องค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปี 2548 ในจำนวนการตายของประชากรโลกทั้งหมดประมาณ 58 ล้านคน มีถึงร้อยละ 60 ที่ตายจากโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ดังนี้ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
ต้นเหตุสำคัญ มาจาก 3 เหตุได้แก่ 1.ขาดการออกกำลังกาย ทำให้น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานและก่อให้เกิดโรคอ้วนและโรคเรื้อรัง 2.รับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้น้อย ซึ่งผักและผลไม้เป็นอาหารที่ให้กากใย ช่วยในการขับถ่าย ขับไขมัน คลอเลสเตอรอลออกจากร่างกาย และ3.การบริโภคสารทำลายสุขภาพ ได้แก่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ขณะเดียวกันจากรายงานผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย ของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2553 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคเรื้อรัง ปีละกว่า 1 แสนคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตทุกสาเหตุ โดยผู้เสียชีวิตร้อยละ 40 มีอายุน้อยกว่า 60 ปี การรักษาพยาบาลประมาณปีละ 300,000 ล้านบาท โดยมีรายงานว่ากลุ่มคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะอ้วน และอ้วนลงพุงแล้วกว่า 17 ล้านคน มีความเสี่ยงสูงที่จะเจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้นอีก หากปล่อยสถานการณ์เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ประชาชนจะมีอายุสั้นลงไปเรื่อยๆ มีผลกระทบต่อประเทศไทยหลายด้าน
รายงานผลการเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปี พ.ศ.2554 ของสำนักระบาดวิทยา พบว่า ในปีพ.ศ. 2554 ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 5 โรครายใหม่ จํานวนรวม 626,073 ราย
1.โรคความดันโลหิตสูง พบสูงสุดจํานวน 379,551 รายอัตราป่วย 591.38 ต่อประชากรแสนคน
2.โรคเบาหวาน จํานวน 179,597 รายอัตราป่วย 279.83 ต่อประชากร แสนคน
3.โรคเรื้อรังทางเดินหายใจส่วนล่างจํานวน 26,514 รายอัตราป่วย 41.31 ต่อประชากรแสนคน
4.โรคหัวใจขาดเลือด จํานวน 21,782 รายอัตราป่วย 33.94 ต่อประชากรแสนคน
5.โรคหลอดเลือดสมอง จํานวน 18,629 รายอัตราป่วย 29.03 ต่อประชากรแสนคน
ปีพ.ศ. 2554 อัตราป่วยโรคเบาหวานลดลงกว่าปีพ.ศ. 2553 เล็กน้อย โรคอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่หากพิจารณาแนวโน้มทุกโรค ปีพ.ศ. 2550-2554 พบว่าแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 5 โรค สะสม (รายใหม่และเก่า) ระหว่างปีพ.ศ. 2550 - 2554 จํานวนรวม 3,260,962 ราย
1.โรคความดันโลหิตสูง พบผู้ป่วยสูงสุด 1,997,700 รายอัตราความชุก 3,112.60 ต่อประชากรแสนคน
2.โรคเบาหวาน 1,025,337 รายอัตราความชุก 1,597.57 ต่อประชากรแสนคน
3.โรคเรื้อรังทางเดินหายใจส่วนล่าง 105,908 ราย (165.01)
4.โรคหัวใจขาดเลือด 72,527 ราย (113.00)
5.โรคหลอดเลือดสมอง 59,490 ราย (92.69)
แนวโน้มระหว่าง ปีพ.ศ. 2549-2554 พบว่าในปีพ.ศ. 2554 โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง มีอัตราความชุกของผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้น ส่วนโรคเรื้อรังทางเดินหายใจส่วนล่าง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง มีแนวโน้ม ลดลงเล็กน้อย
ที่มา : รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ (สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค)
- 1154 views