สปสช. ลงพื้นที่ อ.องค์รักษ์ จ.นครนายก เยี่ยมชมดำเนินงานศูนย์ร่วมสุขตำบลโพธิ์แทน ของ รพ.สต.บ้านเขมรฝั่งใต้ เผยประทับใจระบบการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง มีการเชื่อมต่อตั้งแต่โรงพยาบาลลงมาถึงในชุมชน มีนักฟื้นฟูชุมชนช่วยดูแลในพื้นที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง
นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช.เขต 4 สระบุรี ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานศูนย์ร่วมสุขตำบลโพธิ์แทน ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านเขมรฝั่งใต้ ต.โพธิ์แทน อ.องครักษ์ จ.นครนายก เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งศูนย์ร่วมสุขตำบลโพธิ์แทนแห่งนี้ จัดตั้งขึ้นสำหรับดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง (IMC) ที่ถูกส่งตัวกลับจากโรงพยาบาลมาฟื้นฟูในชุมชน โดยนอกจากจะมีนักกายภาพบำบัดจากโรงพยาบาลองครักษ์มาเยี่ยมบ้านเดือนละ 1 ครั้งแล้ว ยังมีหมอครอบครัวในพื้นที่ และ นักฟื้นฟูชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ได้รับการอบรมจากนักกายภาพบำบัด ทำหน้าที่ดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยร่วมกับญาติอีกด้วย
นายวรพจน์ วงษ์ปาน ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านเขมรฝั่งใต้ กล่าวว่า ศูนย์ร่วมสุขตำบลโพธิ์แทน จัดตั้งขึ้นในเดือน เม.ย. 2566 เพื่อฟื้นฟูดูแลผู้ป่วยระยะกลาง 4 กลุ่มโรค คือ 1.หลอดเลือดสมอง 2.อาการบาดเจ็บทางสมอง 3.อาการบาดเจ็บไขสันหลัง และ 4.ภาวะกระดูกสะโพกหัก ที่ส่งตัวกลับจากโรงพยาบาลและมีค่าคะแนน BI ระหว่าง 11-19 ปัจจุบันมีผู้มารับบริการ 1 ราย
“จริงๆก่อนหน้านี้มีผู้ป่วยเยอะกว่านี้ แต่เนื่องจากมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมาประจำในพื้นที่ทำให้สามารถควบคุมโรคเรื้อรังได้ดีจนทำให้จำนวนผู้ป่วยระยะกลางลดน้อยลง แต่เราก็ไม่ได้ปล่อยให้ศูนย์นี้ว่าง เราทำ MOU กับคณะกายภาพบำบัด มศว.องครักษ์ เพื่อขอความร่วมมือส่งนักกายภาพบำบัดลงมาให้บริการในวันที่มีคลินิกโรคเรื้อรัง”นายวรพจน์ กล่าว
นอกจากนี้ ในกรณีผู้ป่วยไม่สามารถมารับบริการที่ศูนย์ร่วมสุขฯได้ ก็จะมีทีมลงไปดูแลที่บ้าน ช่วยดัดแปลงอุปกรณ์ในบ้านให้เหมาะกับการฟื้นฟูร่างกาย โดยมีนักฟื้นฟูชุมชนเข้าไปช่วยดูแลอีกทางหนึ่ง ซึ่งในส่วนของนักฟื้นฟูชุมชนนั้น จะเป็นเครือข่าย อสม. ที่ได้รับการอบรมด้านการดูแลและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยระยะกลางจากนักกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลองค์รักษ์ และจากอาจารย์คณะกายภาพบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชนได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันใน ต.โพธิ์แทน มีนักฟื้นฟูจำนวน 15 คน ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยทั้งระยะกลาง รวมทั้งผู้ป่วยระยะยาวที่อยู่ในการดูแลของกองทุน Long Term Care ด้วย
ด้าน พญ.อรรัตน์ จันทร์เพ็ญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครนายก กล่าวว่า จ.นครนายก ก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุแล้ว โดยมีประชากรผู้สูงอายุถึง 24% และในอนาคตจะมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงมากขึ้น ทั้งจากความเสื่อมของอายุ การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่ลุกลามกลายเป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และความเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุต่างๆ ทาง จ.นครนายก ให้ความสำคัญกับการชะลอไม่ให้ผู้สูงอายุกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง จึงมีการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูในชุมชน เพื่อที่หลังจากรักษาในโรงพยาบาลจนพ้นขีดอันตรายและกลับสู่ชุมชนแล้วได้รับการฟื้นฟูที่ดี ไม่เป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม
