รายงานการเข้าถึงบริการของผู้ประกันตนเชิงคุณภาพ “10 กรณีศึกษา ทุกข์ของผู้ประกันตนในการเข้าถึงบริการสุขภาพ”
ภายใต้ โครงการ การจัดทำข้อเสนอทางเลือกและรูปแบบการบริหารจัดการสวัสดิการด้านรักษาพยาบาลของระบบประกันสังคมในอนาคต
จัดทำโดย ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี และคณะ
มูลนิธิแพทย์ชนบท
ได้รับทุนสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ธันวาคม 2554
ที่มาและความสำคัญของปัญหา
การประกันสังคมเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในโลกส่วนใหญ่นำระบบประกันสังคมไปใช้ในการให้หลักประกันชีวิตแก่ประชาชนของตน ตั้งแต่เกิดจนตายหลักประกันสังคมมีคุณลักษณะ เป็นระบบการของการเฉลี่ยทุกข์-เฉลี่ยสุขซึ่งกันและกันระหว่างมวลสมาชิก ซึ่งโดยทั่วไปรัฐบาลของประเทศจะให้ความสำคัญแก่บุคคลที่ทำงาน มีรายได้และอยู่ในระบบแรงงานก่อน และจะขยายความคุ้มครองไปสู่ผู้ทำงานที่มีรายได้นอกระบบ การจ้างงานปกติ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าแรงงานนอกระบบ เงินสมทบที่เก็บไปนั้นจะสะสมเป็นกองทุน ซึ่งจะให้สิทธิประโยชน์เฉพาะกับบุคคลที่ส่งเงินสมทบ ซึ่งประเทศไทย เรียกว่า "ผู้ประกันตน" เท่านั้น การเก็บเงินสมทบ ซึ่งถือว่าเป็นภาษีพิเศษจะเก็บจากบุคคลที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น การประกันสังคมที่ประเทศต่าง ๆ ใช้อยู่ในปัจจุบันจะมีหลักการที่ไม่แตกต่างกัน เนื่องจากการประกันสังคมเป็นโครงการการบริหารทางสังคมในระยะยาวอีกระบบหนึ่งที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดขึ้น ด้วยการให้ประชาชนผู้มีรายได้แต่ละคนได้มีส่วนช่วยตนเองหรือครอบครัวโดยร่วมกันเสี่ยงภัยหรือช่วยเหลือบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนซึ่งกันและกันระหว่างผู้มีรายได้ในสังคม ด้วยการออกเงินสมทบเข้ากองทุนเรียกว่ากองทุนประกันสังคมโดยมีนายจ้างลูกจ้าง และในบางประเทศมีรัฐบาลร่วมออกเงินสมทบเข้ากองทุนนี้ด้วย กองทุนนี้จะจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ส่งเงินสมทบเมื่อเกิดความเดือนร้อน เช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร ว่างงาน ชราภาพ เป็นต้น การประกันสังคมจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ยึดหลักการพึ่งตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกันของประชาชน โดยมีความมุ่งหมายที่จะเป็นหลักการพึ่งตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกันของประชาชน โดยมีความมุ่งหมายที่จะเป็นหลักประกันและคุ้มครองความเป็นอยู่ของประชาชน ให้มีความมั่นคงในการดำรงชีวิต แม้มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องขาดแคลนรายได้ ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข (การประกันสังคมในประเทศไทย สํานักงานประกันสังคม. 2554 : ออนไลน์)
ในประเทศไทย กฎหมายประกันสังคมเริ่มมีการบังคับใช้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2533 ซึ่งเป็นวันที่พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ซึ่งระบบประกันสังคม คือ ระบบที่ให้การประกันแก่บุคคลในสังคมที่ประสบปัญหาหรือได้รับความเดือดร้อนทางการเงินเนื่องจากประสบเคราะห์ภัย หรือมีเหตุการณ์อันทำให้เกิดปัญหาในการดำรงชีพที่บุคคลนั้นต้องการความช่วยเหลือ การประกันสังคมจึงเป็นการร่วมมือกันระหว่างประชาชนในสังคมเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยการรวบรวมเงินทุนเข้าเป็นกองทุนร่วมกัน ภายใต้หลักการเฉลี่ยเฉลี่ยสุข เฉลี่ยความเสี่ยงหรือร่วมกันเสี่ยงต่อเคราะห์ภัยและปัญหาความเดือดร้อนทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบที่จัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันแก่ประชาชนว่า ประชาชนจะได้รับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจหรือทางการเงินในระดับหนึ่ง เมื่อเขาต้องประสบกับภาวะความเดือดร้อนจากการสูญเสียรายได้เนื่องจากต้องว่างงาน การเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพหรือความเป็นอยู่ ซึ่งประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการสร้างหลักประกันสังคมดังกล่าว ได้แก่ บุคคลผู้ส่งเงินสมทบร่วมเป็นกองทุน โดยบุคคลดังกล่าวปฏิบัติตามเงื่อนไขอันก่อให้เกิดสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง หรือได้รับประโยชน์ทดแทนความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า “ผู้ประกันตน” (วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม, 2540 : 10)
