ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดรายงานสุขภาพคนไทย 2566

สสส.-สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล เปิดรายงานสุขภาพคนไทย 2566  พบ ยาเสพติด – บุหรี่ไฟฟ้า – อุบัติเหตุ เป็นสถานการณ์เด่นทางสุขภาพ ต้องเร่งรับมือระดับนโยบาย เน้นลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2566 ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า รายงานสุขภาพคนไทย 2566 ซึ่งจัดทำโดย สสส. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล และภาคีเครือข่ายนักวิชาการ ได้นำเสนอตัวชี้วัด “ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ” ทั้ง 12 ตัวชี้วัด ที่ยึดตามยุทธศาสตร์ภายใต้ทิศทางและเป้าหมายระยะ 10 ปี ของ สสส. ที่มีจุดเน้นการทำงานที่เป็นเป้าหมายหลัก 7 ประเด็น ได้แก่ ยาสูบ แอลกอฮอล์และยาเสพติด อาหาร กิจกรรมทางกาย อุบัติเหตุทางถนน สุขภาพจิต มลพิษสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ชุมชน นโยบาย ยังเป็น บริบทที่ สสส. ให้ความสำคัญ 

"เปิดรายงานสุขภาพคนไทย 2566"

“รายงานสุขภาพคนไทยปี 2566 จะเป็นหนึ่งในชุดข้อมูลที่ สสส. ใช้ไว้กำกับติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงสุขภาพ โดยใช้ข้อมูลบางส่วนของรายงาน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและเชื่อมโยง ตอบโจทย์พันธกิจ ของ สสส.  โดยมีรูปแบบการทำงานผ่านภาคีเครือข่าย การกำหนดตัวชี้วัดต่าง ๆ มีความจำเป็นที่จะต้องสอดคล้องในแต่ละระดับ และเชื่อมต่อปฏิบัติการ หรือมาตรการต่าง ๆ เนื้อหารายงานฉบับนี้ มีรายละเอียด ระดับสุขภาพ เจ็บป่วย สถานะทางสุขภาพ รวมถึง พฤติกรรมหรือสภาพแวดล้อม  ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สะท้อนภาพเชิงนโยบาย  จากข้อมูลรายงานเล่มนี้ สสส. จะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ แบ่งการทำงานเป็น 2 ระดับ คือ 5 ปี และแผนปฏิบัติการประจำปี ซึ่งจะส่งต่อข้อมูล เข้าสู่15 แผนงาน ของ สสส. ต่อไป ” ดร.ประกาศิต กล่าว

รศ.ดร. เฉลิมพล แจ่มจันทร์ หัวหน้าโครงการรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 กล่าวว่า 10 สถานการณ์เด่นปีนี้  นำเสนอประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคม ได้แก่ ปัญหายาเสพติดในชุมชน จะควบคุมอย่างไร บุหรี่ไฟฟ้ารุกคืบในไทย ความปลอดภัยบนทางม้าลายและคนเดินเท้า การแก้ไขกฎหมายสุรา ระบบบริการสาธารณสุขใน กทม. และการปฏิรูประบบปฐมภูมิ ความมั่นคงทางอาหาร สังคมไทยกับความรอบรู้ด้านสุขภาพ รู้ทัน “แก็งคอลเซ็นเตอร์”  สังคมสูงวัย การส่งเสริมสมุนไพร สำหรับ 4 ผลงานดี ๆ เพื่อสุขภาพคนไทยปีนี้ ได้แก่ ยูเนสโกยกย่อง สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ  WHO มอบรางวัลระดับโลกให้  แพทย์ไทย “นพ.ประกิต – นพ.ไพศาล”  โรงพยาบาลศิริราชรับรางวัล สูงสุด Thailand Lean Award 2022 และ  ยูเนสโกยกย่องพระยาศรีสุนทรโวหาร 

"เปิดรายงานสุขภาพคนไทย 2566"

“โดยในรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 นำเสนอเรื่องพิเศษ คือ คำสัญญาของไทยใน “คอป” (COP : Conference of Parties) เป้าหมายที่ไทยให้ไว้ในการประชุม COP  มีผู้นำจาก 92 ประเทศ ผู้แทนจาก 190 ประเทศ และมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 35,000 คน กับการรับมือ “โลกรวน” นำเสนอสภาพความ “รวน” ของโลก และของไทยในปัจจุบัน ความเป็นมาของเป้าหมาย การช่วยกันลดอุณหภูมิของโลก และมาตรการต่างๆ รวมทั้งแผนการ และการขับเคลื่อนของภาคส่วนต่างๆ ในไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ติดตามอ่านหนังสือรายงานสุขภาพคนไทย และบทความได้ที่ www.thaihealthreport.comรศ.ดร. เฉลิมพล กล่าว

