BMJ วารสารการแพทย์อังกฤษ เผยวิจัยความสำเร็จในการจัดตั้ง สสส. ของไทย พบมีผลงานประจักษ์ด้านสุขภาพ ระบบกลไกนวัตกรรมการเงิน-การคลังมีประสิทธิภาพ โปร่งใส-ตรวจสอบได้

วารสาร British Medical Journal (BMJ 2023 เล่ม 8, ฉบับที่ 5) ได้ตีพิมพ์บทความวิจัยเรื่อง “Characteristics of successful government-led interventions to support healthier populations: a starting portfolio of positive outlier examples” “คุณลักษณะของโครงการภาครัฐที่ประสบความสำเร็จในการสร้างเสริมสุขภาพประชากร: การศึกษาเริ่มต้นในกลุ่มตัวอย่างดีเด่น”

ดร.โรเบิร์ต มาร์เทน (Dr. Robert Marten) จาก สมาพันธ์เพื่อการวิจัยด้านนโยบายและระบบสุขภาพ (Alliance for Health Policy and Research) องค์การอนามัยโลก สำนักงานใหญ่กรุงเจนีวา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้เขียนบทความ กล่าวว่า โครงการสังคมสุขภาวะเพื่อประชากรสุขภาพดี (The Healthier Societies for Healthy Populations Initiative) เกิดขึ้นจากการประชุมร่วมกันของ สมาพันธ์เพื่อการวิจัยด้านนโยบายและระบบสุขภาพ (Alliance for Health Policy and Systems Research) ภายใต้องค์การอนามัยโลก ร่วมกับรัฐบาลสวีเดน และ เวลคัมทรัสต์ (Wellcome Trust) เพื่อแก้ไขความท้าทายในประเด็นต่างๆ ด้านสุขภาพ วิธีการหนึ่งในการแก้ไขคือการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณลักษณะสำคัญของโครงการภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนให้ประชากรมีสุขภาพที่ดีได้เป็นผลสำเร็จ 

โครงการศึกษาวิจัยนี้ได้สำรวจโครงการด้านสาธารณสุขที่ประสบความสำเร็จ ทั้งหมด 5 โครงการจาก 5 ประเทศได้แก่ โครงการฉลากคำเตือนอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลโซเดียมและไขมันอิ่มตัวปริมาณมากที่ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ประเทศชิลี โครงการริเริ่มเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ ระบุไขมันทรานส์ และฉลากระบุแคลอรี และฝาของบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา การห้ามการขนส่งและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ประเทศแอฟริกาใต้  โครงการริเริ่มความปลอดภัยบนท้องถนนให้เป็นศูนย์หรือ Vision Zero ประเทศสวีเดน และการก่อตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ประเทศไทย 

“สำหรับ สสส. พบว่าปัจจัยที่ทำให้การจัดตั้งการดำเนินงานขององค์กรเกิดความสำเร็จ คือการพัฒนาผลักดันกฎหมายลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ การสื่อสารสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ การมีส่วนร่วม และเชื่อมประสานการทำงานกับภาคีเครือข่าย หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ การมีอยู่ขององค์กรนวัตกรรมการเงิน การคลังเพื่อสุขภาพที่คล้ายคลึงกันในประเทศอื่นๆ การเฝ้าระวังกลุ่มธุรกิจที่สร้างผลกระทบทางสุขภาพ ผลงานเชิงประจักษ์การขับเคลื่อนงานสุขภาวะ ระบบกลไกนวัตกรรมการเงิน การคลัง ที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนความโปร่งใส และตรวจสอบได้ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ซึ่งทำให้เกิดการสร้างสุขภาวะในสังคมได้อย่างยั่งยืน” ดร. โรเบิร์ต กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org