กรณีที่ผู้ประกันตนประสบเคราะห์ภัยหรือประสบความเดือดร้อนตามกรณีที่กฎหมายประกันสังคมกำหนด และผู้ประกันตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วเป็นระยะเวลาอย่างน้อยตามที่กฎหมายประกันสังคมกำหนด ผู้ประกันตนจะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในรูปแบบต่างๆตามที่กฎหมายประกันสังคมกำหนดไว้
ประโยชน์ทดแทนตามที่กฎหมายประกันสังคม กำหนดไว้มี กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน สำหรับประโยชน์ทดแทนในรูปแบบบริการทางการแพทย์ตามกฎหมายประกันสังคมนั้น เป็นการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยนอกจากงาน กรณีคลอดบุตร และกรณีทุพพลภาพ นอกจากนี้ยังมีการให้บริการทางการแพทย์ในกรณีอื่นๆนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกันสังคม เช่น กรณีทันตกรรมที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องการทำงานกรณีทันตกรรม เป็นต้น
การให้บริการทางการแพทย์ตามกฎหมายประกันสังคมแก่ผู้ประกันตนเป็นวิธีการช่วยเหลือลูกจ้างในการดำรงชีวิตอย่างหนึ่ง ซึ่งนอกเหนือการที่ลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเงินทดแทนหากลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน เพราะผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้ทันทีที่เกิดการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องมาจากการทำงาน โดยผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าบริการทางการแพทย์ใดๆ ในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ตามกฎหมายประกันสังคมเลย เพราะผู้ประกันตนได้หักเงินเดือนของผู้ประกันตนส่งเข้ากองทุนประกันสังคมไปเรียบร้อยแล้ว
นอกจากกรณีเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บอันมิใช่เนื่องมาจากการทำงานที่มีสิทธิเข้ารับบริการทางการแพทย์แล้ว ยังมีกรณีที่ผู้ประกันตนหรือภริยาของผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์กรณีคลอดบุตร รวมทั้งกรณีทุพพลภาพ โดยลักษณะของการบริการทางการแพทย์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับบริการนั้นจะแตกต่างกันไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 รวมทั้งประกาศคณะกรรมการการแพทย์ในเรื่องต่างๆซึ่งจะได้กล่าวในบทต่อไป
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในส่วนของบริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคม กว่า 20 ปี ที่ผ่านมานั้น ยังมีปัญหาถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก ในประเด็นการแบ่งแยกประเภทของผู้มารับบริการ เรื่องการจ่ายยาจำเป็นที่มีราคาแพง ผู้ประกันตนและนายจ้างไม่เข้าใจสิทธิประโยชน์ในการคุ้มครอง ความไม่เข้าใจขั้นตอนตามระบบประกันสังคม ความไม่พร้อมของโรงพยาบาลในการให้บริการ การมารับบริการนอกเวลาราชการ โรงพยาบาลไม่สามารถนำเงินเหมาจ่ายมาใช้ในการบริหารจัดการให้เกิดความคล่องตัวในการให้บริการได้ การปฏิเสธการรักษา และรวมทั้งการที่ผู้ประกันตนไม่ไปใช้บริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลในโครงการประกันสังคมโดยคิดว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบริการไม่ดี คิดว่ายาไม่ดี และยังไมมีบัตรรับรองสิทธิ เป็นต้น ในปัจจุบันการให้บริการของสถานพยาบาลหลายแห่งมักปรากฏข่าวว่ายังมีการบริการทางการแพทย์ที่ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจของผู้ประกันตน และมักเกิดปัญหาเกี่ยวกับการบริการทางการแพทย์ในด้านการรักษาคุณภาพ และมาตรฐานการให้บริการดังกล่าว
อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาการจัดการและบริหารเรื่องสิทธิสุขภาพ และคุณภาพการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมเป็นปัญหาที่สำคัญ และทำให้ผู้ประกันตนไม่มั่นใจในคุณภาพบริการ กระทั่งการใช้สิทธิรักษาพยาบาลด้วยระบบประกันสังคมที่มีอยู่ได้สร้างความทุกข์ให้กับผู้ประกันตน ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทบต่อชีวิตของผู้ประกันตนเป็นอย่างมาก บางกรณีนำไปสู่การสูญเสียที่ร้าวลึก เช่น การสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รัก การเสียทรัพย์สินจำนวนมาก ตลอดจนการเสียสุขภาพจิต
ดังนั้นการศึกษาความทุกข์จากการใช้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในระบบประกันสังคม จึงมีความจำเป็น เพื่อเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สำคัญ อันแสดงถึงเหตุปัจจัยเชิงโครงสร้าง (structural sources) ของสวัสดิการสุขภาพในระบบประกันสังคม อันเป็นเหตุที่ทับถมความทุกข์ของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะการพัฒนาสวัสดิการสุขภาพของระบบประกันสังคม ขณะเดียวกันการนำเสนอเรื่องราวชีวิตจริงของผู้ประกันตนที่ประสบกับความทุกข์จากการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพในระบบประกันสังคม จะเป็นไปเพื่อสร้างความตื่นตัวกับสังคมในการผลักดันเพื่อให้เกิดการพัฒนาสวัสดิการด้านสุขภาพในระบบประกันสังคมที่มีสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน
วัตถุประสงค์
- เสนอกรณีศึกษาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับกับการใช้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแล้วสร้างความทุกข์ให้กับผู้ประกันตน ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ขณะที่ใช้บริการและเหตุการณ์ต่อเนื่อง
- เสนอบทวิเคราะห์สาเหตุที่บ่งชี้ถึงปัญหาเชิงระบบของบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นมูลเหตุของความทุกข์ยากในการใช้บริการของผู้ประกันตน
- เผยแพร่ผลการศึกษาแก่สาธารณชน เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะของความทุกข์ และปัญหาของสวัสดิการสุขภาพในระบบประกันสังคม อันจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการผลักดันการพัฒนาสวัสดิการสุขภาพในระบบประกันสังคม
ขอบเขตการศึกษา
การศึกษาครั้งนี้ครอบคลุมเพียงการใช้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของผู้ประกันตน ณ หน่วยบริการของรัฐและเอกชน ทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑล และต่างจังหวัด กรณีศึกษาคัดสรรจากแหล่งที่มีการรายงานหรือร้องทุกข์จึงไม่ครอบคลุมผู้ใช้บริการที่มิได้แจ้งเรื่องราวต่อแหล่งข้อมูลที่คัดเลือก การศึกษานี้มิได้แสดงจำนวน ความถี่ หรือหน่วยทางปริมาณใดๆ
วิธีการศึกษา
-
สำรวจและคัดเลือกกรณีศึกษาจากรายงานของหน่วยงานที่ประชาชนร้องทุกข์ภายในระยะเวลา 3 ปี หรือช่วงระหว่างพ.ศ.2551-2553 ก่อนการศึกษานี้ โดยดำเนินการสำรวจจากทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน ดังนี้
-
หน่วยงานของรัฐ จำนวน 2 แห่ง คือ
- กองประกอบโรคศิลป์ กระทรวงสาธารณสุข
- สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
-
องค์กรวิชาชีพ
- แพทยสภา
- สภาทนายความ
-
องค์กรพัฒนาเอกชน
- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
- เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์
-
สื่อมวลชน
- หนังสือพิมพ์รายวัน จำนวน 8 ฉบับ ได้แก่ ไทยรัฐ เดลินิวส์ คมชัดลึก ข่าวสด มติชน กรุงเทพธุรกิจ ไทยโพสต์ บางกอกโพสต์
-
หน่วยงานของรัฐ จำนวน 2 แห่ง คือ
- วิธีการคัดเลือกกรณีศึกษา โดยพิจารณาความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของข้อมูล ความเป็นไปได้ในการศึกษาและติดตามข้อมูลเพิ่มเติม ตลอดจนคำนึงถึงความหลากหลายของกรณีศึกษา ทั้งในส่วนของหน่วยบริการ ลักษณะของผู้ประสบทุกข์ รวมถึงลักษณะปัญหาและลักษณะที่มาแห่งความทุกข์ เพื่อให้เหลือกรณีศึกษาที่เหมาะสมเบื้องต้นจำนวน 20 กรณี
