สสส.- สคล. - สมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ - คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ ลงพื้นที่ จ.น่าน พบปี 64 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 43% เป็นอันดับ 1 ของไทย ร่วมถอดบทเรียนพลังหมออนามัย ชวนชาวบ้านเลิกเหล้าสำเร็จเป็นรูปธรรม สะท้อนผ่าน “ค่าเอนไซม์ตับ” ลดลง ตัวชี้วัดสุขภาพฟื้นตัวช่วงงดเหล้าเข้าพรรษา

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จ.น่าน ลงพื้นที่ รพ.สต.บ้านสะเนียน ต.สะเนียน อ.เมือง จ.น่าน ร่วมถอดบทเรียนความสำเร็จ “พลังหมออนามัย ชวนคนไทยตื่นรู้ เช็คตับ เลิกเหล้า” จัดการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเอนไซม์ตับ ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัยเพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพในผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติปี  2564 พบว่า จ.น่าน มีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นอันดับ 1 ของไทย คิดเป็น 43% ของประชากร จึงควรส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงระบบการสร้างเสริมสุขภาพ ลด ละ เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงได้มีการบูรณาการองค์ความรู้ด้านปัจจัยเสี่ยงหลัก และระบบบริการสุขภาพ เพื่อแก้ไขปัญหา จนเกิด “โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัยเพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพในผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน” ควบคู่กับงดเหล้าเข้าพรรษา ในฤดูกาลสุขปลอดเหล้า Healthy Sobriety ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ เครือข่ายหมออนามัย ม.ทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และภาคีที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการจัดการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน พัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการ “วัดค่าเอนไซม์ตับ” ในพื้นที่นำร่อง 80 พื้นที่เขตสุขภาพทั้ง 12 เขต ใน 32 จังหวัด ร่วมกับ รพ.สต. โดยมีเครือข่ายหมออนามัย ให้รู้ด้านสุขภาพ เสริมพลัง ให้คำปรึกษา

“รพ.สต.บ้านสะเนียน เป็นพื้นที่ต้นแบบในการเก็บวัดผลตรวจเลือด เพื่อหาค่าเอนไซม์ตับจากผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ และผู้ดื่มติดต่อกันนานเกิน 6 เดือน โดยมีติดตามหลังการงดเหล้าเข้าพรรษา 3 เดือน พร้อมให้คำปรึกษาปรับพฤติกรรม ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ผู้ดื่มใน ต.สะเนียน สามารถลดหรือเลิกดื่มได้ถึง 78.8% ตับ เป็นอวัยวะสำคัญ ทำหน้าที่ รับ-จ่าย-เก็บ-ผลิต น้ำตาล โปรตีน ไขมัน วิตามิน สร้างน้ำย่อย ผลิตเอนไซม์ และเป็นโรงงานกำจัดขยะ ทำลายของเสีย สุรา สารเคมี สารพิษ ถ้าดื่มสุรามากเกินไปจะทำให้ตับอักเสบ เอนไซม์จะรั่วออกมาทำให้ตรวจพบเอนไซม์ตับสูงในกระแสเลือด และถ้าดื่มเป็นประจำดื่มหนักหรือติดสุรารุนแรง จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งตับได้” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นายนันทมิตร นันทะเสน ผู้อำนวยการรพ.สต.บ้านสะเนียน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายหลายภาคส่วนโดยเฉพาะ เครือข่ายหมออนามัยวิชาการ ซึ่งมีจุดแข็งใกล้ชิด เข้าถึงข้อมูลประชาชน และรู้บริบทของพื้นที่ เพื่อทำงานเกี่ยวกับการส่งเสริมการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งไม่ได้ทำการรณรงค์เพียงแค่การชวนให้คนเลิกดื่ม แต่มีเครื่องมืออย่างการตรวจเอนไซม์ตับ โดย สสส. ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ต้นแบบ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกับหมออนามัยซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ การเชิญชวนคนเข้ามาตรวจค่าเอนไซม์ตับ นอกจากอาศัยรูปแบบของคณะกรรมการสุขภาพพื้นที่ ยังอาศัยการทำงานของ อสม. จะเข้าไปเคาะประตู ให้ความรู้ ด้านสุขภาพ ติดตามประเมินอย่างต่อเนื่อง และใกล้ชิด ทำให้เกิดสุขภาพของชุมชนแบบปฐมภูมิตั้งแต่ระดับชุมชน

ดร.บุญเรือง ขาวนวล นายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ และ รองคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและภารกิจพัฒนานิสิต คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา ม.ทักษิณ กล่าวว่า บทบาท และสมรรถนะหมออนามัย และ รพ.สต. ดำเนินการจัดการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน เริ่มจากได้ทำโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัย (หมออนามัยอะคาเดมี่) หมออนามัยรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนมากทำงานอยู่ที่ รพ.สต. ทำให้ได้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพด้านวิชาการและการจัดการความรู้ ที่จะสามารถใช้งานเชิงวิชาการในการขับเคลื่อนงานเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งบทเรียนที่ผ่านมาจะใช้แค่การรณรงค์ให้ความรู้อย่างเดียวอาจไม่ได้มีประสิทธิผลเท่าที่ควร ดังนั้นจำเป็นจะต้องใช้การสื่อสารให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ด้วยการตรวจค่าเอนไซม์ตับ เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้และความรอบรู้ด้านสุขภาพ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดตัว “น้องตั้งใจ” ตัวช่วยเลิกเหล้า ลดวันดื่ม-ลดความเสี่ยงโรค

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org