ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตเผยแนวโน้ม “เด็กพิเศษ” ก่อความรุนแรงน้อย เหตุข้อมูลทั่วโลก 95% คนใช้ความรุนแรงไม่ใช่คนที่ป่วย ปัญหาไม่อยู่ที่ป่วยหรือไม่ อยู่ที่ระบบต้องทบทวน ปรับแก้อย่าให้เกิดขึ้นซ้ำๆ ส่วนกรณีเคสเด็กม. 2 ถูกทำร้าย เพื่อนบอกคนทำพกอาวุธ ถูกบูลลี่ สิ่งสำคัญคือ โรงเรียนต้องทราบ ซึ่งข้อเท็จจริงมีระบบดูแลกลุ่มเด็กพิเศษ  

 

เมื่อวันที่ 29 มกราคม นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์  ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต  ให้สัมภาษณ์กับทาง Hfocus ถึงกรณีสังคมออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีเด็กพิเศษไม่ควรเรียนร่วมกับเด็กปกติดหรือไม่ รวมทั้งปัญหาโรงเรียนไม่ดูแล เพราะอาจมีการบูลลี่ การใช้ความรุนแรงในโรงเรียนทำให้เด็กเก็บกด ว่า   เด็กพิเศษ มาจากคำเต็มว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งหากเด็กในกลุ่มนี้ โรงเรียนต้องดูแลเป็นพิเศษ และต้องมี 2 ระบบ คือ ระบบปกติให้เด็กปรับตัวอยู่ในระบบได้ และระบบการดูแลพิเศษว่า มีปัญหาอะไรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งต้องทำไปด้วยกันทั้งสองระบบ

ความรุนแรงในโลกนี้ 95% ไม่ได้มาจากคนที่ป่วย

ผู้สื่อข่าวถามแนวโน้ม เด็กพิเศษ ก่อความรุนแรงได้หรือไม่ นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ความรุนแรงในโลกนี้ 95% ไม่ได้มาจากคนที่ป่วย คนที่ป่วยก่อความรุนแรงสัดส่วนเพียง 5% ดังนั้น ข่าวความรุนแรงส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากคนป่วย ปัญหาว่าจะป่วยหรือไม่ ไม่ได้สำคัญ เพราะถ้าเขาเสี่ยงก่อความรุนแรงก็ต้องมีระบบดูแลช่วยเหลือ เพราะฉะนั้น เวลามีข่าวพวกนี้ แทนจะไปโทษเด็ก ควรจะกลับไปทบทวนระบบ ว่า ระบบเรามีจุดอ่อนตรงไหนควรปรับปรุง เพราะอย่างไรเสียย่อมเกิดขึ้นได้อีก ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วย 

นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า  ยกตัวอย่าง เราควรไปดูว่าระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนดีหรือไม่ เด็กกลุ่มไหนเป็นกลุ่มเสี่ยง และดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ หรือไม่ มีการประเมินครอบครัว มีการเยี่ยมบ้านหรือไม่ ส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรม สอน ซ่อม เสริม เป็นระบบที่ต้องดูแล ซึ่งการศึกษาปัจจุบันเด็กน้อยลง แต่งบประมาณเท่าเดิม ครูก็เท่าเดิม เพราะฉะนั้นการดูแลเด็กก็ต้องปรับปรุงทบทวนให้ใกล้ชิดมากขึ้น

อ่านต่อ https://www.hfocus.org/content/2024/01/29634