- ติดต่อกรณีศึกษาทั้ง 20 กรณี เพื่อสอบถามความยินยอม ตลอดจนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเบื้องต้น และคัดเลือกกรณีที่เหมาะสมและได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวน 10 กรณี
- นักวิจัยศึกษารายละเอียดของทั้ง 10 กรณี ด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและเข้าสังเกตการณ์ยังสถานที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้การรวบรวมข้อมูลจะใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกบุคคลผู้ประสบทุกข์ และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ด้วย
- เรียบเรียงนำเสนอในรูปแบบรายงานการศึกษาวิจัย
ระเบียบวิธีวิจัย
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการรวบรวมกรณีศึกษา 10 กรณี ซึ่งดำเนินการโดยผู้ประสานงานวิจัยจำนวน 1 คน และคณะนักวิจัย 5 คน การรวบรวมข้อมูลจะใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายผู้ประสบทุกข์ และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องด้วย
นิยามศัพท์เฉพาะ
ระบบประกันสังคม หมายถึง ระบบซึ่งให้ความคุ้มครองและหลักประกันแกลูกจ้าง/ผู้ประกันตนที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตที่ไม่เนื่องจากการทำงาน รวมทั้งการคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ ว่างงานตามกฎหมายประกันสังคม และลูกจ้างที่ประสบอันตรายเจ็บป่วย ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต เนื่องจากการทำงานตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533
ผู้ประกันตน หมายถึง ผู้ซึ่งจ่ายเงินสมทบอันก่อให้เกิดสิทธิตามระบบประกันสังคมโดยมีอายุไมต่ำกว่า 15 ปี และไม่ เกิน 60 ปีบริบูรณ์ โดยไม่จำกัดสถานที่ทำงาน รายได้ และเป็นผู้เลือกใช้สิทธิการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขในระบบประกันสังคม
ความทุกข์ หมายถึง ความทุกข์ของผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม ทั้งที่เป็นความทุกข์ที่คิดและรู้สึก และความสูญเสียที่ปรากฏให้เห็นทั้งในปัจจุบันและที่เป็นผลต่อเนื่องจากการใช้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขในระบบประกันสังคม
ความพึงพอใจ หมายถึง ความรู้สึกหรือความคิดเห็นของผู้ประกันตนต่อการให้บริการของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขในระบบประกันสังคมในการบริการตรวจรักษาของแพทย์และพยาบาล การบริการด้านการจ่ายและเวชภัณฑ์
การบริการตรวจรักษาของแพทย์และพยาบาล หมายถึง การให้บริการในการตรวจรักษาโรคแก่ผู้ประกันตน ความพร้อมของแพทย์และพยาบาลในการให้การรักษา ความสนใจ เอาใจใส่ กระตือรือร้น และพร้อมให้ความรู้ คำแนะนำที่ดีแก่ผู้ประกันตนที่เข้ารับการรักษาจากแพทย์ และพยาบาลและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขในระบบประกันสังคม
บริการทางการแพทย์ หมายถึง การให้บริการดูแลรักษาในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันไม่ใช่เนื่องจากการทำงานตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.3533
ระบบบริการสุขภาพ หมายถึง ระบบที่เกี่ยวข้องโดยตรงและเชื่อโยงกับกระบวนการให้บริการด้านสุขภาพแก่งประชาชน ได้แก่ ลักษณะและคุณภาพการให้บริการ การตรวจสอบคุณภาพการให้บริการ ตลอดจนระบบการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาจากการใช้บริการอันเนื่องมาจากหน่วยบริการ ระบบประกันสังคม โดยเกี่ยวข้องกับองค์กรวิชาชีพ สื่อมวลชน กฎหมายหือมาตราที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
การรายงานผลและการวิเคราะห์
