สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) นำเสนอรายงานสถานการณ์ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ประจำปีงบประมาณ 2556 พบผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติ(สีแดง) ได้รับการช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น จาก 82,895 ราย ในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 167,954 ราย ในปี 2556 ขณะที่การปฏิบัติการฉุกเฉินมีความคล่องแคล่วเพิ่มขึ้น พิจารณาจากสัดส่วนผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ที่ได้รับปฏิบัติการฉุกเฉินภายใน 8 นาที ร้อยละ 47.24 และสัดส่วนผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) และผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) ได้รับปฏิบัติการฉุกเฉิน ภายใน 10 นาที ร้อยละ 75.01 มีรายละเอียดดังนี้
บทสรุปผู้บริหาร
รายงานสถานการณ์ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน สิ้นปีงบประมาณ 2556
สถานการณ์การบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยภาพรวมมีแนวโน้มการปฏิบัติการฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายปีและเริ่มคงที่ในช่วงปี 2555-2556 ทั้งนี้เนื่องมาจากการพัฒนามาตรฐานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรแต่ละประเภทให้มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น การประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ส่งผลให้การปฏิบัติการฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ที่มาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากปี 2553 จำนวน 82,895 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 167,954 ราย สำหรับสถานการณ์ปีงบประมาณ 2556 พบว่า
การปฏิบัติการฉุกเฉินมีความคล่องแคล่วเพิ่มขึ้น พิจารณาจากสัดส่วนผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ที่ได้รับปฏิบัติการฉุกเฉินภายใน 8 นาที ร้อยละ 47.24 และสัดส่วนผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) และผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) ได้รับปฏิบัติการฉุกเฉิน ภายใน 10 นาที ร้อยละ 75.01
คุณภาพปฏิบัติการฉุกเฉินดีขึ้น โดยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ได้รับปฏิบัติการฉุกเฉินจากชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (Advance Life Support) ที่ได้มาตรฐานตั้งแต่จุดเกิดเหตุและนำส่งโรงพยาบาล ร้อยละ 75.34 และมีการแจ้งเหตุผ่านหมายเลข 1669 เพื่อขอรับการช่วยเหลือ ร้อยละ 74.17
การขยายความครอบคลุม โดยการประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีบทบาทในการดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ร้อยละ 67.70 และส่งเสริมให้มีอาสาฉุกเฉินชุมชน เพื่อช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นและสามารถแจ้งเหตุได้ถูกต้องและเหมาะสม แม้จำนวนไม่มากนัก เพียงร้อยละ 0.29 โดยเริ่มต้นจะมุ่งเน้นเป้าหมายในการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เป็นอาสาฉุกเฉินชุมชน (อฉช.) เพื่อการกระจายให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่
อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มการดำเนินงานในหลายส่วนมีความก้าวหน้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้รวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ที่มาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉินต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ทั้งหมดที่มารับบริการ ณ ห้องฉุกเฉิน ของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย พบว่า สัดส่วนผู้ป่วยวิกฤต (สีแดง) ที่มาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ปี 2555 ร้อยละ 20.98 และปี 2556 ร้อยละ 21.13
ข้อเสนอเพื่อการพัฒนา
กระทรวงสาธารณสุขและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติร่วมกัน
1.พัฒนาระบบฐานข้อมูลที่จำเป็นในการประเมินระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เช่น ผู้ป่วยฉุกเฉินที่มารับบริการ ณ ห้องฉุกเฉิน ทั้งที่มาและไม่มาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประโยชน์ในการค้นหาช่องว่างและโอกาสในการพัฒนา เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงระบบการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกัน
2.สื่อสารและประชาสัมพันธ์ที่สอดคล้องกับกลุ่มโรคที่มีอัตราอุบัติการณ์สูง เพื่อให้ประชาชนและผู้ป่วยฉุกเฉินตระหนัก รับรู้ภาวะฉุกเฉิน และเข้าถึงบริการได้อย่างเหมาะสมตามความจำเป็น
3.พัฒนาศักยภาพของศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ เพื่อคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเบื้องต้น โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติทุกราย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจในบริการ
4.พัฒนามาตรฐานและแนวทางปฏิบัติของศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ และการอำนวยการทางแพทย์ที่รองรับการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างเหมาะสม
5.สนับสนุนให้มีการจัดทำโครงสร้างและอัตรากำลังของบุคลากรประจำศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการที่เหมาะสมรองรับการปฏิบัติงาน
6.พัฒนาศักยภาพของบุคลากรประจำศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ให้ได้ตามเกณฑ์ที่กพฉ.กำหนด
7.สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติพัฒนากลไกสนับสนุนเพื่อลดช่องว่างและเพิ่มการเข้าถึงบริการ
8.พัฒนากลไกทางการเงิน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการวิเคราะห์และพบว่ามีช่องว่างในการพัฒนาสูงกว่าพื้นที่อื่น
9.พัฒนามาตรฐาน หลักเกณฑ์ เกณฑ์ และวิธีการปฏิบัติการฉุกเฉิน ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานพยาบาล หน่วยปฏิบัติการ และบุคลากรนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานที่กพฉ.กำหนด
10.ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
11.ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรแต่ละประเภทให้เพิ่มมากขึ้น
- 55 views