สคบ.เผย 6 เดือน จับของกลาง “บุหรี่ไฟฟ้า” ได้กว่า 80 ล้านบาท  สสส.เดินหน้าปรับพฤติกรรม-สร้างสิ่งแวดล้อมเป็นมิตร สู้การตลาดมุ่งกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้หญิง เป็นักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 10 เท่า

 

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม   ที่อาคาร CP ALL Academy สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จัดแถลงข่าว "ปลอดภัยจากควันพิษ : ร่วมรณรงค์ ขจัดบุหรี่ไฟฟ้า สร้างสังคมสุขภาพ" เพื่อสร้างความตระหนักในพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า

นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สคบ. กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้เรากำลังต่อสู้กับคนที่บอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องดี สร้างรายได้มหาศาล สร้างข้อมูลว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน ประเทศอื่นปล่อยฟรี นี่คือสงครามข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เด็กเยาวชนได้ยินบ่อยจนเกิดความเคยชิน โดยพบเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน 30% สคบ.จึงใช้กฎหมายเข้าไปตรวจสอบดำเนินการตามที่ได้รับแจ้งเบาะแสเข้ามาทั่วประเทศ ย้ำว่าเจ้าหน้าที่ส่วนมากไม่อยากให้มีบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศ แต่ก็ยังมีส่วนน้อยที่มีผลประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันร้านมีการปรับกลยุทธ์มีหน้าร้านจริง แต่สต็อกของไว้ที่อื่น ตั้งกลุ่มไลน์ผู้ซื้อแล้วค่อยส่งของตามไป

“บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้สูบวันนี้แล้วตายวันนี้ แต่สูบวันนี้ผ่านไป 3 ปี จะมีคนป่วยทางเดินหายใจล้นโรงพยาบาล  ดังนั้น สคบ.ต้องไปสกัด แม้จะมีกำลังคนจำกัด แต่มีเครือข่าย เยาวชนที่คอยแจ้งเบาะแส ซึ่งเมื่อเดือนก.พ.2567-ปัจจับุน ยึดบุหรี่ไฟฟ้าหลายแสนชิ้น มูลค่า 80 กว่าล้านบาท เชื่อหรือไม่ว่าบางคนมั่นใจว่าพกไว้ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งต้องบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายการลักลอบนำเข้ามีโทษตามกฎหมายศุลกากร จำคุก 5 ปี เด็กที่พกอาจจะผิดกฎหมายนี้ก็ได้ มีประวัติติดตัว ดังนั้นเราต้องปกป้องเด็กจากด้านนี้ด้วย”  นายเลิศศักดิ์ กล่าว

นายเลิศศักดิ์ กล่าวอีกว่า การลักลอบผลิตเพื่อขาย ขาย บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เป็นความผิดตามคำสั่งคณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการที่ 24/2567 เรื่อง ห้ามผลิตเพื่อขาย ห้ามขายหรือให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หากฝ่าฝืนเป็นความผิดตามพรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ พบเห็นการลักลอบผลิตเพื่อขาย ขาย บุหรี่ไฟฟ้า สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ หรือ www.ocpb.go.th หรือศูนย์ดำรงธรรม ในทุกจังหวัด

ด้าน น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า "บุหรี่" เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพสูง เป็นสาเหตุสำคัญต่อการเสียชีวิตของคนไทยจากโรคมะเร็งมากที่สุดถึง 26.1% เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-4 เท่า และมะเร็งปอด 25 เท่า ที่น่าเป็นห่วง คือ ปัจจุบัน "บุหรี่ไฟฟ้า" กำลังเป็นกระแสนิยมในเด็ก เยาวชน และผู้หญิง โดยพบว่า คนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 78,742 คน ในปี 2564 เป็น 709,677 คน ในปี 2565 เนื่องจากธุรกิจยาสูบปรับกลยุทธ์ทางการตลาดมุ่งเน้นเด็ก เยาวชนและผู้หญิงเพิ่มขึ้น และพยายามสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า การสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติและเรื่องธรรมดา ทำให้ผลสำรวจบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชนไทย (GYTS) ปี 2565 พบเด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า คือ จาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6% ในปี 2565

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร กรรมการวิชาการ ศจย. กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกา ในอดีตมีคดีการฟ้องร้องบริษัทบุหรี่ ที่มีการโกหกสาธารณะในหลายประเด็น ทั้งเรื่องอำนาจการเสพติด การควบคุมระดับสารของนิโคตินได้ ผลกระทบต่อสุขภาพ การทำการตลาดต่อเด็กและเยาวชน การกล่าวอ้างถึงความปลอดภัยของบุหรี่ เช่น คำว่า LIGHT หรือ MILD ทำให้บริษัทบุหรี่แพ้คดี และต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนมหาศาล เช่นเดียวกับปัจจุบันที่มีฟ้องร้องบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำการตลาดกับเด็กและเยาวชน นำไปสู่การจ่ายค่าชดเชยจำนวนมหาศาลเช่นกัน ขณะที่ประเทศไทยเริ่มได้รับการคุกคามจากอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า แม้จะยังเป็นของต้องห้ามตามกฎหมาย แต่กลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่แตกต่างกับบริษัทบุหรี่เดิม ที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งมีมาไม่นาน เมื่อเทียบกับบุหรี่มวนที่กว่าจะรู้ว่าอันตรายก็ใช้เวลานานแล้วจะมั่นใจได้ว่าอย่างไรว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย ดังนั้น อย่าไปยุ่งกับบุหรี่ไฟฟ้าดีที่สุด

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “ธนกฤต” ยันสู้ขบวนการบุหรี่ไฟฟ้า ไม่สนนายทุนหรือนักการเมือง แฉมีคนขอให้ปล่อยผ่าน)