จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ดังนี้

1.แพทย์ 26,129 คน

2.ทันตแพทย์ 8,081 คน

3.เภสชักร 11,609 คน

4.พยาบาลวิชาชีพ 129,063 คน

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ประเทศไทยยังมีความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะสาขาแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ยังมีความต้องการเพิ่มอีกร้อยละ 20-60 ของจำนวนที่มีอยู่ขณะนี้ เพื่อกระจายบริการประชาชนอย่างทั่วถึง 

ในภาพรวมทั่วประเทศ มีความต้องการ

แพทย์ 40,620 คน หรือแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,800  คน  

ทันตแพทย์ 12,300 คน หรือ 1 คน ต่อประชากร 1,600

และเภสัชกร 14,560 คน เฉลี่ย 1 คน ต่อประชากร 7,500 คน  

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า แพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ยังมีปัญหาการกระจายตัวและขาดแคลนในบางพื้นที่ ทำให้ต้องดูแลประชากรมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็น  โดยมีแพทย์ลาออกจากระบบ เช่น ลาศึกษาต่อ โอนสังกัดหน่วยงานอื่น ประกอบภารกิจส่วนตัว เฉลี่ยปีละ 600 คน ในปี 2555 จำนวน 675 คน ในปี  2556 ลาออกแล้ว 18 คน ส่วนใหญ่ลาศึกษาต่อ และขอกลับมารับราชการใหม่หลังจากสำเร็จการศึกษาและฝึกอบรมความเชี่ยวชาญเฉพาะทางปีละประมาณ 100 คน  

ในภาพรวมบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข  ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องการกระจายตัว  โดยข้อมูล ณ เมษายน 2556 ระบุว่า มี

แพทย์ในระบบ 13,266 คน  ความต้องการแพทย์เต็มระบบจำนวน 13,764 คน ยังขาดอีก 498 คน

ทันตแพทย์ต้องการ 7,444 คน มีแล้ว 4,123 คน  ยังขาดอีก 3,321 คน 

ส่วนเภสัชกรต้องการ 7,051 คน มีแล้ว 5,814 คน ยังขาด 1,237 คน 

และพยาบาล ต้องการ 111,168 คน มีแล้ว 64,655 คน ยังขาด 46,513 คน เป็นสาขาที่ขาดแคลนมากที่สุด

รวมแล้วกระทรวงสาธารณสุขยังขาดแคลนบุคลากรทั้ง 4 วิชาชีพที่กล่าวมา 51,569 คน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคบริการประชาชน โดยเฉพาะปัญหาผู้เจ็บป่วยต้องรอคิวตรวจรักษานาน