สสส.-สมาคมฮักชุมชน ถอดบทเรียนความสำเร็จ “ขับเคลื่อนการเลิกสุราโดยชุมชน” สร้างชุมชนสุขภาวะ 24 พื้นที่ ใน 10 จังหวัด ผ่านกิจกรรมธรรมนำทาง-กลุ่มฮักครอบครัว บูรณาการสามประสาน วัด-รพ.สต.-ชุมชน ใช้ชุมชนเป็นกลไกหลัก  ช่วยคืนคนดีสู่สังคม-ครอบครัว

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต นางสาวรุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สสส.) กล่าวเปิดเวทีการประชุมถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน โดยสมาคมฮักชุมชน “สามประสาน เพื่อสุขภาวะ…ทำได้อย่างไรในชุมชน” ว่า สถานการณ์ดื่มของคนไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบผู้ที่เคยดื่มหนักในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา 5.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอดจากร้อยละ 14 ในปี 2557 ในขณะที่ข้อมูลรายงานผลการดำเนินงานคัดกรองและการบำบัดผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้รับการบำบัดในสถานพยาบาล ร้อยละ 65 ซึ่งยังมีผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการบำบัดรักษาหรือไม่พร้อมจะเดินเข้าสู่ระบบสุขภาพอีกจำนวนมาก

“สสส. ได้ขยายการทำงานสานพลังภาคีเครือข่าย ผ่านสมาคมฮักชุมชน ในโครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าสู่กระบวนการ ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเน้นการทำงานผ่าน ชุมชน และ วัด เป็นสำคัญเพราะใกล้ชิดกลุ่มเป้าหมายและการป้องกันแก้ไขปัญหาในชุมชนร่วมกัน  โดยเตรียมรณรงค์ให้ประชาชน ลด ละ เลิก ในวันช่วงเข้าพรรษา โดยใช้ชื่อว่า ปีนี้ใคร ๆ  ก็งดเหล้าเข้าพรรษา เชื่อว่าหลายคนจะถือเอาช่วงเวลาเข้าพรรษา 3 เดือน เป็นจุดเริ่มต้นตั้งใจจะที่จะเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว

“สามประสาน เพื่อสุขภาวะ…ทำได้อย่างไรในชุมชน

นางสาวรักชนก จินดาคำ นายกสมาคมฮักชุมชน กล่าวว่า สมาคมฮักชุมชน ได้ริเริ่มโครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน ดำเนินการใน 26 พื้นที่ จาก 10  จังหวัด โดยมีรูปแบบที่ให้ชุมชนได้วิเคราะห์ เลือก และนำไปปฏิบัติในพื้นที่ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบธรรมนำทาง และ รูปแบบกลุ่มฮักครอบครัว โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดผลลัพธ์สำคัญ คือ 1.กลไกขับเคลื่อนงาน ที่คนในชุมชนมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของปัญหา มีความเข้าใจ และพร้อมดำเนินการในมิติการบำบัดดูแลผู้มีปัญหาสุรา  2.มีความรู้ ทักษะ เครื่องมือในการดูแลผู้มีปัญหาสุรา ที่คณะทำงานในพื้นที่และชุมชน สามารถนำไปใช้ได้ และติดตามผลได้ 3.ผู้มีปัญหาสุรา สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิก ดื่มสุรา มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนในครอบครัวและชุมชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

