สปสช.จัดเวิร์กช็อป สร้างความรู้เกี่ยวกับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแก่เครือข่ายชาติพันธุ์และความหลากหลายทางเพศ หวังขยายพื้นที่เครือข่ายให้ครอบคลุมและพัฒนาเป็นศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ เพื่อช่วยให้ความรู้และคุ้มครองสิทธิแก่สมาชิกในเครือข่ายในอนาคต
วันที่ 6 พ.ค. 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายชาติพันธุ์ และความหลากหลายทางเพศ ระหว่างวันที่ 24-25 เม.ย. 2566 เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการเข้าถึงสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพ และพัฒนาบทบาทการเป็นศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน หรือยกระดับเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน หรือหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้าน โดยมีตัวแทนเครือข่ายชาติพันธุ์และกลุ่มความหลากหลายทางเพศประมาณ 20 คนเข้าร่วมประชุม
ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ส่วนมากจะเป็นแกนนำหรือเครือข่ายกลุ่มใหม่ๆ ที่ สปสช. ขยายความร่วมมือในการทำงานให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา สปสช. มีการทำงานร่วมกับแกนนำระดับบนแล้ว แต่ถ้าพิจารณาลงไปจะพบว่าการรับรู้สิทธิต่างๆ ก็ยังไม่ทั่วถึง รวมทั้งต้องสร้างการตระหนักรู้ให้รู้สึกว่าทุกคนควรได้สิทธิเท่าเทียมกัน ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่จะขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้
“เครือข่ายที่มาประชุมครั้งนี้เป็นกลุ่มใหม่ๆ ที่พร้อมเข้ามาร่วมงานกับ สปสช. กลุ่มนี้รู้ถึงปัญหาของตัวเองและคิดว่าจะรอการทำงานของเครือข่ายอื่นๆ ไม่ได้แล้ว เราจึงชักชวนให้เข้ามาดูแลเรื่องสิทธิของเครือข่ายของตัวเอง ต้องเดินไปอีกก้าวในฐานะที่เป็นแกนนำภาคประชาสังคมที่มีความเข้มแข็ง อาจจะพัฒนาจนเป็นศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพหรือทำเรื่องการสร้างการรับรู้ เข้าถึงสิทธิและคุ้มครองสิทธิในเครือข่ายของตนให้มากขึ้นในอนาคต”ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว
ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวต่อไปว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และจะต้องมีการทำงานร่วมกันกับ สปสช. อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากที่มีการประชุมที่ส่วนกลางแล้ว ต่อไป สปสช. เขตต่างๆ ก็จะรับลูกในการประสานการทำงานร่วมกันต่อไป
ด้าน สุมาลี โตกทอง ผู้ประสานงานโครงการข้ามเพศมีสุข กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนแต่ที่ผ่านมาเครือข่ายความหลากหลายทางเพศยังไม่ค่อยได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายภาคประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ ส่วนมากจะพ่วงไปกับเครือข่ายสตรีต่างๆ แต่จริงๆแล้วกลุ่มความหลากหลายทางเพศก็มีประเด็นเฉพาะและต้องการบริการที่แตกต่าง จึงเป็นโอกาสดีที่เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายกับ สปสช. ในครั้งนี้
สุมาลี กล่าวต่อไปว่า การทำงานร่วมกับ สปสช. จะเป็นโอกาสดีที่จะได้พาเพื่อนๆ ในเครือข่ายมาเรียนรู้กลไกการเข้าถึงสิทธิในระบบบัตรทอง ขณะเดียวกันก็จะได้สร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มข้ามเพศแก่คนที่ทำงานในระบบสุขภาพหรือแม้แต่ในองค์กร สปสช.เอง เช่น การเกิดมามีสภาพจิตใจไม่สอดคล้องกับร่างกายหรือสอดคล้องกับความคาดหวังทางสังคม ก่อให้เกิดความเครียด ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า หรือ เรื่องคำนำหน้าชื่อ เวลาเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลแล้วถูกเจ้าหน้าที่เรียกชื่อเป็นนายแต่แต่งตัวเป็นหญิง ทำให้รู้สึกถูกจับจ้อง จนรู้สึกไม่อยากไปรับบริการที่โรงพยาบาล เป็นต้น
“ที่สำคัญคือหลายคนอยากเปลี่ยนแปลงร่างกายให้สอดคล้องกับความรู้สึกทางจิตใจ แต่เรื่องนี้ถูกตีให้เป็นเรื่องของความสวยงามหมด ทั้งที่จริงๆแล้วมันเป็นความรู้สึกถึงตัวตนที่สามารถมีสภาพร่างกายที่ตรงกับจิตใจ แต่เนื่องจากสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพไม่คุ้มครองในส่วนนี้ ทำให้ต้องจ่ายเงินเองและค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทำให้หลายคนเลือกไปรับบริการจากหมอกระเป๋าที่มีราคาถูกกว่า ทำให้บางคนเกิดความเสียหายกับร่างกาย ผลกระทบต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ”สุมาลี กล่าว
สุมาลี กล่าวอีกว่า ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจหรืออาจต้องปรับในเชิงระบบ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับกลุ่มข้ามเพศเลย ดังนั้นจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้เพื่อให้มีบริการเกี่ยวกับกลุ่มข้ามเพศเป็นสิทธิประโยชน์ของ สปสช. ในอนาคต
ด้าน นายชัยยุทธ วัยเหนิดลื้อ จากเครือข่ายชาติพันธุ์กะเลิง จ.สกลนคร กล่าวว่า ปัญหาส่วนใหญ่ของกลุ่มชนเผ่าคือเรื่องสถานะทางทะเบียน ไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่รัฐจัดให้ รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับภาษาที่ไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ ก็ต้องอาศัยเครือข่ายที่เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ประสานงานให้
ขณะเดียวกัน ในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ยังมีช่องว่าง เช่น ยังเข้าไม่ถึงงบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ทำให้ต้องอาศัย อสม. หรือ รพ.สต. ช่วย ดังนั้นต้องมีกลุ่มองค์กรที่สามารถเข้าถึงงบ กปท. ได้ การเข้ามาร่วมงานกับ สปสช. จึงเป็นโอกาสที่จะได้ประสานงาน สร้างความเข้าใจ และนำองค์ความรู้กลับไปสื่อสารกับสมาชิกในกลุ่มชนเผ่าต่อไป
- 140 views