“หมอชลน่าน” สั่ง สพฉ. เปิดทีม Sky Doctor ทั่วประเทศ ภายใน 100 วันตามนโยบาย Quick Win เพิ่มความรวดเร็วการส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน รองรับการท่องเที่ยวปีใหม่นี้ พร้อมเร่งดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตร Basic HEMS ให้กับทีมแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับเฉพาะทาง สาขาฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศทุกเขตสุขภาพ
เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ครั้งที่ 9/2566 โดยการประชุมในวันนี้มีประเด็นสำคัญคือ การมอบนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดตั้งทีมการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ หรือ Sky Doctor ให้มีครบทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 13 Quick Win 13 ประเด็น ให้เห็นผลใน 100 วัน ของกระทรวงสาธารณสุข
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินคือการเข้าถึงการรักษาเฉพาะทางได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหลายพื้นที่ของประเทศมีปัญหาด้านการเข้าถึงตัวผู้ป่วยฉุกเฉินอันเนื่องมาจากเส้นทางที่ห่างไกล ทุรกันดาร บนเกาะในทะเล หรือในเมืองที่การจราจรติดขัด การมีระบบ Sky Doctor ซึ่งใช้เฮลิคอปเตอร์นำทีมแพทย์ไปรับตัวผู้ป่วย จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ทีม Sky Doctor อยู่บ้างในพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคใต้ แต่ตนได้มอบนโยบายให้ทาง สพฉ. ไปดำเนินการพัฒนา และจัดตั้งทีมให้มีครบทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 100 วัน เพื่อให้ทันรองรับเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง และอาจมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวยังที่ต่างๆของประเทศ หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็สามารถที่จะช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะถือเป็นของขวัญปีใหม่อย่างหนึ่งที่จะมอบให้ประชาชนคนไทย
ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า Thai Sky Doctor ได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 โดย สพฉ. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย จัดให้มีบริการการปฏิบัติการฉุกเฉินด้านอากาศยาน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยใช้อากาศยานจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ปฏิบัติการร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งผ่านการอบรมหลักสูตรการลาเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ขั้นพื้นฐาน (Basic Helicopter Emergency Medical Services Course : Basic HEMS) ซึ่งจากสถิติการออกปฏิบัติการในช่วง พ.ศ. 2564 - 2566 มีจำนวน 401 ครั้ง เป็นการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉิน จำนวน 398 ครั้ง และลำเลียงอวัยวะ จำนวน 3 ครั้ง มีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ด้านอากาศยานที่ได้รับการอนุมัติจำนวน 9 หน่วย เป็นหน่วยที่อยู่ในเขตสุขภาพ 3 เขต คือ เขตสุขภาพที่ 1, 2 และ 11 ซึ่งภายหลังจากที่ได้รับมอบนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
“ วันนี้ สพฉ. มีแผนที่จะเร่งดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตร Basic HEMS ให้กับทีมแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อให้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับเฉพาะทาง สาขาฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศ ในทุกเขตสุขภาพ รวมถึงประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มทรัพยากร และซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติการการลำเลียงทางอากาศ คาดว่าจะเสร็จสิ้นได้ภายในเดือนธันวาคม 2566 นี้” นพ.ชลน่าน กล่าว
- 1455 views