ผอ.กองระบาดวิทยา แจ้งสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั่วประเทศระวัง 2 กลุ่มโรค มี “ไอกรน” ระบาดหนัก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ป่วยยืนยันมากกว่า 100 ราย พบเด็กทารกติดเชื้อ 18 วันเสียชีวิต เจอมากสุด ‘ปัตตานี-นราธิวาส’ เหตุไม่รับวัคซีนป้องกัน ยังมี “หัด-หัดเยอรมัน” ป้องกันได้ด้วยวัคซีน คร.เดินหน้าฉีด ขณะที่พื้นที่ต้องเร่งให้ความรู้เพิ่มเติมและสร้างการยอมรับให้ได้
โรคไอกรน พบระบาด 3 จังหวัดชายแดนใต้
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (20 พ.ย.) ตนได้วิเคราะห์สถานการณ์เพื่อคาดการณ์โรคที่จะระบาดในช่วงเดือน ธ.ค. เพื่อแจ้งไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรค(สคร.)แต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีการออกประกาศแจ้ง 2 โรค คือ 1.โรคไอกรน ซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน หรือ DPT ซึ่งเป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานของเด็กเล็ก โดยจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน 3 เข็มแรกเมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน ขณะนี้พบข้อมูลการระบาดโรคไอกรนใน 3 จังหวัดชายใต้จำนวนมาก โดยเฉพาะ จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยยืนยันมากกว่า 100 ราย ในขณะที่ภาคอื่นๆ พบผู้ป่วยเพียง 1 – 2 รายเท่านั้น และเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน
โรคไอกรน คือ
ทั้งนี้ โรคไอกรน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันได้ด้วยวัคซีน กรณีเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อรับเชื้อมาก็จะเริ่มเป็นไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ บางรายปวดเมื่อยตามตัว ที่สังเกตได้ชัดคือ ต่อมน้ำเหลืองโต ส่วนบริเวณลำคอจะเกิดสายเสียงติดกันทำให้เกิดอาการไอเยอะมาก แต่เสียงที่ออกมาจะเป็นเหมือนเสียงกรน ไอแห้ง เสียงหวีดหรือมีเสียงก้องมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาไม่ใช่เฉพาะตอนนอนหลับ จากนั้นเชื้อก็จะลงไปสู่ปอด
ภาคใต้พบเด็กป่วยไอกรนเสียชีวิต
“ทางภาคใต้มีการติดเชื้อในผู้ใหญ่จำนวนมาก รวมถึงระบาดในเด็กด้วย ซึ่งมีการรายงานข้อมูลยืนยันว่ามีเด็กอายุ 18 วัน เสียชีวิตจากการติดเชื้อไอกรนแล้ว 1 ราย และอีกรายยังอยู่ในระหว่างการยืนยันผล กรณีเด็กที่เสียชีวิตนั้น โดยปกติจะต้องได้รับวัคซีนป้องกันในช่วง 2 เดือน แต่เมื่อคลอดมา 18 วันติดเชื้อ เลยทำให้อาการรุนแรงและเสียชีวิต จากการสอบสวนโรคพบว่ามารดาของเด็กนั้น ไม่เคยรับวัคซีนไอกรนมาก่อน ทำให้ลูกที่คลอดออกมานั้น ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคเลย เมื่อเด็กกลับไปถึงบ้านที่มีผู้ใหญ่ที่ติดเชื้ออยู่ ก็นำเชื้อมาสู่เด็ก” นพ.จักรรัฐกล่าว
ไอกรนติดเหมือนโรคระบบทางเดินหายใจ คล้ายโควิด-ไข้หวัด
ทั้งนี้ นพ.จักรรัฐกล่าวต่อว่า สำหรับการติดเชื้อไอกรน จะเหมือนโรคระบบทางเดินทางหายใจทั่วไป เหมือนโควิด-19 และไข้หวัด อาการเริ่มต้นจะไม่รุนแรง เจ็บคอ หายใจไม่สะดวก มีไข้ขึ้น ไปจนถึงเชื้อลงปอดได้ ส่วนการระบาดนั้นเมื่อมีการไอก็จะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้สูง อย่างโควิด-19 โอกาสแพร่เชื้อ 1 ต่อ 4 คน ไข้หวัด 1 ต่อ 2 คน แต่ไอกรน 1 ต่อ 7-8 คน ทั้งนี้ โรคไอกรนไม่ควรเจอผู้ป่วยในประเทศไทยแล้ว เพราะเรามีการฉีดวัคซีนป้องกัน ฉะนั้น การพบผู้ป่วยเพียง 1 คนก็ถือว่าเข้าสู่การระบาดได้แล้ว แต่ในตอนนี้เราเจอผู้ป่วยมากกว่า 100 คน ซึ่งยังมีกลุ่มที่ไม่เข้ารับการตรวจหาเชื้ออีกมาก และส่วนใหญ่ก็ไม่ไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลด้วย ซึ่งการตรวจหาเชื้อก็จะใช้วิธีเก็บตัวอย่างเชื้อในโพรงจมูกเหมือนกับโควิด-19 แต่ต้องทำโดยสถานพยาบาลเท่านั้น
สาเหตุหลักพบมากในภาคใต้ เหตุปัญหาไม่ฉีดวัคซีน
