ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต เปิดการประชุมวิชาการสุภาพจิตและจิตเวชเด็ก ครั้งที่ 2 และการประชุมวิชาการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทย ครั้งที่ 10 ในหัวข้อ "ดูแลเด็กทุกวัย ดูแลจิตใจหญิงทุกคน" เผยจัดบริการชุดสุขภาพ Heath Care Package ให้กับเด็กและสตรีทุกกลุ่มวัย เพื่อ "สุขภาพดี" อย่างเป็นรูปธรรมการันตี ผลงาน"Child First -Work Together (CF-WT)" รางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 สหประชาชาติ สาขาการให้บริการประชาชน (United Nations Public Service Awords 2013) เน้นดูแลเด็กให้มีพัฒนาการสมวัย คัดกรองเร็ว พบเร็ว กระตุ้นพัฒนาการได้เร็ว ตั้งเป้า เด็กไทย IQ เต็ม 100 EQ ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ เด็กออทิสติกและสมาธิสั้น ให้เข้าถึงบริการ 25%

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า งานสุขภาพจิตแม่และการพัฒนาสุภาพจิตเด็กขององค์การอนามัยโลก พบว่า สตรีทั่วไปเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล ประมาณ 5% ขณะที่ สตรีตั้งครรภ์มีความเจ็บป่วยด้วยโรคกันนี้ 8-10% และอาจสูงถึง 13% ภายหลังที่คลอดแล้ว นอกจากนี้ พบว่า ในประเทศไทย อัตราการเข้าถึงบริการของเด็กที่มีปัญหาพัฒนากร/ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ยังมีน้อย เด็กที่บกพร่องทางสติปัญญามีการเข้าถึงเพียง 33,592 คน หรือประมาณ 5.23% และเป็นเด็กออทิสติก 7,212 คน หรือประมาณ 12.02% ของประชากรเด็ก ดังนั้น สตรีและเด็กจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ทั้งการส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสุขภาพจิต ได้พยายามคิดหาวิธีที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมทั้งค้นคว้าหาแนวทางที่จะส่งเสริมคุณภาพและศักยภาพของเด็กปฐมวัย ให้มีพัฒนาการสมวัยรอบด้าน โดยได้บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับกรมอนามัย กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ในการดูแลสุขภาพด้านร่างกายและจิตใจเด็กปฐมวัยตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ โดยให้หญิงตั้งครรภ์มีการเฝ้าระวังภาวะเครียด ซึมเศร้า และการดื่มสุราเนื่องจากถ้าหญิงตั้งครรภ์มีปัญหาดังกล่าวแล้ว จะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ทั้งนี้ จะได้รับการประเมินภาวะเครียด ซึมเศร้า และการดื่มสุรา ทุกครั้งมาฝากครรภ์ตามมาตรฐานการฝากครรภ์คุณภาพ จำนวน 5 ครั้ง พร้อมทั้ง ได้จัดทำคู่มือ"ครรภ์คุณภาพ" : คู่มือการดูแลจิตใจตนเองสำหรับสตรีตั้งครรภ์และหลังคลอด" ที่ดำเนินการร่วมกับกรมอนามัย ซึ่งได้เพิ่มเรื่องซึมเศร้าและสุราเข้าไปด้วย

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กจะได้รับการเฝ้าระวังด้านพัฒนาการและความฉลาดทางอารมณ์ โดยครูศูนย์เด็กเล็กและประเมินพัฒนาการเด็กภาคเรียนละ 1 ครั้ง และ ประเมินความฉลาดทางอารมณ์เด็ก ปีละ 1 ครั้ง ถ้าเด็กมีปัญหาพัฒนาการจะส่งต่อหน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อให้การช่วยเหลือตามระบบต่อไป ส่วนครูศูนย์เด็กเล็กจะต้องมีการประเมินความเครียดด้วยตนเองปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากการดูแลเด็กเล็กเป็นเรื่องสำคัญ ละเอียดอ่อน ครูผู้ดูแลจึงต้องมีสภาพจิตใจที่พร้อมจะปฏิบัติงานเพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ตามศักยภาพ ส่วนในเรื่อง Happy family จะเน้นการดูแลพัฒนาการโดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่แนวโน้มพัฒนาการไม่สมวัยหรือมีความเสี่ยง ซึ่งล่าสุด กรมสุขภาพจิต โดยสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 United Nations Public Service Awards 2013 จากสหประชาชาติ ประเภทรางวัลการพัฒนาการให้บริการประชาชน จากผลงาน "Child First-Work Together (CF-WT)" ที่มีจุดมุ่งหมายให้เด็กได้รับการส่งเสริมให้มีพัฒนาการสมวัยอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่องโดยการพัฒนากระบวนการคัดกรอง ประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ทั้งการพัฒนาเครื่องมือที่มีมาตรฐานพัฒนาคน พัฒนาการสื่อสาร ความร่วมมือ ระบบและนโยบาย จากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อให้เด็กไทยได้รับการคัดกรอง ซึ่งทุกคนสามารถช่วยกันได้ ทั้ง พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูพี่เลี้ยงและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพราะการค้นพบที่เร็วจะช่วยทำให้มีการวางแผนและการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กได้เร็วและเกิดประสิทธิผลมากขึ้น ช่วยลดภาระครอบครัว สังคม ชุมชน ตลาดจนค่าใช้จ่าย ที่สำคัญเด็กจะมีการพัฒนาการสมวัย สามารถเรียนรู้ พัฒนาทั้งด้านร่างการ และสติปัญญา เป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป

ด้านการพัฒนาสุขภาพจิตในวัยเรียน-วัยรุ่น กรมสุขภาพจิต ได้ดำเนินการให้มีศูนย์ให้คำปรึกษาคุณภาพ และพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ให้มีการจัดบริการสุขภาพจิตและบริการให้คำปรึกษาอีกทั้ง ในครึ่งปีหลังของปี 2556 จะเชื่อมโยงเทคโนโลยีแต่ละกรมที่เกี่ยวข้อง พิจารณา Gap โดยเฉพาะปัญหาทางเพศของวัยรุ่ย (Sexual Health) เพื่อผลักดันให้เกิดการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งเป็นตัวชี้วัดร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนกำหนดนโยบายให้มีความร่วมมือในระดับพื้นที่ ซึ่งการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จะมุ่งไปที่อุปกรณ์การป้องกันการตั้งครรภ์ที่หาง่าย และการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาที่ตามมาภายหลังการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม หากวัยรุ่นตั้งครรภ์แล้ว จะมีแนวทางในการส่งเสริมให้เด็กที่คลอดออกมามีคุณภาพด้วย รวมทั้ง ร่วมมือและเกาะติดปัญหาพฤติกรรมวัยรุ่น ที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทที่เป็นวาระแห่งชาติ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นทั้งพร้อมและไม่พร้อม ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาแรงงานเด็ก และปัญหาค้ามนุษย์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 26 กรกฎาคม 2556