ไทยเฝ้าระวังหลังองค์การอนามัยโลก รายงานผู้ป่วย 1 ราย ติดเชื้อไข้หวัดนกชนิดA(H5N2) ในเม็กซิโก เสียชีวิตแล้ว ซึ่งยังไม่ทราบแหล่งที่มาการสัมผัสเชื้อชัดเจน ด้าน “สมศักดิ์” เผยไทยยังไม่เสี่ยงไข้หวัดนก ยังไม่ต้องกังวล มีอดีตอธิบดีกรมปศุสัตว์ “นสพ.สรวิศ” เฝ้าระวัง แนะนำอย่าดื่มนมดิบ ที่ไม่ผ่านพาสเจอไรซ์  ส่วนกรมควบคุมโรคเฝ้าระวังร่วมนอกกระทรวงฯ ผ่านศูนย์ One Health

 

จากกรณีองค์การอนามัยโลกยืนยันผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกเสียชีวิตแล้ว โดยยังไม่ทราบแหล่งที่มาของการสัมผัสเชื้อในกรณีดังกล่าว แต่มีรายงานว่าเป็นไข้หวัดนก ชนิดA(H5N2) ได้แพร่ระบาดในสัตว์ปีกในเม็กซิโก โดยนับเป็นครั้งแรกของโลกที่ได้รับการยืนยันจากห้องแล็บว่ามีคนติดเชื้อไวรัส A(H5N2)  

 

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสมศักดิ์  เทพสุทิน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นสพ.สรวิศ ธานีโต อดีตอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข เข้าร่วมด้วย

นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกในต่างประเทศ ว่า เรื่องไข้หวัดนกนั้นที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์ กรณีพบผู้ติดเชื้อประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย โดยเฉพาะในประเทศเม็กซิโกที่เกิดการติดเชื้อและเสียชีวิตทั้งที่ไม่ได้มีการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง ถือเป็นข้อมูลใหม่ที่เพิ่งมาเมื่อเช้า ที่ประชุมมีการพูดคุยเรื่องนี้ และมีการเตรียมความพร้อมระวังเหตุ แม้ว่าวันนี้จะยังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยก็ตาม

“ในต่างประเทศก็ต้องติดตามสถานการณ์ผ่านองค์การโรคระบาดสัตว์อย่างใกล้ชิด เบื้องต้นยังมีคนเสียชีวิตเพียง 1 คน เราก็ต้องระวัง และมีการพูดคุยกันเลย ถือว่าเร็วมาก เราทราบข้อมูลก็ประชุมติดตามทันที”  นายสมศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามถึงแผนเฝ้าระวังนอกจากระวังในสัตว์ปีกแล้วจะเพิ่มการเฝ้าระวังในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือไม่ เพราะมีรายงานเจอในสัตว์อื่นๆ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมด้วย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า มีทีมวิชาการคอยติดตามอยู่แล้ว ต้องเปิดตำรามาดู และเก็บข้อมูล รวมถึงนำข้อมูลต่างประเทศมาใช้ ตลอดจนการมองหายารักษาโรค อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ประเทศไทยยังไม่มีความเสี่ยง ส่วนสถานการณ์เพื่อนบ้านของไทยก็มีมาตรการดูแลเฝ้าระวังให้ดี อย่างเมื่อก่อนจำได้ว่า ตอนนั้นตน เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีการทำลายสัตว์ปีกจำนวนมหาศาลโดยใช้ระเบียบกำกับด้วย วันนี้ก็มีการปรับปรุงระเบียบให้ทันสมัยมากขึ้น ไม่จำเป็นที่ต้องไปทำลายสัตว์เป็นจังหวัดๆ แต่ให้ดำเนินการในกลุ่มหมู่บ้านเล็กๆ

เมื่อถามถึงกระทรวงสาธารณสุขจะขอให้มีการสุ่มตรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ นอกจากสัตว์ปีกหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้ นสพ.สรวิศ ธานีโต อดีตอธิบดีกรมปศุสัตว์มาเป็นที่ปรึกษา แนะนำว่า ไม่ควรดื่มนมสด ถ้าไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ หรือทำให้เป็นอาหารปลอดภัยก่อน เพราะอาจจะเสี่ยงได้ ดังนั้นต้องไม่ประมาท ย้ำว่า ในอดีตการเลี้ยงหมูอาจจะยังไม่สะอาดมากนัก แต่ปัจจุบันการเลี้ยงมีความสะอาด โรคหมูเข้าไปไม่ง่าย

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคมีระบบในการติดตามเฝ้าระวังตลอด โดยดำเนินการที่เรียกว่า วัน เฮลธ์ (One Health) อย่างกรมปศุสัตว์ ดูแลสัตว์ ส่วนกรมควบคุมโรคเราดูเรื่องคน  ซึ่งก็จะมีระบบเฝ้าระวังต่างๆ อย่างมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) คอยสอดส่องเฝ้าระวัง พบอะไรผิดปกติก็จะแจ้งเข้ามา เรียกว่า ไม่ได้ร่วมมือแค่ระดับกระทรวงสาธารณสุข แต่ร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ร่วมมือในระดับจังหวัดด้วย  รวมไปถึงต่างประเทศ อย่างศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐ หรือ CDC มีการส่งข้อมูลกันตลอด

“นอกจากนี้ ในเรื่องการตรวจสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ ที่มีคนกังวลว่า อาจมีไข้หวัดนกด้วยหรือไม่นั้น ไม่ต้องกังวล เพราะเรามีการตรวจสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่เป็นประจำ ว่า เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ชนิดไหน อย่างไร และขอยืนยัน 100% และล้านเปอร์เซ็นต์ว่า ไม่มีไข้หวัดนกในขณะนี้ ที่สำคัญยังไม่ได้รับรายงานจากกรมปศุสัตว์ว่า มีสัตว์ปีก หรือสัตว์อื่นๆ ตายโดยผิดปกติ” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

เมื่อถามว่าขณะนี้กรมควบคุมโรคต้องส่งข้อมูลเฝ้าระวังไปยังระดับภูมิภาคหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า มีการดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้วในเรื่องการเฝ้าระวัง ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ทำกันมาตลอดผ่านระบบศูนย์ประสานงานสุขภาพหนึ่งเดียว  หรือ ศูนย์ One Health

ด้านนพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตั้งแต่ที่มีรายงานข่าวพบผู้ติดเชื้อในฟาร์มวัว 2 รายที่อเมริกา ทางกองโรคติดต่อ กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้นัดหารือกันมาแล้วเพื่อประเมินความเสี่ยง ซึ่งในส่วนของไทยไม่มีความเสี่ยง ส่วนการเฝ้าระวังตามด่านป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งมีการประชุมกันทุกเช้า ก็ยังไม่พบรายงานความเสี่ยงที่จะเข้ามาในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ได้ส่งข้อมูลข่าวให้กับพื้นที่ต่างๆ ได้เฝ้าระวังด้วย อย่างตอนที่มีรายงานเชื้อแอนแทรกซ์ในต่างประเทศ ตนก็ได้ลงพื้นที่ไปตามด่านควบคุมโรคต่างๆ พบว่า มีความแอคทีปด้วยตัวเองค่อนข้างดี ดังนั้น ทั้งด้านการข่าว การทำงานของด้าน และการสอบสวนส่วนกลางค่อนข้างดี ความเสี่ยงยังไม่มี