รูปแบบธรรมนำทาง มีกิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมอยู่วัด รู้ ธรรม 7 วัน 6 คืน และกิจกรรมติดตาม นำ หนุน ใจ มีพระสงฆ์เป็นผู้มอบหลักธรรม สร้างสติ หนุนเสริมปัญญาควบคู่ไปกับบุคลากรสุขภาพ ให้ความรู้ผลกระทบสุรา การดูแลสุขภาพ โดยมีผู้นำชุมชน และอสม. ช่วยสร้างแรงจูงใจให้สมัครใจเข้าร่วมกิจกรรม สนับสนุนกระบวนการการติดตามผล ครอบครัว คอยให้ความรัก ความเข้าใจ ให้โอกาสกับผู้ที่อยากเลิกสุรา และลดการกระตุ้นการกลับไปดื่ม ขณะที่รูปแบบกลุ่มฮักครอบครัว มีกิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชุดทักษะความรู้ 8 ครั้ง 8 สัปดาห์ และกิจกรรมติดตาม นำ หนุน ใจ โดยผู้มีปัญหาสุราและสมาชิกในครอบครัวจะต้องมีส่วนร่วมในการเข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้ง โดยทั้ง 2 รูปแบบใช้รวมเวลา 12 เดือน โดยมีเครื่องมือสำคัญคือ แบบสำรวจข้อมูลครัวเรือน ข้อมูลการดื่มสุรา ผลกระทบ และ ความสุข แบบประเมิน พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และแบบประเมินคุณภาพชีวิต   

“แต่ละชุมชนจะมีการวิเคราะห์เลือกเองจากความเหมาะสม กิจกรรมสำคัญอยู่ที่กลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องของทักษะความรู้ ประสบการณ์ในเรื่องของการดื่มสุราและแก้ปัญหาของสมาชิกแต่ละคน หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 2 รูปแบบ จะมีการติดตาม นำ หนุน ใจ จะเป็นลักษณะของการติดตามที่บ้าน ติดตามแบบลักษณะกลุ่ม และมีการฝึกพัฒนาทักษะ ให้อาชีพ สร้างรายได้ เพื่อให้การเลิกสุราเกิดความยั่งยืน ไม่กลับมาดื่มซ้ำ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตามผลทั้งในด้านการปรับพฤติกรรมการดื่มสุราและคุณภาพชีวิตทั้งต่อผู้มีปัญหาสุรา ครอบครัว และชุมชน” นางสาวรักชนก กล่าว

ด้านนางอุไรวรรณ ฐิติวัฒนากูล ผอ.รพ.สต. โคกเทียม/คณะทำงานศูนย์ฮักชุมชนวัดป่าก้าว อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี  กล่าวว่า รพ.สต. เป็นหน่วยบริการสุขภาพที่ต้องดูแลประชาชนโดยเราได้ดำเนินการดูแลผู้ที่มีปัญหาดื่มสุราติดสุรา และได้รับผลกระทบจากการดื่มสุราอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้มีภาคีเครือข่าย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของตับแข็งโรคมะเร็งที่จะต้องเข้าสู่การรักษาเราจะต้องดูแลซึ่งเป็นการแก้ปัญหาแค่ปลายเหตุและแค่ดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งเมื่อได้รู้จักภาคีเครือข่ายและสมาคมฮักชุมชน เรารู้สึกดีใจและมั่นใจว่าสมาคมได้มาถูกทางแล้วที่มาจับมือร่วมกับชุมชนและพระสงฆ์เพราะเป็นกลุ่มบุคคลที่อยู่ในพื้นที่โดยเฉพาะพระสงฆ์เองเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้กับชุมชน เป็นที่พึ่งด้านจิตใจของชุมชน ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ที่มีปัญหาสุราเกิดปัญหามาจากด้านจิตใจ มีปัญหาด้านสุขภาพจิตหรือมีความเครียดต่างๆ

ทั้งนี้ บทบาทของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเราได้มารู้จักโครงการและโครงการนี้นำเข้าสู่ชุมชนวัดป่าก้าวเป็นพื้นที่แรกที่ดำเนินการในปี 2563 ซึ่งสมาคมได้ถ่ายทอดความรู้ ในส่วนของบทบาทสาธารณสุขโดยส่วนตัวได้เรียนจบเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตอยู่แล้ว ผ่านการอบรมในเรื่องการบำบัดผู้ที่มีปัญหาสารเสพติดมาก่อน เราจึงได้มีบทบาทในการนำองค์ความรู้มาเติมเต็มในส่วนของโครงการ แต่ ไม่ได้นำมาเป็นกิจกรรมหลัก ส่วนกิจกรรมหลักคือ “ธรรมนำทาง” เป็นกิจกรรมที่สมาคมได้พัฒนามา ซึ่งเป็นกระบวนการนำหลักธรรมมาช่วยในการปรับเปลี่ยนความคิด พฤติกรรมการดื่มสุรา การดูแลสุขภาพ กิจกรรมสำคัญ 2 กิจกรรมหลัก คือกิจกรรมรู้ธรรมและกิจกรรมตามติดตาม นำ หนุน ใจ มุ่งเน้นการสร้างสติสงบเสริมพลังให้เกิดปัญญา ปลุกความหวังในการใช้ชีวิต ซึ่งถือเป็นพื้นที่โอกาสให้ได้ห่างไกลสภาพแวดล้อมที่เข้าถึงสุราได้ง่าย โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะใช้ชีวิตอยู่ใน 7 วัน 6 คืน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมที่สุดเราจะนำองค์ความรู้ส่วนอื่นมาเพิ่มเติมเพื่อที่จะให้ผู้ที่มีปัญหาสุราสามารถใช้ชีวิตและอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีความสุข นางอุไรวรรณ กล่าว.