“สาเหตุหลักที่เกิดการระบาดในภาคใต้ เนื่องจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคยังไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้มีอัตราการฉีดที่น้อยมากเพราะการฉีดวัคซีนต้องเป็นไปตามความสมัครใจ ทำให้ความครอบคลุมของวัคซีนในบางพื้นที่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ขณะที่การป้องกันโรคที่ดี คนในพื้นที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 80-90” ผอ.กองระบาดกล่าว
วิธีป้องกันโรคไอกรน
นพ.จักรรัฐกล่าวว่า การป้องกันโรคไอกรนนั้น การสวมหน้ากากอนามัยเหมือนโควิด-19 หรือไข้หวัดใหญ่ก็ช่วยได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการใส่วัคซีนเข้าในตัวเลย แต่ถ้ามีการติดเชื้อแล้วก็ต้องรักษาตามอาการ ซึ่งเป็นโรคที่รักษาได้ แต่สิ่งสำคัญคือ การไปพบแพทย์ให้ทันเวลา วินิจฉัยให้ออกอย่างรวดเร็ว ป้องกันการติดเชื้อลงปอด
พื้นที่เร่งสร้างการยอมรับฉีดวัคซีน
เมื่อถามว่าจะต้องทำอย่างไรในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคไอกรน นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ทางกรมควบคุมโรคมีหน้าที่เร่งฉีดวัคซีนให้กับเด็กแรกเกิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ที่เป็นปัจจัยสำคัญกว่านั้นคือการยอมรับวัคซีน ทั้งนี้ ทางพื้นที่จำเป็นต้องสร้างการยอมรับวัคซีนให้ได้ เพราะในภาคใต้ส่วนใหญ่ประชาชนยังไม่ยอมรับวัคซีน
ยังมี “หัด-หัดเยอรมัน” ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
อย่างไรก็ตาม นพ.จักรรัฐกล่าวต่อว่า 2.หัดและหัดเยอรมัน เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม หรือ MMR เป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานในเด็กโดยต้องฉีด 2 เข็มตามกำหนดก็จะสามารถป้องกันได้ตลอดชีวิต ขณะนี้ยังไม่มีการระบาด แต่กรมควบคุมโรคต้องแจ้งเตือน เพราะยังมีการรายงานเคสเข้ามาเรื่อยๆ จึงมีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีการระบาดในช่วงเดือน ธ.ค. - ม.ค.2567 เพราะเป็นฤดูการระบาดของโรคหัดและหัดเยอรมัน สำหรับโรคหัดจะเกิดขึ้นมากในเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีอาการรุนแรง ทำให้ปอดอักเสบและเสียชีวิตได้
“โรคหัดเยอรมันสาหัสกว่าโรคหัด เพราะคนที่ติดเชื้อไปอยู่ใกล้ชิดกับหญิงตั้งครรภ์ทำให้เกิดการติดเชื้อสู่กัน ก็ทำให้เด็กในครรภ์เป็นโรคพิการแต่กำเนิดทันที” นพ.จักรรัฐกล่าว
ผอ.กองระบาดกล่าวต่อว่า สำหรับอาการสังเกตของหัด จะมีผื่น ปื้น ออกผื่นเป็นไข้ เริ่มขึ้นผื่นในร่มผ้าและกระจายออกนอกร่มผ้า ส่วนหัดเยอรมัน จะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตด้วย ส่วนอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเหมือนๆ กันคือ หมดแรง มีไข้ ปวดเนื้อตัว อ่อนเพลีย มีอาการไอด้วยซึ่งสามารถแพร่เชื้อและทำให้เกิดโรคปอดอักเสบในผู้ป่วยตามมาได้ ส่วนวิธีการวินิจฉัยโรคต้องใช้การตรวจด้วยวิธีเจาะเลือดไปตรวจเท่านั้น
เร่งฉีดวัคซีนป้องกัน เหตุช่วงระบาดโควิดทำขาดตอน
“ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่มีการระบาดของโควิด-19 ที่ต้องเร่งฉีดวัคซีนป้องกันให้มากและเร็วนั้น ก็ส่งผลให้วัคซีนตัวอื่นๆ ถูกชะลอไป เช่น ไวรัสอาร์เอสวี ไข้หวัดใหญ่ ไอกรน และหัดหัดเยอรมัน ส่วนก่อนหน้าที่จะมีโควิด-19 นั้น อุบัติการณ์เกิดโรคหัดหัดเยอรมัน ตัวเลขจะต้องไม่เยอะแล้วเพราะไทยเข้าร่วมโครงการกวาดล้างหัดหัดเยอรมัน ตอนนี้ควรจะไม่มีผู้ป่วยซักรายในไทยแล้ว แต่ตอนนี้ยังมีการรายงานอยู่ทุกๆ สัปดาห์ เราจึงคาดการณ์ไว้ว่าช่วง ธ.ค. - ม.ค.2567 นี้” นพ.จักรรัฐกล่าว
เมื่อถามว่าในกรณีผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยรับวัคซีนป้องกันไอกรน-หัดหัดเยอรมัน สามารถมารับการฉีดได้หรือไม่ นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ผู้ใหญ่จะต้องปรึกษาแพทย์ว่าฉีดได้หรือไม่ เพราะไม่ใช่ผู้ใหญ่ทุกคนจะฉีดได้ นอกจากเมื่อเกิดการระบาดหนักๆ เช่น ไอกรน เราต้องฉีดในผู้ใหญ่เพื่อควบคุมการระบาดของโรค แต่หัดหัดเยอรมันเราจะไม่ฉีดในผู้หญิง ยกเว้นกรณีเด็กหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ต้องมาฉีด เพื่อป้องกันกรณีตั้งครรภ์แล้วไปรับเชื้อหัดเยอรมันมา เพราะจะทำให้ทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิดได้
- 2055 views