จุฬาฯ เผยโรคมะเร็งสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอันดับ 1 ปี 66 คนไทยเสียชีวิตกว่า 6 หมื่นคนต่อปี ติดเตียง-ป่วยระยะท้ายเกือบ 2 แสน สานพลัง สสส.-ชีวามิตร ส่งต่อองค์ความรู้ “การดูแลแบบประคับประคองเริ่มที่หัว+ใจ” เร่งพัฒนาสุขภาพจิตใจบุคลากรสุขภาพ สู่ผู้ให้บริการผู้ป่วยระยะท้ายที่ดีตามมาตรฐานสากล สอดรับนโยบายสถานชีวาภิบาลคุณภาพ 250 แห่งใน กทม.
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2567 ที่อาคารภูมิพิพัฒน์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดงานเสวนา “การดูแลแบบประคับประคองเริ่มที่หัว+ใจ” ภายใต้โครงการสุขภาวะทางปัญญาร่วมสร้างสังคมที่อยู่ดีและการตายดีของ สสส. ยกระดับการบริการของบุคลากรผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง และผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม มุ่งสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้ป่วยไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ลดภาระการดูแลของครอบครัว และลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจทั้งในระดับครอบครัวและระดับประเทศ
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทยเป็นอันดับ 1 จากข้อมูลการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ปี 2566 โดยกระทรวงสาธารณสุข พบคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งกว่า 67,000 คน ที่สำคัญยังพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่เข้าเกณฑ์การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) 185,577 ราย เป็นผู้ป่วยที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ การรักษาที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย คือ บุคลากรที่สามารถจัดการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้ป่วย ทำให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัวสามารถเข้าถึงบริการและได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องไปถึงวาระสุดท้าย
“การดูแลแบบประคับประคอง มีความท้าทาย เนื่องจากประชาชนมีสิทธิการรักษาที่ซับซ้อนและหลากหลายรูปแบบ จึงเน้นที่บุคลากรต้องมีความรู้เฉพาะโรค ที่สำคัญคือแนวคิดหรือวิธีการปฏิบัติที่ว่า การดูแลแบบประคับประคองคือส่วนหนึ่งของการรักษา ไม่ใช่การทอดทิ้ง แต่เป็นการเพิ่มคุณค่าการดูแล ต้องทำให้สังคมเห็นว่า การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเป็นหน้าที่ของทุกคน ศูนย์ชีวาภิบาลของ รพ.จุฬาฯ ที่มีผู้ป่วยกว่า 500 คนต่อปี ได้พัฒนาองค์ความรู้ กิจกรรมวิชาการ และจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมความรู้ให้บุคลากรทางการแพทย์ นิสิต นักศึกษา นอกจากนั้น ยังมีเครือข่ายจิตอาสาคอยเยี่ยมเยียนแบบเพื่อน เตรียมรับมือกับอาการทางกายที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวต่างๆ ถือเป็นผู้ที่เข้าไปเติมเต็มความต้องการในสิ่งที่ทีมรักษาทำไม่ได้” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า กล่าวว่า การปลูกฝังแนวคิดและทัศนคติที่ดี รวมถึงการดูแลสุขภาพจิตให้มีคุณภาพ พร้อมกับส่งเสริมให้บุคลากรมีองค์ความรู้ที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ การเสวนาครั้งนี้ เป็น 1 ในกิจกรรม เพื่อนตาย ที่หมายถึงบุคคลที่แวดล้อมผู้ป่วย ทั้งบุคคลในครอบครัว เพื่อน หรืออาสาสมัคร ทำหน้าที่สื่อสารสร้างความตระหนักและเข้าใจการไม่ยื้อชีวิต รู้สิทธิ์ในการแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาตัวเองในช่วงสุดท้ายของชีวิต (Living Will) ช่วยลดความขัดแย้ง ลดความเครียดของผู้ดูแล และข้อพิพาทของผู้ป่วยและครอบครัว ที่สำคัญคือ เมื่อมีความเข้าใจในการสื่อสารกับครอบครัวผู้ป่วย และผู้ป่วยเองได้รับรู้ว่าคุณภาพของชีวิตระยะท้ายไม่จำเป็นต้องจบที่โรงพยาบาล หากมีความพร้อมผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตในระยะท้ายอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ท่ามกลางครอบครัวและสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย
“การสานพลังความร่วมมือกันสถานพยาบาล ช่วยสร้างขวัญกำลังใจ ลดความเครียด แก้ปัญหาภาวะหมดไฟจากภาระงานที่หนัก และส่งเสริมให้บุคลากรมีสุขภาพจิตที่ดี นำไปสู่การเป็นผู้ให้บริการที่ใช้หัวใจในการบริการอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายสถานชีวาภิบาล 250 แห่งใน 50 เขตพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ต้องการบุคลากรดูแลผู้ป่วยที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขแบบบูรณาการในรูปแบบเขตพื้นที่สุขภาพกรุงเทพฯ (Bangkok Health Zoning) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมากขึ้น” นางญาณี กล่าว
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ผู้ก่อตั้งและประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่า การสร้างความร่วมมือบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ส่งเสริมการทำงานของบุคลากรสุขภาพที่เป็นผู้ให้บริการ ให้มีทั้งองค์ความรู้ทั้งมิติทางกาย จิตใจ จิตวิญญาณ และสังคม และมีหัวใจของการเป็นผู้ให้ เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการดูแลแบบประคับประคองให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม มีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกช่วงเวลาของชีวิต หรือ อยู่ดี-ตายดี ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.cheevamitr.com เฟซบุ๊กแฟนเพจ Cheevamitr ไลน์ @cheevamitr และยูทูบ Cheevamitr Social Enterprise
- 1077 views