ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"หมอประเสริฐ"เผย องค์การอนามัยโลก ระบุเชื้อไข้หวัดนกเอช7เอ็น 9 รุนแรงกว่าเอช5เอ็น1 อาจแพร่จากคนสู่คน ชี้คนอาจเป็นพาหะแพร่เชื้อโดยไม่มีอาการป่วย แถมสัตว์ปีกติดเชื้อไม่มีสัญญาณป่วยตายก่อนติดคน จี้เฝ้าระวังนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทย หากพบป่วยต้องรีบพบแพทย์ ห่วงคกก.ยาเล็งถอดยาโอเซลทามิเวียร์ออกจากยาบัญชียาหลักแห่งชาติ กระทบการรักษาหากมีคนป่วย ขณะที่กรมอุทยานสั่งห้ามนำเข้านกจากประเทศเสี่ยง พร้อมยกระดับความเข้มข้น หลังพบขยับมาถึงไต้หวันแล้ว

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกเอช 7เอ็น 9ในต่างประเทศ ว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก หรือฮู(who)เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2556 ระบุผลการชันสูตรศพครอบครัวผู้ติดเชื้อชายชาวเซี่ยงไฮ้ อายุ 87 ปี ที่มีลูกชาย 2คน อายุ 38 ปี และ 20 ปี โดยพบเชื้อไข้หวัดนกทั้ง 3 คน แต่ พ่อ และลูกชายคนเล็กเสียชีวิต จึงสันนิษฐานว่าเชื้อไข้หวัดนกเอช7เอ็น9 อาจมีการติดต่อจากคนสู่คนได้ และจากการตรวจสอบผู้ป่วยในจีนล่าสุดทั้ง110 คน แต่ยังไม่พบการติดเชื้อจากคนสู่คน ขณะนี้สัญญาณของโรคมีความเปลี่ยนไปจาก เชื้อไข้หวัดนกเอช5เอ็น 1 ที่มีสัตว์เป็นสัญญาณ โดยสัตว์ปีกจะมีการป่วยตายก่อนจึงจะมีการติดต่อมายังคน แต่เชื้อเอช7เอ็น9 พบสัตว์ปีกไม่ป่วยแสดงอาการขณะที่คนกลับป่วยติดเชื้อ จึงถือว่าเชื้อมีความรุนแรงกว่า เอช5เอ็น 1

ทั้งนี้ จากข้อมูลของฮู ยังพบว่า ในผู้ป่วยที่เป็นเด็กหญิงชาวปักกิ่ง ที่พ่อไปซื้อไก่จากตลาดฝั่งตรงข้ามพบป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกเอช7เอ็น9 มีไข้สูง39องศาเซลเซียส แต่ได้มีการรับประทานยาจีนก่อนการรักษาด้วยยาโอเซลทามิเวียร์ พบไข้ลดลงเหลือไม่ถึง 37.5องศาเซลเซียส จากนั้นรักษาโอเซลทามิเวียร์ต่อ ซึ่งยาให้ความไวในการรักษาเด็กรอดชีวิต และจากข้อมูลยังพบบุตรชายของเจ้าของร้านขายไก่ป่วยแต่ไม่แสดงอาการด้วย จากข้อมูลเหล่านี้ ฮูจึงสัญนิษฐานว่า เชื้อไข้หวัดนกเอช7เอ็น 9 ยังตอบสนองต่อยาโอเซลทามิเวียร์ และคนยังสามารถเป็นพาหะของโรคได้โดยไม่แสดงอาการ

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวด้วยว่า สธ.จะต้องเข้มความพร้อมของยา ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และประสานดูแลนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวหากเจ็บป่วยต้องรีบพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องห้ามการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ แต่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมแสดงความห่วงใยกรณีคณะกรรมการ ยาแห่งชาติ เตรียมถอดยาโอเซลเซียสทามิเวียร์ออกจากยาบัญชียาหลักแห่งชาติ เกรงว่าหากมีการเจ็บป่วยจะกระทบต่อการรักษา และผู้ป่วยแน่นอน