การวิเคราะห์ผลในส่วนที่เป็นการวิจัยมุ่งเน้นการแสดงเหตุปัจจัยเชิงโครงสร้าง (structural sources) ของสวัสดิการสุขภาพในระบบประกันสังคม อันเป็นเหตุที่ทับถมความทุกข์ของผู้ป่วย โดยไม่เน้นการเพ่งโทษที่ตัวบุคคลที่เกิดขึ้นจากกรณีศึกษา แต่จะเป็นการวิเคราะห์เชิงระบบที่ให้ได้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาสวัสดิการสุขภาพของระบบประกันสังคม ขณะเดียวกันการนำเสนอเรื่องราวชีวิตจริงของผู้ประกันตนที่ประสบกับความทุกข์จากการรับบริการทางการแพทย์และสุขภาพในระบบประกันสังคม จะเป็นไปเพื่อสร้างความตื่นตัวกับสังคมในการผลักดันเพื่อให้เกิดการพัฒนาสวัสดิการด้านสุขภาพในระบบประกันสังคมที่มีสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน
ข้อจำกัดในการศึกษา
ด้วยเหตุที่การศึกษานี้มุ่งศึกษาถึงความทุกข์ของผู้ประกันตนจากการใช้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในระบบประกันสังคม เพื่อทำความเข้าใจถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ ดังนั้นการคัดเลือกกรณีศึกษาเบื้องต้น จึงเป็นการสำรวจกรณีที่มีการร้องเรียนตามหน่วยงานต่างๆ ซึ่งกรณีเหล่านี้ย่อมเป็นกรณีที่ค่อนข้างมีระดับความรุนแรงของปัญหาอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของการศึกษานี้มุ่งมองที่ความทุกข์และเหตุที่มาของความทุกข์ในเชิงระบบมากกว่าการมองเฉพาะเหตุการณ์ ระดับความรุนแรงของกรณีเหล่านี้จึงมีประโยชน์ในแง่ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาชัดเจนขึ้น เพื่อที่จะนำไปสู่แนวทางแก้ไขได้
ในการคัดเลือกกรณีที่เหมาะสมเพื่อทำการศึกษา บางกรณีประสบปัญหาในการติดต่อผู้ประกันตนและครอบครัว ทำให้บางกรณีแม้น่าสนใจแต่ก็ติดตามไม่ได้ หรือผู้ประสบทุกข์ไม่พร้อมที่จะให้ศึกษา เนื่องจากมีการทำข้อตกลงกับโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง
แม้ว่าการศึกษานี้จะเน้นที่ความทุกข์และการมองปัญหาสวัสดิการสุขภาพในระบบประกันสังคมอย่างเป็นระบบ แต่ในรายละเอียดของเหตุการณ์และเรื่องราวก็ไม่สามารถเลี่ยงได้ที่จะมีประเด็นทางการแพทย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะในบางกรณีประเด็นทางการแพทย์หรือประเด็นเกี่ยวกับเทคนิคการรักษาเป็นประเด็นสำคัญที่เชื่อมโยงอยู่กับความทุกข์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นในการศึกษาจึงจำเป็นต้องมีการหารายละเอียดและข้อวิเคราะห์ในประเด็นเหล่านี้อยู่ในบางระดับด้วยการสัมภาษณ์ผู้รู้ ซึ่งในการวิเคราะห์ส่วนหนึ่งต้องอาศัยการตีความ จึงนับเป็นข้อจำกัดประการหนึ่ง แต่ได้พยายามระมัดระวังที่จะไม่มองปัญหาผ่านข้อมูลด้านนี้มากนัก
การพยายามลดข้อจำกัดในการศึกษา โดยการสัมภาษณ์ผู้ให้บริการ หน่วยงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เพื่อตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง และเพื่อการเข้าถึงข้อเท็จจริงขอความทุกข์ที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด แต่มีความเป็นไปได้ ในบางกรณีอาจยังไม่สามารถชี้ได้ว่าคำให้การหรือคำบอกเล่าของฝ่ายใดเป็นจริง หรือฝ่ายใดเป็นต้นเหตุของปัญหา อย่างไรก็ดีการศึกษาครั้งนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพิสูจน์ความถูกผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พยายามหาที่มาของปัญหาเชิงโครงสร้าง
กรอบการศึกษา
เป็นการศึกษาความทุกข์ของผู้ประกันตนและครอบครัวในการใช้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขในระบบประกันสังคม ทั้งความทุกข์ที่เกิดก่อนมารับบริการและความทุกข์ที่เกิดหลังจากกรับบริการ โดยพิจารณาว่าความทุกข์นั้นมีความสัมพันธ์กับโครงสร้างการการดำเนินการด้านสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพในระบบประกันสังคมอย่างไร
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
- กรณีศึกษา 10 กรณี ทุกข์ของผู้ประกันตนในการเข้าถึงบริการสุขภาพ เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างในการพัฒนาสวัสดิการสุขภาพในระบบประกันสังคม
- รายงานการวิจัยเชิงคุณภาพตามมาตรฐานทางวิชาการกระบวนการศึกษาที่เป็นธรรม ได้มาตรฐานทางวิชาการ
- ต้นฉบับเอกสารเผยแพร่สำหรับสาธารณชนที่เรียบเรียงใหม่จากผลการวิจัย
ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม ได้จากเอกสารประกอบ ด้านท้ายบทความ
- 529 views