สปสช. เปลี่ยนชื่อหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) เป็น “ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง” หวังสื่อความหมายให้ประชาชนรู้จักและเข้าใจบทบาทภารกิจในการรับเรื่องร้องเรียนกรณีใช้สิทธิบัตรทองแล้วไม่ได้รับความสะดวกในการรับบริการทางการแพทย์
วันที่ 14 ต.ต. 2566 นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สปสช. ได้เปลี่ยนชื่อและตราสัญลักษณ์ของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หรือที่เรียกสั้นๆว่าหน่วย 50(5) เป็น “ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง” ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการสื่อสารกับประชาชนและผู้ถูกละเมิดสิทธิจากการรับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เข้าใจความหมาย บทบาทและภารกิจของศูนย์ฯมากขึ้น และจะนำไปสู่การเสนอเรื่องร้องเรียนได้โดยสะดวกยิ่งกว่าเดิม โดยการเปลี่ยนชื่อนี้จะมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 เป็นต้นไป
นพ.สุพรรณ กล่าวว่า หน่วย 50(5) มีสถานะอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ตามมาตรา 50(5) ที่ให้อำนาจคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ของ สปสช. ในการกำหนดหน่วยรับเรื่องร้องเรียนเพื่อให้ประชาชนเสนอเรื่องร้องเรียนได้โดยสะดวกและเป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ซึ่งที่ผ่านมา สปสช. ได้รับความร่วมมือจากภาคีองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศเข้ามาร่วมดำเนินงานและขึ้นทะเบียนเป็นหน่วย 50(5) โดยนอกจากรับเรื่องร้องเรียนในกรณีที่ประชาชนใช้สิทธิบัตรทองรับบริการทางการแพทย์และเกิดความเสียหายหรือไม่ได้รับความสะดวกแล้ว ยังทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านการเข้าถึงสิทธิ ให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิบัตรทองแก่ประชาชนในพื้นที่ ประสานกับโรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อแก้ไขข้อร้องเรียน รวมทั้งเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยเมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
อย่างไรก็ดี ชื่อเรียกหน่วย 50(5) อาจจะไม่สามารถสื่อความหมายให้เข้าใจถึงบทบาทและภารกิจของหน่วยได้อย่างชัดเจน ทำให้ประชาชนส่วนมากไม่รู้ว่าหน่วยนี้คืออะไร หรือไม่ทราบว่ามีหน่วยงานนี้คอยช่วยคุ้มครองสิทธิอยู่ ดังนั้น เพื่อให้หน่วยฯเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา สปสช. จึงได้จัดประกวดรายชื่อใหม่ของหน่วย 50(5) โดยหวังว่าจะเป็นชื่อที่สื่อความหมายให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย และสุดท้ายก็ได้ชื่อที่ชนะการประกวดคือ“ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง”นั่นเอง
นพ.สุพรรณ กล่าวว่า แม้จะเปลี่ยนชื่อ แต่บทบาทภารกิจต่างๆยังคงเหมือนเดิมและคาดหวังว่าชื่อศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองนี้จะเป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น และทำให้ประชาชนรู้สึกสบายใจที่จะเข้ามาขอคำแนะนำหรือยื่นเรื่องร้องเรียนมากขึ้นด้วย
“ต้องเข้าใจว่าศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองนี้ ไม่ได้มุ่งเป้าว่าจะเป็นศัตรูหรือโจมตีหน่วยบริการ แต่ทำงานบนหลักการในการคุ้มครองสิทธิของผู้รับบริการ และเป็นอีกหนึ่งกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ช่วยสะท้อน feedback หรือข้อเสนอแนะกลับไปยังหน่วยบริการ เมื่อมีข้อร้องเรียนเกิดขึ้น นอกจากจะทำการแก้ไขเป็นรายกรณีแล้ว เป้าหมายสำคัญคือการนำบทเรียนที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์หาสาเหตุและวางระบบป้องกันเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของหน่วยบริการนั่นเอง” นพ.สุพรรณ กล่าว
- 325 views