ด้านนายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า สั่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุข เข้มข้นเฝ้าระวังไข้หวัดนกทั้งในคนและสัตว์ปีกทุกชนิดอย่างใกล้ชิดหลังพบมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) รายแรกนอกจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อมเสนอประชุมคณะกรรมการชาติ เพื่อรับมือสถานการณ์ในประเทศวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเตรียมวาระเสนอ ครม. พร้อมแนะผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศหากมีอาการป่วยไข้หวัด ให้รีบพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง ส่วนประชาชนทั่วไปขอให้รักษาสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น ล้างมือบ่อยๆ ผู้ป่วยไข้หวัดขอให้สวมหน้ากากอนามัย และแนะนำหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกไม่ว่าป่วยหรือตาย

ส่วนสถานการณ์ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้ย้ำเตือนให้ทุกประเทศเฝ้าระวังไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) ที่พบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่จีนอย่างใกล้ชิด สถานการณ์ล่าสุดในประเทศจีน องค์การอนามัยโลกรายงานถึงวันที่ 23 เมษายน 2556 มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 108 ราย เสียชีวิต 22 ราย  ในส่วนของประเทศไทยจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อชนิดนี้ ทั้งในคน ในสัตว์ปีกที่เลี้ยงและนกในธรรมชาติแต่อย่างใด รวมทั้งไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

นายแพทย์ประดิษฐ บอกว่า  ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 จะมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ. 2556 - 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อประเมินสถานการณ์และการเตรียมความพร้อมทุกระบบ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในการรับมือปัญหาของประเทศให้มีความพร้อมในระดับสูงเพื่อรับมือสถานการณ์การระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ขณะที่นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ซึ่งพบการแพร่ระบาดขยับจากประเทศจีน ลงมาถึงประเทศไต้หวันแล้ว ขณะนี้กรมอุทยานฯมีหนังสือเวียนไปยังสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 16 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มระดับการเฝ้าระวังเป็นพิเศษตามข้อกำหนดในการควบคุมและป้องกันปัญหาโรคไข้หวัดนก ทั้งนี้ขอให้งดการนำเข้านกจากต่างประเทศที่มาจากกลุ่มประเทศเสี่ยงทั้งหมดนี้เข้ามาในไทยแล้ว โดยเฉพาะจุดเฝ้าระวังตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านให้ดูแลเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังต้องติดตามนกอพยพและนกตามธรรมชาติว่ามีการตายผิดปกติหรือไม่

"ตั้งแต่ต้นปี2556 กรมอุทยานฯ ได้ทำการเก็บตัวอย่างนกอพยพ และนกธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ มาตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ ซึ่งกรมอุทยานฯสุ่มตรวจนกอพยพ และนกประจำถิ่นลงมา เช่น บางปู สมุทรปราการ แถวพื้นที่ภาคเหนือ และนกนางแอ่นที่ถนนสีลม เป็นต้น รวมแล้ว ไม่น้อยกว่า1,300 ตัวอย่าง โดยล่าสุดที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เป็นนก 18 ชนิด จำนวน 79 ตัว อาทิ เป็ดแดง นกยางเปีย นกปากห่าง นกกาน้ำเล็ก นกอีโก้ง นกเขาชวา นกพิราบ นกเอี้ยงสาลิกา นกพงญี่ปุ่น นกเด้าลมดง นกกะจิ๊ด. ซึ่งผลการตรวจในห้องปฏิบัติการ ยังไม่พบเชื้อไข้หวัดนกในนกธรรมชาติ" นายธีรภัทร กล่าว

รองอธิบดีกรมอุทยาน กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ที่พบนกธรรมชาติอาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก และพื้นที่ที่ติดต่อกับด่านชายแดน กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สั่งการให้ทำการเฝ้าระวังเชิงรุก โดยสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อไข้หวัดนก พร้อมทั้งฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนก และให้หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่ฯ ประชาสัมพันธ์ ให้คำแนะนำแก่ประชาชนเพื่อป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดนก โดยไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงเข้าไปในพื้นที่ที่มีนกธรรมชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก งดใช้แหล่งน้ำร่วมกับนกธรรมชาติโดยตรง และแนะนำวิธีการอยู่ร่วมกับนกธรรมชาติโดยไม่เป็นอันตราย รวมทั้งหากพบการตายผิดปกติของนกในธรรมชาติให้แจ้งสายด่วนกรมอุทยาน ฯหมายเลข 1362

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 เมษายน 2556