คณะที่ปรึกษา รมว.สธ. - รองเลขาฯ สปสช. ลงพื้นที่ไปยัง จ.แพร่ ติดตามการนำร่อง "30 บาทรักษาทุกที่" ของ หน่วยบริการนวัตกรรมสาธารณสุขวิถีใหม่ ‘คลินิกแล็บเทคนิคการแพทย์ น้ำทองแล็บ’ พบ ลดความแออัด รพ.-ปชช. ไม่ต้องรอคิวตรวจเลือด
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา นพ.ณรงค์ สายวงศ์ ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมคณะฯ และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ จ.แพร่ เพื่อติดตามการนำร่องโครงการ “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะที่ 1” ที่ดำเนินการโดยคลินิกเทคนิคการแพทย์ น้ำทองแล็บ เซนเตอร์ รวมถึงตรวจเยี่ยม คลินิกทันตกรรมทันตแพทย์ดิเรก โดยมี นพ.วิชิน โชติปฏิเวชกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพร่ และคณะให้การต้อนรับ
ทนพ.สุริยันต์ นันตา คลินิกเทคนิคการแพทย์ น้ำทองแล็บ เซนเตอร์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ได้เริ่มคิกออฟโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ขณะนี้ก็เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว การเข้ารับบริการของประชาชนเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้าเข้าร่วมโครงการอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่มีหลักหน่วยต่อวัน พอมีการสร้างเครือข่ายการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ภายใต้โครงการกับโรงพยาบาลแพร่ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด ที่มีปริมาณผู้ป่วยไปใช้บริการที่ราว 700 คนต่อวัน ก็ทำให้ได้รับการผ่องถ่ายผู้ป่วยให้มาตรวจแล็บที่คลินิกฯ มากขึ้นเป็นหลักสิบต่อวัน รวมถึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งคาดว่าอาจถึง 50 คนต่อวันในอีกไม่นาน
นอกจากนี้ ทางคลินิกฯ ยังมีการประสานกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ และโรงพยาบาลแพร่ เพื่อช่วยสนับสนุนในการตรวจแล็บเชิงรุกสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่เคลื่อนไหวลำบาก หรือมีภาวะติดบ้านติดเตียง ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระงาน และลดความแออัดในสถานพยาบาลของภาครัฐ
ทนพ.สุริยันต์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับระบบข้อมูล เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) และการเชื่อมต่อข้อมูล ทางคลินิกฯ ก็ค่อนข้างมีทรัพยากรที่พร้อมอยู่แล้ว ทำให้ส่งต่อข้อมูลสุขภาพไปยังโรงพยาบาลได้อย่างไร้รอยต่อ ตลอดจนส่งข้อมูลการให้บริการเบิกจ่ายกับ สปสช. ก็ได้รับเงินรวดเร็วภายใน 3 วัน ส่วนอัตราการเบิกจ่ายที่ สปสช. กำหนด ก็เพียงพอต่อการนำมาบริหารจัดการให้คลินิกฯ ดำเนินการต่อไปได้ไม่มีปัญหา แม้จะไม่ได้มากเหมือนการให้บริการ แต่สิ่งสำคัญคือการได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาสุขภาพประชาชน
“ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการไม่เคยมีอะไรแบบนี้มาก่อน ก็ต้องขอบคุณทางรัฐบาล สธ. สปสช. และผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่เล็งเห็นถึงประโยชน์ของนโยบายนี้ที่จะมาช่วยลดความแออัดจากโรงพยาบาล และทำให้ประชาชนได้รับบริการสะดวกขึ้น บางคนสูงอายุแล้วต้องรอที่โรงพยาบาลหลายชั่วโมงเพื่อรอเจาะเลือด ตรวจแล็บ” ทนพ.สุริยันต์ กล่าว
ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า คลินิกแล็บที่เรามาดูในวันนี้ ซึ่งเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมสาธารณสุขวิถีใหม่ ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ในแง่ของบริการมีการดำเนินการได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ส่วนในแง่ของการเบิกจ่ายกับ สปสช. แม้ในส่วนสำคัญจะไม่มีปัญหา แต่ในรายละเอียดก็เจออุปสรรคเล็กน้อย เช่น การตรวจสอบรายงานการเบิกจ่ายหลังได้รับโอนเงินจาก สปสช. ซึ่งเราก็รับเรื่องและประสานต่อกับเจ้าหน้าที่ให้มาพูดคุยทำความเข้าใจกันต่อไปแล้ว
เรื่องการบริหารจัดการ อาจจะมีขรุขระบ้างในช่วงแรก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งใหม่สำหรับทุกคน แต่ตอนนี้ทุกหน่วยบริการก็สามารถให้บริการได้อย่างราบรื่น
“ในภาพรวมของการเดินหน้านโยบายก็ค่อนข้างดี ถ้าเราเอาประชาชนเป็นตัวต้้งก็ถือว่าผลตอบรับดีมาก รวมถึงผลที่ได้เหล่านี้ก็ตรงกับวัตถุประสงค์ของท่าน รมว.สาธารณสุข ที่ได้ตั้งเอาไว้ตั้งแต่ต้นด้วย ” ทพ.อรรถพร ระบุ
รองเลขาธิการ สปสช. ทิ้งท้ายว่า ตามวัตถุประสงค์ใหญ่ๆ ที่ทาง รมว.สาธารณสุข ให้โจทย์ สปสช. มาตอนนี้เราคิดว่าสามารถทำได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว ส่วนการปรับปรุงในระดับรายละเอียดก็ต้องมาดูกันต่อ ซึ่งเชื่อว่าในเฟส 2 ที่จะเริ่มคิกออฟในวันที่ 8 มี.ค. 2567 ที่ จ.นครราชสีมา จะสามารถอุดช่องโหว่ต่างๆ จากเฟสแรกและทำให้การเดินหน้านโยบายดังกล่าวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- 442 views