ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ช่วยรมต.สธ. พร้อมสู้ขบวนการบุหรี่ไฟฟ้า แฉมีคนติดตต่อ ขอปล่อยผ่าน แต่ไม่กลัว พร้อมจัดการ ด้านสคบ.เผยกฎหมายห้ามขายเพราะเป็นสินค้าอันตราย ฝ่าฝืนโทษหนักยิ่งกรณีผู้บริโภครับอันตรายสาหัส คนขายมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 ล้าน  ด้านเครือข่ายเยาวชนฯ เผยผลสำรวจบุหรี่ไฟฟ้าเข้าทุกกลุ่ม ไม่เว้นนักศึกษาแพทย์บางส่วนยังสูบ เพราะรูปลักษณ์แพคเกจเปลี่ยนไป

 

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่สวนโมกข์กรุงเทพ เขตจตุจักร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 5 บุหรี่ไฟฟ้า ฆ่าเยาวชนไทย "อย่าปล่อยให้ ฆาตกรลอยนวล"  

โดยนายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะทำงานบูรณาการเพื่อปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า กล่าวตอนหนึ่งในเวทีเสวนา ว่า ฯพณฯ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญในเรื่องของการป้องกันและปราบปราม ตลอดจนเรื่องการบูรณาการและบังคับใช้กฎหมาย และตั้งแต่ตนได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะทำงานบูรณาการเพื่อปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กระทรวงการคลัง โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลัก  

ยืนยันว่า เรื่องอะไรก็ตามที่เป็นพิษ เป็นภัยต่อสังคม เป็นพิษ เป็นภัยต่อเยาวชน ผู้บริหาร ตั้งแต่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี หรือรมว.สาธารณสุข ตลอดจนถึงผู้บริการใน สสส. ส่วนที่เกี่ยวข้องในกระทรวงสาธารณสุข ตนยืนยัน 100% เลยว่าไม่มีใครสนับสนุนให้เกิดการยอมรับในเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพราะว่าพิษภัยที่เกิดตามมาอีกมาก ทั้งปัญหาสุขภาพ เศรษฐกิจ และภัยสังคม การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อให้เกิดการใช้ยาเสพติดอื่นเข้าไปอีก และที่ตนรับไม่ได้คือ เยาวชนอายุไม่เกิน 12 ปี ยืนอยู่หน้าร้านรอเวลาเปิดแล้วเข้าไปซื้อบุหรี่คาชุดนักเรียน ชุดลูกเสือ ดังนั้นเรื่องนี้ทุกฝ่ายจะต้องจริงจังในการแก้ไขปัญหา

“ใครจะอย่างไรก็แล้วแต่ ผมไม่สนว่าจะเป็นประโยชน์ของใคร ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ต่อตัวผู้ค้าเอง เป็นผลประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐที่ ต้องใช้คำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เลวทรามต่ำช้ามาก เพราะถ้ามันมีการเรียกรับผลประโยชน์ เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ หรือไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองก็ตาม ถ้าเรื่องนี้ผมไม่มีวันยอมให้ผ่านไปได้ หลังจากที่ได้มีการดำเนินการในสิ่งเหล่านี้แล้ว บอกได้เลยว่ามีคนติดต่อเข้ามาว่าให้ปล่อยผ่านได้มั้ยเรื่องนี้ ดูแลกัน ผมก็พยายามอยู่ อยากให้มาดูเร็วๆ หน่อย เพราะว่าผมก็จะได้ดำเนินคดีในเรื่องอื่นต่อไปอีก”ผู้ช่วยรมต.ประจำสธ.กล่าว

นายกองตรีธนกฤต กล่วอีกว่า  ต้องบอกว่าที่ตนทำอยู่นั้นอันตรายเพราะไปขัดผลประโยชน์ของคนอื่น แต่อย่างไรก็แล้วแต่ เรื่องนี้ ถ้าวันนี้ตนจะต้องถูกเตะ ถูกลอบทำร้ายก็เกิดจากการที่ตนจะต้องมาเป็นแนวหน้าในการบุกกับเรื่องที่จะเป็นปัญหาต่อเยาวชนของชาติ

“ผมก็พร้อมที่จะเจ็บ ถึงตายได้ไม่มีปัญหาหรอก”นายกองตรีธนกฤต กล่าว

นายภูมินทร์ เล็กมณี ผอ.ฝ่ายเฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าและบริการ สคบ. กล่าวว่า  สคบ.เป็นหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อมีสินค้าเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ ที่ผ่านมา สคบ.มีการตรวจสอบบุหรี่ไฟฟ้า พบสารนิโคติน สารโลหะหนัก ปรอท ตะกั่ว และสารอันตรายอื่นๆที่ก่อโรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพอง โดยนำเรื่องนี้เสนอคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จนมีการออกคำสั่งห้ามขายสินค้าดังกล่าว และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าอันตราย ไม่ก่อประโยชน์ จึงห้ามขายเป็นการถาวร และหากมีการจำหน่าย การขายถือว่าผิดกฎหมาย

