สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วม TCELS และภาคีเครือข่าย ถอดบทเรียนฝ่าวิกฤตสุขภาพยุคโควิด19 เพื่อจัดทำไกด์ไลน์พัฒนาระบบเฝ้าระวังและตอบสนองต่อสภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และภาคีเครือข่าย จัดเวทีสาธารณะ “ฝ่าวิกฤตสุขภาพจากปฏิบัติการระดับพื้นที่สู่นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดเป็น “คู่มือการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและตอบสนองต่อสภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขโดยชุมชนมีส่วนร่วม” หรือไกด์ไลน์ที่ชุมชนอื่นๆ จะสามารถนำบทเรียนไปขยายและต่อยอด
นพ. ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากรากฐานของระบบบัตรทอง ที่ช่วยดูแลประชาชนกว่า 47 ล้านคนไม่ให้ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และระบบของภาคประชาสังคมที่เติบโตขึ้นมาก ทำให้เมื่อประเทศไทยเจอกับวิกฤตใหญ่ครั้งถัดมาในปี 2563 นั่นคือการระบาดของโควิด-19 เราจึงฝ่าฟันและผ่านพ้นมาได้ด้วยรากฐานและพัฒนาการที่สำคัญเหล่านี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เรารู้จักกันดี อย่างสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ที่ขับเคลื่อนภายใต้การตัดสินใจทางการเมือง การสร้างความรู้ และการเคลื่อนไหวของสังคม รวมเข้าด้วยกัน
นพ.ประทีป ยังกล่าวอีกว่า หนึ่งในกลไกการสนับสนุนภาคประชาสังคม คือการสานพลังความร่วมมือจากฐานรากในการพัฒนานโยบายสาธารณะ หรือเครื่องมือสร้างสุขภาวะของ สช. ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) และยังไม่นับรวมถึงต้นทุนในชุมชนของหน่วยงานภาคีต่างๆ ทั้งวิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ทั้งหมดถูกบูรณาการเข้ามารับมือกับการระบาดในครั้งนี้
ถอดบทเรียนชุมชนป้องกันควบคุมโรคระบาด โควิด19
นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้าทีมวิชาการในโครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านสาธารณสุขรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน กล่าวว่า แม้ขณะนี้วิกฤตโควิด-19 อาจยังไม่หมดไป แต่อย่างน้อยเราจะมาร่วมกันสรุปบทเรียนที่เป็นรูปธรรม เพราะแนวคิดสำคัญที่จะยุติการระบาด อาจไม่ได้แปลว่าการทำให้โรคหายไป แต่เราจะยุติความตื่นกลัว ความสูญเสียโดยที่ไม่จำเป็น หรือความขัดแย้งต่างๆ มาทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบ โดยถอดบทเรียนจากนวัตกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้น อันจะนำไปสู่การออกแบบนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหานั้น
ทั้งนี้ จากการถอดบทเรียนการทำงานในชุมชน ยกตัวอย่าง ชุมชนคลองเตย ซึ่งมี 43 ชุมชน ประชากร 1.2 แสนคน สิ่งที่ดำเนินการในชุมชน มีทั้งการจัดระบบประสานงาน ระบบข้อมูล และระดมทรัพยากร และมีการเปิดศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ หรือ Community Waiting Area CWA) เพื่อแยกผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกคนออกจากชุมชน ตอนนั้นจัดตั้งขึ้น เพื่อรอส่งตัวไปยัง รพ. แต่กลับเกิดวิกฤตไม่สามารถส่งต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน โดยได้พัฒนานวัตกรรมระบบข้อมูลที่เรียกว่า Thai Care เพื่อให้ชุมชนปฏิบัติการร่วมกับภาครัฐได้ เป็นการเริ่มต้นตั้งแต่จุดนั้น อย่างไรก็ตาม แนวคิดสำคัญต้องยุติการระบาด ไม่ได้หมายถึงโควิดหายไป แต่ยุติการตื่นกลัว ยุติความขัดแย้ง เพื่อให้เกิดการพัมนาอย่างเป็นระบบขึ้น