 

ขณะที่พระจีรศักดิ์ ภูสะพาน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมธรรมนำทาง พื้นที่วับูรพาหนองบัว อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม กล่าวว่า ได้เข้ารับรักษาในเรื่องของผู้มีปัญหาการดื่มสุรา โดยได้ยินประกาศจากเสียงตามสายของผู้นำหมู่บ้านซึ่งในตอนแรกยังไม่ค่อยสนใจมากนัก เพราะตอนนั้นยังทำงานรับจ้างรายวัน จึงมีผู้นำผู้ใหญ่บ้านได้เข้าไปชักชวนว่าโครงการนี้ไม่ใช่ว่ารักษาผู้ที่ติดสุรา ขอเพียงอยากให้เราเข้าร่วมกิจกรรมก่อนสิ่งที่ตามมาจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากัน จากนั้นจึงได้ชวนพรรคพวกที่กินดื่มด้วยกันเข้าร่วมกิจกรรม 6 คืน 7 วัน โดยมีการถือศีล 8 โดยจะอาศัยอยู่ภายในวัดตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย ทำกิจกรรมทุกอย่างเหมือนกับพระทำวัตรเย็นวัดเช้า

เข้าไปในช่วงแรกๆอาการเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็เคยมีความรู้สึกอยากกระโดดกำแพงตัวสั่นบ้าง แต่ก็ไม่กล้าทำเพราะอยู่ในวัดและเกรงใจพระอาจารย์ เพราะ ความดีของพระอาจารย์มีเยอะ คือได้นำเราเข้าไปสู่ทางทำแล้ว คิดว่าอยากให้พ้น 7 วันไปก่อน ซึ่งเป็นไปตามนั้นหลังจาก 7 วัน ก็ได้ไปดื่มเฉลิมฉลองกัน และได้พูดคุยว่าจะทำยังไงถึงจะหยุดดื่มสุราได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากเสมือนกับการโกหกคน ใครไม่เจอกับตัวไม่มีทางรู้ได้ว่ามันเป็นสิ่งที่ยากมาก 

ขณะที่เข้ารับการบำบัดได้เจอกับวิทยากรได้ถามกับเราว่า จะเลิกดื่มสุราไหม? โดยถามเป็นรายบุคคล แต่เราก็ไม่กล้าตอบออกไปแต่ในใจคิดว่าจะทำให้ดูถ้าทำได้แล้วนั่นถึงจะเป็นคำตอบ ซึ่งในกลุ่มสนทนากันมีหลายคนหลายความคิดที่แตกต่างกันไปและเป้าหมายเดียวกันคืออยากหยุดดื่มสุรา จากนั้นพระคุณเจ้าจึงเสนอให้ว่าถ้าใครตั้งใจจริงจะบวชให้ไม่มีปัจจัยไม่เป็นไร ซึ่งเราก็ได้บวชมาจนถึงปัจจุบัน ผลที่ตามมาจากการเลิกดื่มสุราเห็นได้ชัดเลยคือร่างกายของเราแข็งแรงขึ้น จิตใจดีขึ้น เป็นคนใจเย็นขึ้น ไม่หงุดหงิด พระจีรศักดิ์ กล่าว.