กรุงไทย-แอกซ่า สานพลัง สสส.-มูลนิธิด้วยกันฯ จัดงาน “วิ่งด้วยกัน RUN2GETHER 10 YEARS of 2GETHERNESS” ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ชวนนักวิ่งคนพิการ-ไม่พิการ กว่า 2,000 คน วิ่งสร้างเสริมสุขภาพ สร้างพื้นที่สุขภาวะให้คนพิการ และบุคคลทั่วไปเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พร้อมรณรงค์สื่อสาร "ลบความสงสารออกจากเจตคติ แต่มอบคุณค่าความเป็นคนที่เท่ากัน"
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2567 ที่ สนามกีฬาแห่งชาติ บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมพลศึกษา และมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม จัดงาน “วิ่งด้วยกัน RUN2GETHER 10 YEARS of 2GETHERNESS” ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 สร้างพื้นที่สุขภาวะให้คนพิการ และบุคคลทั่วไปเรียนรู้ซึ่งกันและกัน งานครั้งนี้มีคนพิการและไกด์รันเนอร์ อาสาสมัคร เข้าร่วมกว่า 2,000 คน โดยมี นางแซลลี่ โอฮาร่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอกซ่า ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และประเทศเกาหลีใต้ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ และนพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ร่วมเป็นไกด์รันเนอร์ พาคู่วิ่งคนพิการเข้าสู่เส้นชัยร่วมกัน
นางแซลลี่ โอฮาร่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกรุงไทย -แอกซ่า กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนกิจกรรม “วิ่งด้วยกัน RUN2GETHER 10 YEARS of 2GETHERNESS” อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นการสร้างมิตรภาพของคนพิการ และคนไม่พิการ ผลักดันนโยบายความเท่าเทียม และความหลากหลาย (Inclusion and Diversity) ของทุกๆ คนในสังคม ที่บริษัทฯ ยึดมั่นมาโดยตลอด นอกจากนี้บริษัทฯ มุ่งมั่นเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการสนับสนุน สร้างความตระหนักรู้ในสังคมที่คนพิการ และคนไม่พิการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทั้งนี้ทาง กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต มีความห่วงใย เพิ่มความมั่นใจให้กับทุกคน โดยมอบประกันกลุ่มเพื่อคุ้มครองอุบัติเหตุและการเสียชีวิต ให้กับนักวิ่ง ตลอดจนอาสาสมัครทุกคน
นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า กิจกรรมวิ่งด้วยกัน เริ่มต้นในปี 2558 ซึ่ง สสส. โดยแผนสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ต้องการเพิ่มพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมในกลุ่มคนพิการ ครั้งแรกมีผู้สนใจร่วมวิ่งในสวนสาธารณะ 12 คน แต่ด้วยความต้องการที่มากขึ้น นำมาสู่การจัดงาน “วิ่งด้วยกัน” ต่อเนื่องทุกปี และขยายผลจัดกิจกรรมใน 5 จังหวัด เชียงใหม่ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี อุดรธานี และ นครราชสีมา รวมถึงเกิดเครือข่ายวิ่งด้วยกันต่างประเทศในบัลแกเรียฮ่องกง สิงคโปร์ มีผู้ร่วมกิจกรรมตลอด 10 ปี กว่า 15,000 คน ทั้งนี้ สสส. และมูลนิธิด้วยกันฯ จัดให้มีการซ้อมวิ่งร่วมกับคนพิการ และไกด์รันเนอร์เดือนละ 1 ครั้ง เป็นที่เริ่มต้นสำหรับคนพิการ และคนไม่พิการได้มารู้จักการวิ่งด้วยกัน สามารถนัดซ้อมกันเอง เพื่อมีเป้าหมายร่วมงานวิ่งประจำปี และพัฒนาจัดทำ Checklist งานวิ่งที่รองรับคนพิการสำหรับผู้จัดงานวิ่งที่สนใจ ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Facebook วิ่งด้วยกัน Fanpage
“นอกจากการสร้างเสริมสุขภาพโดยตรงให้กับคนพิการแล้ว สิ่งสำคัญ ที่ สสส. รณรงค์สื่อสารให้สังคมตลอด คือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อคนพิการ ลบความสงสารออกจากเจตคติ แต่มอบคุณค่าความเป็นคนที่เท่ากัน กิจกรรมวิ่งด้วยกันทำให้สังคมได้เห็นศักยภาพของคนพิการ ที่ก้าวข้ามข้อจำกัดทางร่างกาย ช่วยให้คนพิการและคนทั่วไป ได้มีโอกาสเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน งานปีนี้เป็นที่น่ายินดีที่ภาคเอกชน กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต ให้ความสำคัญเข้ามามีส่วนร่วมหลักของกิจกรรม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แสดงให้เห็นถึงทิศทางของสังคมไทยที่เริ่มเปิดโอกาสในคนพิการได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอย่างเท่าเทียม และมีศักดิ์ศรี” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นายฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ประธานกรรมการมูลนิธิด้วยกันฯ กล่าวว่า กิจกรรมวิ่งด้วยกัน คือ การเปิดโอกาสให้คนไม่พิการมีโอกาสเป็นไกด์รันเนอร์ คอยวิ่งเคียงข้างไปกับคนพิการตลอดเส้นทาง ในบรรยากาศมิตรภาพที่ดี เข้าใจกัน ช่วยเหลือกัน เป็นงานที่ไม่เน้นแข่งขัน แต่พากันเข้าสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จที่เส้นชัยพร้อมกัน ตลอด 10 ปีจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา คนพิการหลายคนรักการวิ่งมากขึ้น จนเข้าการแข่งขันจบฟูลมาราธอน อีกทั้งยังมีนักวิ่งด้วยกันหน้าใหม่ที่เข้าร่วมมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยงานวิ่งด้วยกันประจำปีเป็นงานรวมญาติของครอบครัว มีความสุขและเสียงหัวเราะ เป็นงานวิ่งที่เหนื่อยยิ้มหัวเราะ มากกว่าเหนื่อยวิ่งทุกครั้ง
นายสังคีต ศรีพระราม นักวิ่งตัวแทนเพื่อนคนพิการทุกประเภท กล่าวว่า ย้อนไปเมื่อ10 ปีก่อน เป็นคนไม่ชอบออกกำลังกาย แต่มีโอกาสเห็นเพื่อน ๆ ได้ไปร่วมกิจกรรม ที่ สสส. มูลนิธิด้วยกันฯ ชวนคนพิการทางการมองเห็นวิ่ง โดยมีเพื่อนๆ คนไม่พิการมาเป็นไกด์รันเนอร์ จึงเกิดความสงสัยคนพิการที่ใช้วีลแชร์ สามารถร่วมวิ่งได้จริงไหม เป็นความท้าทายที่ต้องการก้าวข้ามขีดจำกัด จึงตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรม ถือเป็นสนามวิ่งแรกในชีวิต โดยสถิติวิ่งที่ทำได้สูงสุดในงานวิ่งด้วยกัน คือ ระยะทาง 10 กิโลเมตร ใช้เวลา 41 นาที ปัจจุบันได้เข้าร่วมงานวิ่งมาราธอนได้สำเร็จ วิ่งด้วยกัน คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนพิการหลาย ๆ คนเปลี่ยนความคิด กล้าออกมาใช้ชีวิต ทั้งคนพิการ และคนไม่พิการทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่มีความแบ่งแยกทางสังคม นอกจากได้สุขภาพที่ดี ยังเกิดมิตรภาพ และความเข้าใจกันระหว่างคนพิการและไม่พิการ
- 90 views