“วันหนึ่งโควิด-19 จะค่อยๆ คลี่คลายไป แต่มันก็จะมีวิกฤตใหม่เข้ามา เช่น ฝุ่นควัน มลพิษ หรืออื่นๆ ที่จะตามมาอีกอย่างแน่นอน ฉะนั้นถ้าเราเรียนรู้จากโควิดและถอดบทเรียนเพื่อทบทวน จึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เห็นว่าตอนนั้นเราเผชิญกับอะไร ทำอะไร เปลี่ยนความเศร้าจากการสูญเสีย ความรู้สึกผิด มาเป็นพลังในการพัฒนา ทบทวนเพื่อค้นหาว่าเราจะต่อยอดสิ่งต่างๆ อย่างไร สู่นโยบายสาธารณะที่จะช่วยให้เรารับมือกับวิกฤตลักษณะนี้ได้ดียิ่งขึ้น” นพ.วิรุฬ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้ออกแนวทางขึ้นมาอย่างหนึ่งเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ว่า เราจะต้องมีหลักการ 3 ประการ คือ เป็นธรรม ไม่ทอดทิ้งกัน ไม่แตกแยกแตกต่าง โดยการปกป้องชุมชน เป็นส่วนหนึ่งสำคัญ โดยต้องร่วมสร้างกับชุมชน ดังนั้น สิ่งที่เราทำอยู่ จึงเป็นแนวทางสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวในระดับโลก
ชุมชนเข้มแข็งรับมือวิกฤตสุขภาพ
ขณะที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการบริหารคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษ “ชุมชนเข้มแข็งกับการรับมือวิกฤตสุขภาพ” ตอนหนึ่งว่า ปัจจัยความสำเร็จของการควบคุมการระบาดโควิด-19 ในไทย ส่วนหนึ่งมีที่มาจากการพัฒนาระบบงานระบาดวิทยา ที่มีมานับตั้งแต่ปี 2504 มาสู่การบัญญัติเป็นสิทธิไว้ในรัฐธรรมนูญ เรื่อยมาถึงนโยบายการสร้างโรงพยาบาลทุกอำเภอ สถานีอนามัยทุกตำบล การพัฒนาระบบอาสาสมัครตามแนวทางสาธารณสุขมูลฐาน ไปจนถึงการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็งมากขึ้น และการพัฒนาระบบบัตรทองที่มีเรื่อยมา เป็นต้น
นพ.วิชัย ระบุว่า ความเข้มแข็งของชุมชนสาธารณสุขจึงทำให้ไทยเป็น “ม้าตีนต้น” ที่ควบคุมการระบาดในระลอกแรกได้อย่างประสบผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ในการระบาดระลอก 2 ที่ จ.สมุทรสาคร และระลอก 3 ที่ตามมาจากสถานบันเทิงและบ่อน จนกลายเป็นการระบาดใหญ่ทั่วประเทศนั้น มีที่มาจากความความอ่อนแอของระบบการเมืองการปกครอง โดยกลไกหลักของรัฐไม่สามารถควบคุมโรคเอาไว้ได้ แต่ขณะเดียวกันชุมชนก็ได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการบรรเทาปัญหาไปได้มาก
นพ.วิชัย ยังสรุปด้วยว่า สิ่งที่ต้องรักษาเอาไว้หลังจากนี้ คือความเข้มแข็งของ “ชุมชนสาธารณสุข” และสิ่งที่ต้องพัฒนาเพิ่มคือ “ชุมชนภาคประชาชน” ให้พัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบในทุกระดับ ทั้งตัวบุคคล องค์กร เครือข่าย และระบบนิเวศ อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะต้องพัฒนาเป็นอย่างมาก นั่นคือกลไกการเมืองการปกครองของไทยที่ต้องทำให้เข้มแข็งมากขึ้น ด้วยกลไกของ “หีบบัตรเลือกตั้ง” และ “ศาลที่ยุติธรรม”
คู่มือพัฒนาระบบเฝ้าระวังตอบสนองภาวะฉุกเฉิน
ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ผลลัพธ์จากการถอดบทเรียนเหล่านี้จะกลายเป็น “คู่มือการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและตอบสนองต่อสภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขโดยชุมชนมีส่วนร่วม” หรือไกด์ไลน์ที่ชุมชนอื่นๆ จะสามารถนำบทเรียนเรียนไปขยายและต่อยอด เป็นรูปแบบ วิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อรับมือภาวะฉุกเฉินไม่ว่าจะเป็นในด้านสุขภาพ ภัยพิบัติ หรือด้านอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
“อีกส่วนที่เรายังจะพัฒนาต่อ คือคู่มือหรือแนวปฏิบัติของท้องถิ่นในการสนับสนุนชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง บนเป้าหมายปลายทางคือการเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะฉุกเฉินในอนาคต แม้วันนี้จะยังไม่เกิดก็ไม่เป็นไร แต่เพื่อจะให้มั่นใจได้ว่าต่อไปเมื่อเกิดเหตุแล้ว เราจะไปได้เร็วกว่าเดิม มั่นคงกว่าเดิม เสียหายน้อยกว่าเดิม” นพ.ปรีดา กล่าว
สามารถติดตามคลิปเต็มได้ในเฟซบุ๊กของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
- 261 views