ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช เผยปัญหาคนไข้ไม่ฉุกเฉินรับบริการ ER นอกเวลาราชการ แก้ไขได้ หากให้ความสำคัญจริง ย้ำ! ต้องให้ความรู้ประชาชน ทั้ง ให้ Health Education หรือ Health Literacy รู้จักโรคภัย อาการแบบไหนไม่จำเป็นต้องมา ดูแลด้วยตนเองได้ แนะรัฐบาลต้องดันเป็นโจทย์ลำดับแรกที่ต้องแก้ไข ช่วยแก้ได้เร็วขึ้น 

 

ปัญหาเจ็บป่วยไม่ฉุกเฉินแต่รับบริการ ER นอกเวลาราชการ

 

เมื่อวันที่ 12 กันยายน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการยกระดับบัตรทองของรัฐบาลใหม่ ที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีหลายภาคส่วนกังวลเรื่องอาจเพิ่มภาระงานบุคลากร รวมถึงทำให้ผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินวิกฤตมารับบริการ ER นอกเวลาราชการมากขึ้น ว่า เรื่องนี้ต้องมองเป็นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำ คือ ผู้กำหนดนโยบายสุขภาพ กลางน้ำ คือ ผู้นำนโยบายไปใช้ คือ แพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านสุขภาพ และปลายน้ำคือผู้รับผลหรือประชาชน ซึ่งในส่วนของปลายน้ำเรายังทำได้ไม่ดี ดังนั้น หากให้ Health Education หรือ Health Literacy ความรอบรู้ด้านสุขภาพ การให้เข้าใจรู้โรคภัยไข้เจ็บ การให้รู้ว่าแค่นี้ไม่จำเป็นต้องไป รพ. ดูแลตัวเองอย่างไร ถ้าตรงนี้ไม่ปรับ กลางน้ำก็จะลำบาก ก็จะมีคนที่ไม่จำเป็นแต่ก็มา อย่างช่วงกลางวันทำงาน ก็จะมาตอนเย็นทั้งที่ไม่ฉุกเฉิน ตรงนี้ลำบากและพูดยาก  

"ถ้าปลายน้ำ เราไม่ยกระดับประชาชนให้เข้าใจระบบสุขภาพ กลางน้ำจะลำบาก ก็จะย้อนกลับไปที่ต้นน้ำอีก การจัดสรรงบประมาณก็มีผลอีก ซึ่งตอนนี้แม้จะยังทำไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้ ส่วนตัวผมมองว่าไม่มีโจทย์ไหนที่บอกว่าจะทำไม่ได้ เมื่อไรก็ตามที่กำหนดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำ โจทย์นี้จะแก้ได้เร็ว แต่ถ้าโจทย์นี้ยังไม่อยู่ใน Priority ลำดับแรกๆ ของประเทศ ก็จะช้าในการแก้ไข ตรงนี้เป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลทุกรัฐบาล ที่ต้องทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่จะทำโดยวิธีไหน ผมเคารพในการตัดสินใจของรัฐบาล แต่เป้าหมายต้องชัดเจน ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว 

 

ต้องให้ความรู้ประชาชน ให้เข้าใจความจำเป็นของผู้ป่วยวิกฤติจริงๆ

 

ถามว่าศิริราชมีการรณรงค์ให้คนไม่มาฉุกเฉินนอกเวลาด้วยหรือไม่  ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า มีการอธิบายกับคนไข้ ซึ่งสถานการณ์เรายังไม่รุนแรงเหมือนสิงคโปร์ เราเคยไปดูที่สิงคโปร์ถ้าไม่ใช่เจ็บป่วยฉุกเฉินก็ต้องรอให้แพทย์ตรวจรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งหมดเรียบร้อยถึงจะมาตรวจ แต่ที่นั่นทำจนเป็นวัฒนธรรม ที่สำคัญคนที่มาเขารู้ว่าตนเองไม่ได้ฉุกเฉิน ต้องรอเป็น แต่คนไทยไม่ได้ถูกให้ความรู้เรื่องแบบนี้ อีกอย่างการตีความฉุกเฉินไม่เหมือนกัน เรามองเห็นเด็กคนหนึ่งมีไข้ 38 องศา แต่เด็กเรียบร้อยดี อย่างนี้ไม่ใฉุกเฉิน แต่อีกคนช็อกอยู่เราก็ต้องดูคนนั้น แต่สำหรับพ่อแม่ ลูกเราเป็นไข้ตั้ง 38 องศา ฉะนั้น นิยามคำว่าฉุกเฉินไม่ตรงกัน ดังนั้น Health Education เป็นเรื่องสำคัญ