ยาความดัน กินตอนเช้าเสี่ยงไหม
ข้อมูลในสังคมออนไลน์ระบุตอนหนึ่งว่า "การกิน ยาความดัน ในช่วงเช้านั้น เสี่ยงเกิด Stroke ได้ง่าย อีกทั้งยังควบคุมความดันโลหิตได้ไม่ดี หากเทียบกับการกิน ยาความดัน ในช่วงเวลาอื่นของวัน การกิน ยาความดัน ตอนเช้ากว่าที่ยาจะออกฤทธิ์ใช้เวลา 60-90 นาที ในช่วงใกล้ตื่นนอนหรือตื่นนอนมีความดันสูง ทำให้เพิ่มความเสี่ยง Stroke ไปด้วย ยาจะคุมความดันสูงในตอนเช้าไม่ทัน ควรกินก่อนนอนหรือหลังอาหารเย็น เมื่อความดันดีขึ้นในช่วงนอนหลับทำให้หลับสนิทมากขึ้น" กรณีนี้ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง ข้อดีของการรับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงในตอนเช้านั้น จะช่วยควบคุมความดันโลหิตระหว่างช่วงกลางวัน โดย ยาความดัน ที่รับประทานตอนเย็นหรือก่อนนอน ก็อาจช่วยควบคุมความดันโลหิตในช่วงเช้าได้ เพราะ ยาความดัน บางชนิดไม่ได้ออกฤทธิ์ 24 ชม. แพทย์อาจให้ ยาความดัน มาให้รับประทานทั้งเช้าและเย็น ซึ่งจะช่วยควบคุมความดันโลหิตกลับมาใกล้เคียงปกติได้ดีกว่า
โรคความดันโลหิตสูง คืออะไร
สำหรับ ยาความดัน ถูกใช้เพื่อบรรเทา โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) ซึ่งจะตรวจจากการวัดความดันโลหิต หากพบว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงกว่าปกติเรื้อรัง เป็นเวลานาน จะเสี่ยงต่อโรคร้าย ได้แก่
- โรคอัมพาตจากหลอดเลือดในสมองตีบ
- โรคหลอดเลือดในสมองแตก
- โรคหัวใจขาดเลือด
- โรคหัวใจวาย
- โรคไตวาย
- หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความดันโลหิต ทำให้เสี่ยง โรคความดันโลหิตสูง ประกอบด้วย อายุที่เพิ่มมากขึ้น ความเครียด อารมณ์และจิตใจ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมก็มีผลเช่นกัน หากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็จะมีแนวโน้มเป็นได้มากกว่า
อาการแบบไหนเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก เปิดเผยว่า โรคความดันโลหิตสูง มักตรวจพบตอนเกิดภาวะแทรกซ้อน และมีอาการเหล่านี้
- อาการปวดบริเวณท้ายทอย
- มึนงง วิงเวียนศีรษะ
- แน่นหน้าอก
- คลื่นไส้ อาเจียน
หากไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ หรือไม่เคยเข้ารับการตรวจรักษา ไม่กิน ยาความดัน เพื่อควบคุม อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะสำคัญ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว หลอดเลือดแดงแข็ง จอประสาทตาเสื่อม ไตเสื่อม ส่งผลให้เกิดโรคร้ายดังที่กล่าวไปแล้ว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น กล้ามเนื้อของหัวใจหนาขึ้น หัวใจจะโตขึ้น ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดห้องบนเต้นพริ้ว (Atrial Fibrillation) หรือเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
ควบคุม ความดันโลหิต ก่อนต้องกิน ยาความดัน
การควบคุม ความดันโลหิต ต้องไม่ให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ คือ มีค่าความดันตัวบน ไม่ให้สูงกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท ส่วนความดันตัวล่าง ไม่ควรสูงกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงจะพบได้ว่า ไขมันในเลือดสูงหรือระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีโรคอ้วน พบภาวะเครียดเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูงอาจมีสาเหตุมาจากภาวะไตวาย เนื้องอกของต่อมหมวกไต โรคของต่อมไทรอยด์หรือต่อมพาราไทรอยด์ โรคทางเดินหายใจถูกอุดกลั้นขณะนอนหลับหรือการใช้ฮอร์โมนบางชนิด
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันกลับมาดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำได้ดังนี้
- ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- งดสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็ม ลดการบริโภคอาหารที่มีเกลือโซเดียม ไขมันอิ่มตัว ไขมันรวมและคอเรสเตอรอลลง
- ลดการกินเนื้อแดง
- ไม่ดื่มน้ำหวานหรือน้ำอัดลมบ่อย ๆ
- กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ DASH Diet (Dietary Approaches to Stop Hypertension Diet) เลือกอาหารที่มีใยอาหาร โปรตีน แคลเซียม แร่ธาตุทั้งโปแตสเซียมและแมกนีเซียม ได้แก่ ผัก ถั่ว ผลไม้ ธัญพืชที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสี (Whole Grains) ปลา ไขมันไม่อิ่มตัว
- ลดเวลานั่ง เพิ่มเวลายืน ยืดเวลาเดิน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ให้หัวใจ ปอด ระบบหมุนเวียนโลหิตแข็งแรง
- ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนเกินไป
หมั่นควบคุมความดันโลหิตให้ปกติอยู่เสมอ ลด ละ เลิก พฤติกรรมไม่ดีต่อร่างกาย จะช่วยลดความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ไม่ต้องกิน ยาความดัน ได้ แต่หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ยาความดันโลหิตสูง
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 20165 views