พญ.อรรัตน์ กล่าวอีกว่า รพ.สต.บ้านเขมรฝั่งใต้ มีนักฟื้นฟูชุมชน เพราะด้วยจำนวนนักกายภาพบำบัดที่มีจำกัด การอบรมศร้างความรู้ให้แก่นักบริบาลชุมชนให้มีศักยภาพในการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลางด้วย แม้จะทำได้บางเรื่องแต่ไปดูแลได้ทุกวัน ก็จะช่วยลดภาระแก่ครอบครัว เพราะผู้ป่วยระยะกลาง 1 คน หากจะดูแลให้ดีควรมีผู้ดูแล 2 คน แต่ก็จะเป็นปัญหาคือผู้ดูแลไม่สามารถออกไปหารายได้ได้เลย การมีนักฟื้นฟูชุมชนเข้ามาช่วย จะลดภาระทำให้ญาติผู้ป่วยสามารถออกไปทำงานหารายได้
นายจักรพันธ์ จินตนาพากานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก กล่าวว่า อบจ.นครนายก ทำงานร่วมกับ สปสช. โดยมีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ซึ่งปีนี้ได้มอบเครื่องผลิตออกซิเจน 50 เครื่องแก่ รพ.สต. เพื่อนำไปให้บริการผู้ป่วยติดเตียง และการสนับสนุนเครื่องมือแก่ อสม. ในการทำงานเชิงรุก เช่น เครื่องวัดความดัน เครื่องตรวจเบาหวาน เครื่องชั่งน้ำหนัก แก่ อสม. ทุกหมู่บ้าน
นายจักรพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ในอนาคต กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดนครนายก จะทำงานกับศูนย์ร่วมสุขฯในตำบลต่างๆ เพื่อสำรวจความต้องการของผู้ป่วยและญาติว่ามีความจำเป็นหรือต้องการความช่วยเหลือด้านใด และ อบจ.จะสนับสนุนให้ ซึ่งในระยะแรกอาจจะเป็นเรื่องความขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ซึ่งเมื่อได้สำรวจข้อมูลที่ชัดเจนแล้วก็จะได้นำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ต่อไป โดยวางลำดับความสำคัญให้สนับสนุนผู้ป่วยติดเตียงเป็นอันดับแรก รองลงมาคือผู้พิการและผู้สูงอายุตามลำดับ
ขณะที่ นพ.อภิชาติ กล่าวว่า การมาลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ร่วมสุขฯ รวมทั้งได้เยี่ยมบ้านผู้ป่วยในครั้งนี้ รู้สึกประทับใจระบบการจัดการที่มีการดูแลตั้งแต่โรงพยาบาลลงมาถึงชุมชน มีนักกายภาพบำบัดและนักฟื้นฟูชุมชนเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยจากเดิมที่มีแนวโน้มสูงที่จะพิการ ได้รับการฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ลดภาระญาติได้เป็นอย่างดี
“ระบบนี้ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น และต่อไปบทบาทของนักฟื้นฟูชุมชนจะมีมากขึ้น เพราะประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย จะมีการเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูภายใน 6 เดือน มากขึ้น ไม่เช่นนั้นผู้ป่วยจะพิการหรือป่วยติดเตียง ซึ่ง สปสช. ก็จะสนับสนุนทั้งในด้านสิทธิประโยชน์ทั้งการรักษาและการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค นอกจากนี้ยังมีกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น มีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพในระดับจังหวัด รวมทั้งพร้อมให้การสนับสนุนหรือให้คำแนะนำ”นพ.อภิชาติ กล่าว
ด้าน นายประเสริฐ อายุ 60 ปี ชาวบ้านใน ต.โพธิ์แทน หนึ่งในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองซึ่งเริ่มมีอาการตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา กล่าวว่า หลังจากได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล 1 สัปดาห์ ก็กลับมาฟื้นฟูที่บ้าน เช่น หัดเดินด้วยการจับไม้ราว เป็นต้น ซึ่งการมีนักฟื้นฟูชุมชนเข้ามาช่วยดูแลถือว่าดีมาก หากไม่มีแล้วก็ต้องให้ลูกหลายมาดูแล ทำให้ไม่สามารถออกไปหากินได้ แต่เมื่อมีนักฟื้นฟูชุมชนมาช่วย ก็ทำให้ลูกหลานออกไปทำมาหากินได้
- 562 views