นายภูมินทร์ กล่าวว่า ล่าสุดคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ออกคำสั่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567  โดยเพิ่มเรื่องการผลิตเพื่อจำหน่าย หากใครผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งในหรือส่งออก ถือว่าผิดหมด และยังเพิ่มคำนิยามบุหรี่ไฟฟ้า ให้รวมอุปกรณ์ที่เป็นส่วนพ่วงนำมาเป็นบุหรี่ไฟฟ้า สำหรับโทษผู้จำหน่าย คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 6 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

“จริงๆมีโทษหนักกว่านี้ กรณีผู้บริโภคซื้อสินค้าไปแล้วทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย จะมีโทษสูงขึ้น คือ จำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 8 แสนบาท หากอันตรายถึงสาหัสเพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่หากเสียชีวิตจะมีโทษเพิ่ม กลายเป็นจำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 แสนถึง 2 ล้านบาท” นายภูมินทร์ กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สคบ. เผยบางกลุ่มเชื่อว่าพก "บุหรี่ไฟฟ้า" ไม่ผิดกฎหมาย ทั้งที่ไม่ใช่ เร่งสร้างความเข้าใจ)

ด้านนายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้า ไม่เลือกว่าจะเป็นเด็กดีหรือเด็กไม่ดี เด็กกลุ่มเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง การศึกษาสูงหรือไม่สูง เด็กเรียนดีหรือเรียนไม่ดี รวยหรือจน บุหรี่ไฟฟ้าไม่เลือก เพราะระบาดไปทุกกลุ่มแล้ว เพราะรูปลักษณ์บุหรี่ไฟฟ้าเปลี่ยนไป ขนาดนักศึกษาแพทย์บางส่วนยังมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วย ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีการสำรวจจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าตอนนี้ วัยรุ่นหญิงสูบมากขึ้น

“ร้านบุหรี่ไฟฟ้าที่อยู่ใกล้สถานศึกษา จะมีการจ้างเด็ก เยาวชน ไปขาย วันละ 400 บาท ข้อมูลมาจากการบุกจับจนพบข้อมูลตรงนี้ เรื่องนี้ไม่ใช่มิติการสูบบุหรี่ แต่ถูกหลอกขายอีกด้วย” นายพชรพรรษ์ กล่าว

 

ขณะที่ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  กล่าวว่า  มาตรการทางกฎหมายเป็นจิ๊กซอว์เล็กๆน้อยๆที่มีอยู่ 4-5 ฉบับ แต่มีข้อจำกัดในตัว  อย่างไรก็ตาม ประเด็นใหญ่เรื่องกฎหมายคือ มีไว้ในครอบครองแล้วผิด ตรงนี้ ครูหรือใครก็สามารถดำเนินการได้ เพราะโดยวัตถุมีไว้ก็ผิด แต่ปัจจุบันเป็นการผิดข้างเคียง เช่น นำเข้ามาผิด นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่าสิ่งที่กฎหมายกำหนดชัดเจนอยู่แล้วก็ไม่มีการดำเนินการ คือ มีประกาศห้ามขาย ห้ามนำเข้า  แต่สะท้อนระบบกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ยังมีช่องว่างช่องโหว่ แม้แต่ยาเสพติดยังเกลื่อนเมือง สะท้อนปัญหาเชิงระบบของประเทศไทย  เพราะฉะนั้น บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเพียงภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมาเพียงเรื่องเดียว

ดังนั้น  สังคมต้องเรียกร้องสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว หากพื้นที่ใดมีสิ่งเหล่านี้ค้าอยู่ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องรับผิดชอบ โดยต้องรับผิดชอบในเชิงพื้นที่ ตรงนี้ใช้มาตรการบริหารของนายกรัฐมนตรีได้เลย โดยไม่ต้องไปออกกฎหมายอะไรเพิ่มเติม เนื่องจากมีคำสั่งของ สคบ. ประกาศกระทรวงพาณิชย์รองรับอยู่แล้วว่าห้ามขาย   

“ ถ้าฝ่ายการเมืองเห็นแก่ลูกหลานของประเทศ ใช้มาตรการทางบริหารก่อน ห้ามเด็ดขาดพื้นที่ใดมีขายให้เห็น ผู้รับผิดชอบทางกฎหมายในพื้นที่ต้องรับผิดชอบ  โดยนายกรัฐมนตรีใช้มาตรการทางบริหารประกาศใหชัดเจนไปเลยว่าพื้นที่ใดมีการค้าบุหรี่ไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในพื้นที่ต้องรับผิดชอบ เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาเบาบางลง"  ศ.ดร.บรรเจิด กล่าว