สธ. ประกาศผลสำเร็จการคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในประชาชนและกลุ่มเสี่ยง ได้เกินเป้าหมาย 1.8 ล้านคนทั้งสองโรค ตั้งเป้าหมายคัดกรองต่อเนื่องให้ได้ 42 ล้านคนในปี 2573 ชี้หากนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาได้ครบ จะป้องกันเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้มากกว่า 5,000 คนต่อปี ลดการเสียชีวิตได้ 1,600 คนต่อปี
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พร้อมทั้งยังมีพิธีมอบประกาศเกียรติคุณหน่วยงานดีเด่นในการดำเนินงานด้านโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการขับเคลื่อนการป้องกันควบคุมโรค และภัยสุขภาพในระดับพื้นที่ และยกย่องความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบได้อย่างต่อเนื่อง รวม 45 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล รพ.สต. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี เป็นปัญหาทางสาธารณสุขระดับนานาชาติรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดตับแข็ง มะเร็งตับ โดยทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี 254 ล้านคน ไวรัสตับอักเสบ ซี 50 ล้านคน องค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิก จึงเห็นชอบในการกำจัดโรคดังกล่าวให้สำเร็จภายในปี 2573 กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายมะเร็งครบวงจร ตั้งเป้าหมายรณรงค์คัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในปี 2567 ให้ได้ 1 ล้านคน โดยเฉพาะในประชากรที่เกิดก่อนปี 2535 และกลุ่มเสี่ยง สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ได้ในสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด สามารถคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ บี ได้ถึง 1.85 ล้านคน ส่วนไวรัสตับอักสบ ซี 1.83 ล้านคน และจะคัดกรองต่อเนื่องให้ถึงเป้าหมาย 42 ล้านคน ในปี 2573 ทั้งนี้ หากสามารถนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาจะสามารถป้องกันโรคตับแข็งได้ 5,378 คนต่อปี ป้องกันมะเร็งตับได้ 2,675 คนต่อปี และลดอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ได้ 1,604 คนต่อปี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษา ลดโอกาสเกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้วางมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบ ดังนี้
1) ตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในประชากรทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่อง
2) ให้บริการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี แก่เด็กในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
3) ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในหญิงตั้งครรภ์ทุกคน ให้ยาต้านไวรัสในรายที่มีปริมาณไวรัสสูง รวมถึงดูแลลูกที่เกิดจากแม่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ให้ได้รับวัคซีน ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป และตรวจหาการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบ บี เมื่อลูกอายุครบ 1 ปี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
4) ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ชนิดเรื้อรัง ด้วยยาต้านไวรัสตำรับใหม่ที่มีประสิทธิผลในการรักษาดีและอัตราการดื้อยาต่ำ โดยเฉพาะยา Sofosbuvir /Velpatasvir สำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ที่มีประสิทธิผลในการรักษาหายขาดได้เกือบ 100%
ทั้งนี้ ภายในงานฯ มีการจัดแสดงนิทรรศการภายใต้แนวคิด “We’re not waiting : HBV & HCV ตรวจเลย รอไม่ได้ เข้าถึงง่ายด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ประชาสัมพันธ์ความรู้โรคไวรัสตับอักเสบ และเวทีอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์หรือปัจจัยสนับสนุนการดำเนินงานที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการจัดบริการตรวจคัดกรอง ของพื้นที่เป็นต้น
- 346 views