยมีพฤติกรรมทางสุขภาพยังไง ตื่นเช้ามารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการสปสช. อยากรู้ว่าเมื่อวานมีคนไปรับบริการกี่คน ค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เป็นโรคอะไรบ้าง ผู้ป่วยนอกเท่าไหร่ ผู้ป่วยในเท่าไหร่ เตียงที่ไหนเต็ม เตียงที่ไหนว่าง มันทำให้เราเห็นภาพใหญ่ของระบบ ผมอยากเห็นถึงขนาดว่าเงินบำรุงของโรงพยาบาลแต่ละแห่งเหลือเท่าไหร่ด้วยซ้ำ ที่บอกว่าเงินขาด ขาดทุนโน่นนี่นั่น มันจะเห็นเลยว่าจริงหรือไม่จริง”นพ.สุรพงษ์ กล่าว

อดีต รมช.สาธารณสุข ย้ำว่าความฝันเหล่านี้เมื่อ 12 ปีก่อนทำได้ยาก แต่ทุกวันนี้ทำได้ง่ายมาก เพราะเทคโนโลยีก้าวมาถึงจุดที่ทำได้และเรื่องนี้ โรงพยาบาลเอกชนก็ทำกันมาตั้งนานแล้ว

อีกประเด็นหนึ่งที่ นพ.สุรพงษ์ ฝากถึง สปสช. ในยุคที่การเมืองเริ่มก้าวมามีบทบาทมากขึ้น นั่นก็คือต้องยืนหยัดให้ได้ว่า สปสช.เป็นองค์กรนอกกระทรวงสาธารณสุขที่ทำหน้าที่ในเรื่องบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพและต้องเดินหน้าต่อไป ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาตัวเองให้ตอบสนองการบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ 

“บางครั้งผมยังนึกขึ้นมาว่า สปสช. กำลังทำเกินภารกิจ ภารกิจหลักก็คือทำยังไงให้ระบบหลักประกันสุขภาพซึ่งส่วนใหญ่คือระบบบริการ มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพที่ดีที่สุด แต่ สปสช. ด้วยความตั้งใจดีก็คิดเลยไปถึงเรื่องการป้องกัน คิดเลยถึงเรื่องจะเข้าไปมีบทบาทในเชิงนโยบายด้วย อันนี้ผิดไหม ก็ไม่ถึงขนาดผิดหรอก เพราะถ้าพูดในมุมมองคนที่อยู่ในระบบสาธารณสุข การทำแต่เรื่องการบริการอย่างเดียวไม่พออยู่แล้ว ต้องทำเรื่องการป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ โดย สปสช.พยายามใช้บทบาทการเป็นผู้ให้งบประมาณมาเป็นตัวกระตุ้น ถามว่าทำได้ไหม ทำได้ถ้าทำบทบาทเดิมบทบาทพื้นฐานได้ดี แต่วันนี้ก็ยังมีคำถามเรื่องบทบาทพื้นฐานที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ บางทีมันเลยมีข้อติติงว่าปัญหายังเยอะอยู่แต่ทำไมขยายงานเยอะเหลือเกิน ฉะนั้นทำภารกิจหลักให้สมบูรณ์แบบดีกว่าไหม แล้วภารกิจรองก็พยายามคิดว่ามันก็มีคนอื่นทำ พยายามส่งเสริมให้คนอื่นทำได้ไหม”อดีต รมช.สาธารณสุข กล่าว

อีกประเด็นที่สืบเนื่องจากเรื่อง 3 กองทุน นั่นคือ มาตรฐานการให้บริการของแต่ละกองทุนก็ไม่เหมือนกัน เมื่อพูดถึงการรวมศูนย์ข้อมูลให้เป็นระบบใหญ่แล้ว คุณภาพการบริการของทั้ง 3 ระบบ ควรมีมาตรฐานเดียวกันหรือไม่? ผู้ประกันตนจ่ายสมทบทุกเดือน แต่คนใช้บัตรทองรัฐกลับอุดหนุน100% แบบนี้คือความเหลื่อมล้ำหรือไม่?

“เรื่องความเหลื่อมล้ำเนี่ย มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ไม่อย่างนั้นมันก็เหมือนกลับไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์อะไรพวกนั้น แต่ที่ต้องพูดถึงคืออะไรก็ตามที่เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิตที่ทุกคนต้องมี อันนี้ก็ต้องมี”นพ.สุรพงษ์ กล่าว

นพ.สุรพงษ์ ให้ข้อคิดเห็นว่า สิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชน ผู้ประกันตน และข้าราชการ ถูกออกแบบมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าไม่เท่ากัน บัตรทอง 30 บาทคือบริการพื้นฐานที่จำเป็น แต่ผู้ประกันตนเมื่อจ่ายสมทบแล้วก็ต้องได้มากกว่าบัตรทอง แต่ถ้าตรงไหนได้น้อยกว่า ก็เป็นสิ่งที่ สปส.ต้องไปปรับปรุงพัฒนา

อดีต รมช.สาธารณสุข ยกตัวอย่างการทำประกันรถยนต์ที่มีทั้งประกันชั้น 1, 2, 3 หรือแม้แต่การซื้อประกันสุขภาพ ก็ยังมีกำหนดว่าจ่ายอัตรานี้ได้รักษาเท่านี้ จ่ายอีกอัตราได้รักษาเพิ่มอีก แต่สิ่งที่ต้องกำหนดให้มีคือบริการพื้นฐานตามความจำเป็น ที่ต้องเพียงพอให้แก่คนที่ไม่มีหลักประกันเลย นั่นก็คือบัตรทอง แต่ถ้า สปสช.ทำบริการไว้หมดแล้ว คนจ่ายสมทบประกันสังคมเกิดคำถามว่าแบบนี้ทำไมต้องจ่าย สปส.ก็ต้องเพิ่มสิทธิเข้าไปให้มากกว่าบริการตามความจำเป็น เช่น ให้ห้องพิเศษ เป็นต้น

“อะไรก็ตามที่เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิตที่ทุกคนต้องมี อันนี้ก็ต้องมี แต่ถามว่าทุกคนต้องมีรถเบนซ์ไหม ก็ไม่ แต่ต้องมีรถสาธารณะที่ทำให้คนเดินทางไปไหนมาไหนโดยไม่ลำบากเกินไปด้วย” นพ.สุรพงษ์ยกตัวอย่างทิ้งท้าย

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตอนที่ 1 สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : ได้เวลาปฏิรูประบบสาธารณสุขรอบใหม่ แปลงสภาพทุกรพ.เป็นองค์การมหาชน 

ตอนที่ 3 สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : 10 ปีที่ผ่านมา สาธารณสุขติดกรอบ ‘กลัวการสูญเสียอำนาจ’

ตอนที่ 4 วชิระ เพ็งจันทร์ : เขตบริการสุขภาพคือการกระจายอำนาจสู่ภูมิภาค

ตอนที่ 5 มงคล ณ สงขลา : เขตสุขภาพทำเพื่อไม่ให้อำนาจกระจายออกไปมากกว่า