ผศ.ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย กล่าวว่า ในรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 ได้รวบรวม 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2566 ดังนี้

  1. ปัญหายาเสพติดในชุมชน จะควบคุมอย่างไร?
  2. บุหรี่ไฟฟ้ารุกคืบในไทย ต้องเร่งควบคุม
  3. ความปลอดภัยบนทางม้าลายและคนเดินเท้า : แนวทางการปรับปรุง
  4. การแก้ไขกฎหมายสุรา : จากร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า การปลดล็อคสุราชุมชน
  5. ระบบบริการสาธารณสุขในกรุงเทพฯ: การปฏิรูประบบปฐมภูมิ
  6. ประเทศไทยกับความมั่นคงทางอาหาร
  7. สังคมไทยกับความรอบรู้ด้านสุขภาพ
  8. รู้ทัน "แก๊งคอลเซ็นเตอร์"!
  9. ประเทศไทยกับสังคมสูงอายุ
  10. การส่งเสริมสมุนไพรไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน

"เปิดรายงานสุขภาพคนไทย 2566"

"หนึ่งในสถานการณ์เด่น คือ เรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปัจจุบันมีรูปแบบการหลอกลวงที่หลากหลาย ทั้งการหลอกขายสินค้า เงินกู้ทิพย์ แชร์ลูกโซ่ ใช้บัญชีม้า หลอกให้ลงทุน หลอกให้รักแล้วโอนเงินด้วยการปลอมโปรไฟล์ ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว เกี่ยวพันกับธุรกิจสีเทา เรื่องการพนันออนไลน์ เกี่ยวโยงถึงมาเฟียข้ามชาติ รวมถึงการโฆษณาเชิญชวนไปทำงานต่างประเทศ เสี่ยงต่อเรื่องการค้ามนุษย์หรือถูกบังคับให้ทำงานผิดกฎหมาย และยังมีการฉ้อโกง หลอกลวงออนไลน์ในรูปแบบอื่น ๆ ที่ต้องระวัง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่จะตกเป็นเหยื่อได้ง่าย" ผศ.ดร.สักกรินทร์ กล่าว

ผศ.ดร.สักกรินทร์ เพิ่มเติมว่า เรื่องของยาเสพติดในชุมชนและบุหรี่ไฟฟ้า ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบันมีสังคมออนไลน์ที่ทำให้การเสนอซื้อขายง่ายขึ้น อย่างเรื่องยาเสพติดควรยกระดับการมีส่วนร่วมของภาคสังคมและชุมชนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ตระหนักถึงการเป็นเจ้าของปัญหาและช่วยรายงานสถานการณ์ในชุมชน

ด้าน รศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย ได้กล่าวถึง 12 หมวดตัวชี้วัด "ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ" ว่า สุขภาพของคนขึ้นอยู่กับผลพวงปัจจัยทางสังคม โดยมีหลายลำดับชั้น นำมาสู่ปัจจัยวิถีชีวิตชุมชนส่งผลต่อสุขภาพของแต่ละคนที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย

  • สภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม
  • สภาพความเป็นอยู่และการทำงาน
  • เครือข่ายสังคมและชุมชน
  • ปัจจัยวิถีชีวิตบุคคล
  • อายุ เพศ และปัจจัยอื่น ๆ

รศ.ดร.มนสิการ กล่าวว่า ตัวอย่างของอิทธิพลโดยรวม ส่งผลให้ความชุกของการสูบบุหรี่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสังคมที่หลากหลาย เพราะการสูบบุหรี่เป็นเรื่องบรรทัดฐานของสังคม เช่น ภาคใต้จะพบความชุกของการสูบบุหรี่สูงกว่าภาคอื่นและมีการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะมากกว่าพื้นที่อื่น การรณรงค์เรื่องบุหรี่จึงมีความท้าทายมาก ด้านสถานภาพการทำงานก็มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเสี่ยงเช่นกัน กลุ่มที่ร่วมธุรกิจทำงานกับที่บ้าน พฤติกรรมเสี่ยงเรื่องสูบบุหรี่จะต่ำกว่า ส่วนเครือข่ายสังคมและชุมชนก็มีอิทธิพลเช่นกัน ชุมชนเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อม สามารถลดการสูบบุหรี่ในครัวเรือนลงได้ นอกจากนี้ เรื่องที่ต้องจับตามอง คือ บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ เกี่ยวข้องกับประชากรและระดับสถานะทางเศรษฐกิจ โดยกลุ่มอายุผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า คือ 15-24 ปี เพราะเชื่อกันว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป นำไปสู่การลองใช้ที่สูงกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : รายงานสุขภาพคนไทยปี 62 ชี้ สถานการณ์เอชไอวี/เอดส์ดีขึ้น แต่ติดปัญหาถูกเลือกปฏิบัติสูงลิ่ว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง