ความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชนและบุคลากรในหน่วยบริการ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ดำเนินการสำรวจความเห็นของผู้ให้บริการและประชาชน ในปี 2555 โดยแบ่งการสำรวจเป็นกลุ่มผู้ให้บริการได้จำแนกตามพื้นที่ภูมิภาค จังหวัดของหน่วยบริการ และแบ่งตามประเภทสังกัด ประเภทวิชาชีพของผู้ให้บริการ  ตามสัดส่วนของประชากรแต่ละกลุ่มวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และอื่นๆ รวม 1,364 ตัวอย่าง ใน 13 จังหวัดกระจายทั่วประเทศ ขณะที่กลุ่มประชาชนได้สุ่มในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำแนกตามพื้นที่ภูมิภาค จังหวัด และเขตพื้นที่ (ในเขตอำเภอเมือง-นอกเขตอำเภอเมือง) รวม 2,767 ตัวอย่าง จาก 13 จังหวัด 42 อำเภอ/เขต 176 ตำบล/แขวง 

ผลการสำรวจความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชน ปี 2555 ประชาชนมีความพึงพอใจ ร้อยละ 90.75 ของประชาชนที่เคยใช้บริการ มีคะแนนความพึงพอใจ เฉลี่ย 8.63 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ลดลงในรอบ 4 ปีล่าสุด ในขณะที่ผู้ให้บริการมีความพึงพอใจร้อยละ 68.48 และมีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ย 7.08 คะแนน

นอกจากนี้ ประชาชนรับรู้รับทราบว่าคนไทยทุกคนที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลจากสิทธิอื่นจะเป็นผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร้อยละ 71.1 ประชาชนให้ความสำคัญต่อคุณภาพการรักษาพยาบาลของแพทย์มากที่สุด รองลงมาเป็นคุณภาพด้านยา และเครื่องมือ/อุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ให้บริการให้ความสำคัญด้านความคาดหวังของผู้ป่วยต่อการรับบริการมากที่สุด และความเพียงพอของงบประมาณดำเนินการมากที่สุด

ที่มา : รายงานประจำปี 2555 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)